โค้งสุดท้ายสายบุญ “ขึ้นเขาคิชฌกูฏ” สู่ดินแดนแห่งศรัทธาก่อนปิดปลายมีนานี้
22 มีนาคมนี้ "เขาคิชฌกูฏ" จะปิดแล้ว สายบุญคนไหนยังไม่ได้ไป ต้องห้ามพลาด รีบเคลียร์คิวให้ว่าง แล้วเดินทางสู่ดินแดนแห่งศรัทธาที่ห่างจากกรุงเทพแค่ไม่กี่ชั่วโมง
เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายแล้วสำหรับการเปิด เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี ให้นักแสวงบุญและนักท่องเที่ยวได้ขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาทและสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขาคิชฌกูฏ ประจำปี 2566 ซึ่งปีนี้เป็นอีกปีที่หลังจากเปิดให้ทุกคนได้ขึ้นเมื่อ 22 มกราคม 2566 ก็มีสาธุชนแห่แหนมากันอย่างล้นหลาม ทั้งด้วยเทรนด์การมูเตลู การบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ และการที่ผู้คนอัดอั้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้เขาคิชฌกูฏต้องปิดไม่ได้เปิดให้คนขึ้นไปในช่วงนั้น จึงเป็นสาเหตุให้วันนี้ เขาคิชฌกูฏกำลังเป็นอันดับต้นๆ ของสถานที่แสวงบุญอันศักดิ์สิทธิ์ที่ใครต่อใครก็อยากขึ้นไปให้ได้ก่อนปิด
และปีนี้ น่าจะเป็นโอกาสดีมากที่สุดครั้งหนึ่งสำหรับใครที่อาจจะยังไม่เคยไปเพราะเคยได้ยินกิตติศัพท์ของความยากลำบากของเส้นทางที่จะขึ้นไปแสวงบุญ เพราะล่าสุด เส้นทาง ขึ้นเขาคิชฌกูฏ ได้รับการปรับปรุงให้ดีกว่าสมัยก่อนมากๆ เรียกได้ว่าถ้าใครเคยมาแล้วรู้สึกว่าลำบาก มาคราวนี้ถือว่าสบายๆ เลยทีเดียว
ก่อนจะขึ้น "เขาคิชฌกูฏ" เช็ควันกันสักนิด เพราะปีนี้การขึ้นเขาคิชฌกูฏจะสิ้นสุดลงในวันที่ 22 มีนาคม 2566 หรืออีกไม่กี่วันนับจากนี้ หากใครติดธุระปะปังอะไรก็รีบเคลียร์คิว ส่วนใครยังตัดสินใจไม่ได้ สิ่งที่จะเล่าต่อจากนี้ น่าจะทำให้คุณแพ็คกระเป๋าแล้วเดินทางไปจันทบุรีเพื่อขึ้น "เขาคิชฌกูฏ" ได้ไม่ยาก
ประเพณีขึ้นเขาคิชฌกูฏ คือชื่อเรียกสั้นๆ ง่ายๆ ของ ประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี อันเป็นประเพณีศักดิ์สิทธิ์ที่มีมายาวนาน และสำคัญมากๆ สำหรับสาธุชนคนไทย รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านที่มีจำนวนไม่น้อยเดินทางมาเพื่อร่วมประเพณีนี้
อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ถึงแม้ที่นี่จะอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองมากนัก แต่ยังมีสภาพผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก มีลักษณะเป็นป่าดิบชื้น ป่าดิบเขา และป่าไม้ผลัดใบ ในผืนป่าแห่งนี้มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก และที่นี่เองคือแหล่งรวมพืชพรรณและสัตว์ป่าหายาก อาทิ ไม้กฤษณา กล้วยไม้ป่านานาพันธุ์ เสือ กระทิง หมี เก้ง กวาง เลียงผา นกนานาชนิด เป็นต้น
สำหรับการเดินทางก็ค่อนข้างสะดวกสบาย ไม่ว่าจะด้วยรถส่วนตัวหรือรถโดยสารสาธารณะ เพียงแค่ตั้งต้นจากสี่แยกเขาไร่ยา ซึ่งเป็นสี่แยกบนถนนสุขุมวิท ที่แยกเข้าตัวเมืองจันทบุรี และแยกไปจังหวัดตราด ส่วนอีกแยกหากมาจากกรุงเทพมหานครให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 24 กิโลเมตร ก็จะถึง "อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ"
จุดที่จะ "ขึ้นเขาคิชฌกูฏ" ได้มีอยู่สองจุด คือ วัดพลวงและวัดกะทิง ถ้าจากวัดกะทิงแนะนำให้ใช้รถสองแถวที่มีให้บริการขึ้นเขา เพราะจากวัดกะทิงมีระยะห่างจากตีนเขาพอสมควร แต่ถ้าจากวัดพลวงจะนั่งรถสองแถวหรือเดินเท้าก็ได้ ถ้าเดินเท้าขึ้นไปจนถึงรอยพระพุทธบาทจะใช้เวลาราว 3-6 ชั่วโมง ซึ่งวิธีนี้นิยมในกลุ่มผู้แสวงบุญสายแข็งที่มีทั้งแรงกายและแรงศรัทธา
ค่าโดยสารรถสองแถวตั้งแต่จุดขึ้นรถที่บริเวณวัดไปจนถึงทางขึ้นยอดพระพุทธบาทต้องนั่งรถสองช่วง ช่วงละ 50 บาทต่อคน หมายความว่าไป-กลับ ตกคนละ 200 บาท
