เที่ยวบางกอกน้อย (ฉบับไปเองก็ได้)ไหว้พระ ชมจิตรกรรมฝาผนัง เที่ยวบ้านบุ
ชวนเที่ยวย่าน"บางกอกน้อย "ฝั่งธนบุรี จะเลือกไปวัด ชมจิตรกรรมฝาผนัง ไหว้พระ เดินตรอกซอกซอย เที่ยวชุมชนบ้านบุ แวะดื่มกาแฟ ยังมีย่านเก่าๆ ให้เดินเล่นอีกเยอะ
กลิ่นอายเรื่องราวในอดีต ความงามของวัดวาอาราม ไร่สวนเทือกนา ย่านเก่าเฉกเช่น บางกอกน้อย ยังมีเสน่ห์ชวนเดินเล่น
ยังจำบรรยากาศท่องเที่ยวล่องเรือใน คลองบางกอกน้อย เพื่อชมวัดวาอาราม แวะชุมชนบ้านบุ ในช่วงหลายปีได้ดี ตอนนั้นได้แวะวัดสุวรรณารามวรวิหาร และวัดระฆังโฆสิตารมวรมหาวิหาร ฯลฯ ชมวิถีชีวิตชาวบางกอกน้อย
ครั้งนั้นไปกับผู้ที่สามารถอธิบายเรื่องราวประวัติศาสตร์โยงใยกับวิถีชีวิตได้แตกฉาน วิทยากรโดยอาจารย์จุลภัสสร พนมวัน ให้ความรู้ความเข้าใจเต็มที่
เรื่องเล่าขานวัดสุวรรณารามฯ บางกอกน้อย
แม้การท่องเที่ยวบางกอกน้อยจะถูกเล่าขานมาหลายครั้งหลายคราว ไม่ว่าจะเรื่องวัดสุวรรณารามราชวรวิหาร หรือวัดทอง ที่เราต่างรู้แง่มุมประวัติศาสตร์กันพอสมควร ขอทบทวนความรู้ระดับมัธยมอีกครั้ง
วัดนี้สร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการสถาปนาพระอารามใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 1 พระราชทานชื่อว่า วัดสุวรรณาราม และสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงปฏิสังขารวัดสุวรรณารามเพิ่มเติม
แต่เดิมมีเมรุหลวงสำหรับใช้พระราชทานเพลิงศพเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ และใช้มาเนิ่นนานจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5
วัดสุวรรณาราม บางกอกน้อย (จากhttp://www.dhammathai.org/)
ส่วนคลองบางกอกน้อย มีความเป็นมาเช่นไร คงไม่ต้องทบทวนให้มากความ บรรยากาศแบบสวนๆยังมีกลิ่นอายให้สัมผัสอยู่บ้าง
มาคราวนี้นอกจากเรื่องราวประวัติศาสตร์การสร้างวัดสมัยนั้นสมัยนี้ ชมจิตรกรรมฝาผนัง ไม่ว่าวัดไหนก็ต้องมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องทศชาติของพระพุทธเจ้าในภพชาติต่างๆ
พระอุโบสถวัดสุวรรณาราม ฐานมีรูปทรงแอ่นโค้งหย่อนท้องช้าง ดูงดงามแปลกตา สถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 1 สร้างตามแบบศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย คล้ายๆ โบสถ์ทรุด สร้างขึ้นจากความเชื่อตามพุทธศาสนา เหมือนการได้นั่งเรือข้ามการเวียนว่ายตายเกิด เพื่อไปสู่นิพพาน
ว่ากันว่าในอดีตไม่นิยมเผาศพในพระนคร (กรุงรัตนโกสินทร์) จะเผาศพกันสดๆ แบบเชิงตะกอนโดยเอาไม้ทับมัดตาสัง จนกระทั่งมีการสร้างเมรุปูนในวัดสุวรรณารามครั้งแรก เพื่อใช้พระราชทานเพลิงศพเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยเมรุ เพราะได้ผุพังไปตามกาลเวลา และเป็นที่ตั้งของสำนักงานเขตบางกอกน้อย
ยลโฉมจิตรกรรมฝาผนัง
จิตรกรรมฝาผนัง ส่วนใหญ่สื่อเรื่องราวคำสอนพุทธศาสนา และสะท้อนวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทยแต่ละยุคสมัย
ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ภาพจิตรกรรมในยุคแรกๆ จะมีแค่ 2 มิติ ไม่มีมิติความลึกเหมือนภาพวาดในปัจจุบัน คือมีขนาดใหญ่กว่าระดับสายตา จนกระทั่งรับอารยธรรมตะวันตกเข้ามาเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบภาพวาดมีมิติความลึก และความเป็นธรรมชาติมากขึ้น
หากไม่ใช่ผู้สนใจเรื่องราวจิตรกรรม คงไม่ค่อยมีใครเพ่งพินิจและอยากรู้ว่า ทำไมศิลปินในยุคสมัยนั้นวาดภาพลักษณะนี้ เพื่ออะไร แต่ถ้าเข้าใจวิธีการชมจิตรกรรมฝาผนังอยู่บ้าง ก็จะซาบซึ้งกับงานศิลปะมากขึ้น
ออกจากวัดวาอาราม อาจไปเดินเที่ยวในชุมชนบางกอกน้อย หลายคนคงได้ยินเรื่องราวชุมชนบ้านบุ ที่นั่นยังมีการทำขันลงหินแบบโบราณ เหลืออยู่แห่งเดียวที่ ขันลงหินบ้านบุ เจียมแสงสัจจา
ถ้ามีโอกาสข้ามฟากไปวัดสุวรรณาราม อาจแวะวัดศรีสุดารามวรวิหาร ริมคลองบางกอกน้อย ไหว้พระพุทธรูปหล่อสมเด็จพระพุฒจารย์โต ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้าน
จากนั้นอาจนั่งเรือมาด้านวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร แวะนมัสการพระปรางค์ ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 แบบฉบับของพระปรางค์ที่สร้างในยุคต่อมา
ส่วนจิตรกรรมฝาผนังวัดระฆัง งานชุมนุมฝีมือช่างชั้นครูสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แม้เนื้อหาเรื่องราวของพุทธประวัติจะไม่ต่างจากวัดย่านบางกอกน้อย สีภาพเขียนลายเส้นจืดจาง จนแทบจะไม่เห็นลวดลาย แต่ก็ถือว่าเป็นงานจิตรกรรมฝาผนังที่น่าชม
ถ้าจะดูรูปแบบจิตรกรรมฝาผนังที่เปลี่ยนไปในเรื่องการใช้สี ต้องเข้าไปชมที่หอไตร เนื่องจากในสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มมีการใช้รูปแบบการวาดรูปแบบตะวันตก
เที่ยวบางกอกน้อย
- ชวนแวะวัดเก่าสุวรรณาราม ราชวรวิหาร
- ลัดเลาะไปไหว้รูปพระพุทธรูปหล่อขนาดใหญ่สมเด็จพระพุฒจารย์โต วัดศรีสุดารามวรวิหาร
- เข้าซอยมาขันลงหินบ้านบุ เจียมแสงสัจจา (ใกล้สำนักงานเขตบางกอกน้อย) 02 -4241689
- แวะวังหลัง แถวศิริราช ไปเที่ยววัดระฆัง
- ทริปท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม อีกทางเลือกดูได้ที่เพจนัท จุลภัสสร พนมวัน
.....................
เขียนโดย เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