นอกจากนี้ยังมีค่าบริการสำหรับบุคคลเข้าไปในอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ อีกด้วย คือ คนไทย ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท ส่วนชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาท
การขึ้น "เขาคิชฌกูฏ" ทำได้ตลอดเวลา บางคนนิยมมาตั้งแต่เช้ามืดแล้วเริ่มเดินขึ้นตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างเพื่อขึ้นไปให้ถึงรอยพระพุทธบาทก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แล้วชมวิวอันงดงามเมื่อแสงแรกของวันสาดส่องมา บางคนเลือกที่จะขึ้นไปสักการะตอนกลางคืน ทั้งแดดไม่ร้อน และเป็นช่วงเวลาค่อนข้างเงียบสงบกว่าเวลาอื่นด้วย
เราเคยขึ้นไปทั้งเช้ามืดและครั้งนี้ไปช่วงบ่าย ในทีแรกคาดการณ์กันว่าน่าจะต้องร้อนระอุด้วยแสงแดด แต่พอพ้นช่วงที่นั่งรถสองแถวจากวัด ร่มไม้ที่ยังปกคลุมอยู่ตลอดทางกลับทำให้ไม่รู้สึกร้อนแต่อย่างใด รวมถึงเส้นทางเดินที่ยิ่งเดินขึ้นไปก็ยิ่งรู้สึกเย็นทั้งจากอุณหภูมิบนเขาเย็นกว่าข้างล่างอย่างเห็นได้ชัด และร่มไม้ที่ถึงแม้เส้นทางเดินจะปรับปรุงให้สะดวกสบายมากขึ้นแล้ว แต่ยังมีต้นไม้อยู่ตลอดแนว
ระหว่างทางมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์และพระพุทธรูปต่างๆ ให้ได้สักการะอยู่มากมาย นั่นทำให้ก่อนจะเดินขึ้นไปถึงด้านบน เหล่าสาธุชนก็จะได้ทำบุญกันอย่างอิ่มเอมใจโดยตลอด และจุดที่เป็นไฮไลท์ที่สุดของเขาคิชฌกูฏเมื่อทุกคนใช้พลังศรัทธาพาตัวเองขึ้นไปถึงด้านบนก็จะเจอกับ รอยพระพุทธบาทพลวง หรือ รอยพระบาทพลวง ที่มีตำนานว่าค้นพบเมื่อประมาณ พ.ศ.2397 และต่อมาในปี พ.ศ.2515 พระครูธรรมสรคุณ หรือหลวงพ่อเขียน เจ้าอาวาสวัดกะทิง เจ้าคณะอำเภอมะขาม ได้บุกเบิกทางขึ้น แล้วพัฒนาเป็นเส้นทางขึ้นยอดเขามาจนถึงปัจจุบันนี้
รอยพระพุทธบาทพลวง มีความกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร และด้วยความที่เขาคิชฌกูฏอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1,050 เมตร นี่จึงเป็นรอยพระพุทธบาทที่อยู่สูงสุดของประเทศไทย ที่ใกล้ๆ กันคือคือ หินลูกพระบาท หินก้อนกลมขนาดยักษ์ตั้งตระหง่านอยู่ริมหน้าผา เป็นอีกสิ่งมหัศจรรย์ที่พุทธศาสนิกชนเคารพศรัทธา
และถ้าหากใครยังมีแรงเหลือ อีกจุดที่เป็นไฮไลท์แต่หลายคนเดินไปไม่ถึง คือ จุดผูกผ้าแดงอธิษฐาน หรือ ลานผ้าแดง อยู่ห่างจากรอยพระพุทธบาทเพียง 500 เมตร ตรงนี้เป็นจุดที่ผู้คนจะมาเขียนคำอธิษฐาน ขอพรลงบนผ้าสีแดง แล้วผูกบูชาเอาไว้ เชื่อกันว่าจะได้สมหวังดังที่อธิษฐานไว้
อีกสิ่งเล็กๆ ที่น่ารักและอยากเอามาเล่า คือ เดี๋ยวนี้น้ำดื่มที่จำหน่ายบนเขาคิชฌกูฏมีวิวัฒนาการไปมาก คือ มีน้ำดื่มมิซึ x เขาคิชฌกูฏ เป็นน้ำดื่มบรรจุกระป๋องรีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ออกแบบลายพิเศษ Limited Edition ผ่านการเข้าพิธีเป็นสิริมงคลเรียบร้อย จะดื่มดับกระหายระหว่างทางก็ได้ หรือจะซื้อกลับเป็นของฝากก็ได้ ถือว่าเป็นความเก๋ไก๋ในความมูเลยทีเดียว
หนึ่งปีจะมีเพียงหนึ่งครั้ง ที่ยอดเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้จะเปิดให้ผู้มีจิตศรัทธาได้ขึ้นไปสักการะ เพราะฉะนั้นถ้ากายพร้อมใจพร้อมก็ไปเลย แต่ถ้าใครใจพร้อมแต่กายไม่ค่อยพร้อม ที่นี่นอกจากจะมีไม้เท้าให้เช่าเอาไว้ช่วยพยุงตัวเวลาเดินขึ้น ยังมีเสลี่ยงให้บริการสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่เดินขึ้นไม่ไหวแต่มีจิตศรัทธา ค่าบริการที่ 400 บาท
แต่อย่าลืมจองคิวขึ้นเขาคิชฌกูฏ ผ่านแอปพลิเคชัน KCKQue (พระบาทเขาหลวง) ก่อน เพราะปีนี้อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏได้มีการจัดระเบียบและเพื่อจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้ได้ประมาณไม่เกินรอบละ 6,000 คน แบ่งเป็นจองผ่านแอปพลิเคชัน 4,500 คน และจองหน้างาน 1,500 คน โดยหนึ่งวันมี 4 รอบ หมายความว่าจำกัดนักท่องเที่ยวที่ 24,000 คน ต่อวัน
(การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สนับสนุนการเดินทาง)