ปักหมุดงาน 'ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์' เที่ยววัด ไหว้พระ ยลวัง
ปักหมุด ! “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” เที่ยววัด ไหว้พระ ยลวัง 21 – 25 เมษายน 2566 รอบเกาะรัตนโกสินทร์ พร้อมชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน และงานจำหน่ายสินค้าทางวัฒนธรรมไทย 76 จังหวัด
วันนี้ (29 มี.ค.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 21 – 25 เมษายน 2566 รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งจากภาครัฐและเอกชนกว่า 30 หน่วยงาน ได้ร่วมกันจัดงาน “ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” ณ บริเวณรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
รวมถึงสมเด็จพระบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ และร่วมฉลองเนื่องในวาระครบรอบวันคล้ายวันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ 241 ปี พร้อมจัดกิจกรรมและจำหน่ายสินค้าวัฒนธรรมไทย 76 จังหวัด ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรม ทั้งนี้ มีรูปแบบงานและกิจกรรม 8 ส่วนหลัก ได้แก่
1. พิธีทางศาสนา
- วันที่ 20 เมษายน 2566 พิธีบวงสรวงเทพยดา ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงละครแห่งชาติ
- วันที่ 21 เมษายน 2566 พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช และพิธีตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 99 รูป ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ และพิธีบวงสรวงศาลหลักเมือง ณ ศาลหลักเมือง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
2. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และโรงละครแห่งชาติ
- พิธีเปิดงานอย่างยิ่งใหญ่ ประดิษฐานภาพพระบรมฉายาลักษณ์และเครื่องราชสักการะ 10 รัชกาล การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ชมพิพิธภัณฑ์ในยามค่ำคืน (Night Museum)
- การสาธิตอาหารไทยโบราณ ในรูปแบบตลาดย้อนยุค
- การจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม 76 จังหวัด ผลิตภัณฑ์ Cultural Product of Thailand (CPOT) ของดี 50 เขต กทม.
- จุดถ่ายภาพย้อนยุคบริการประชาชน
3. สวนสันติชัยปราการ
การแสดงมัลติมีเดีย "ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์" จัดแสดงอุโมงค์ไฟเรืองแสง ระหว่างวันที่ 21 เมษายน – 7 พฤษภาคม 2566 นิทรรศการสวนแสงจัดแสดงพระราชประวัติ 10 รัชกาล จัดฉายหนังกลางแปลง และการแสดงวงดุริยางค์จากเครือข่ายเยาวชนไทย
4. หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน
การประกวดภาพถ่ายกิจกรรมงาน "ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์" สาธิต และจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย และกิจกรรมชุมชนอาเซียนใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร
5. มิวเซียมสยาม
- การเสวนาทางวิชาการ และนิทรรศการ
- กิจกรรมที่สอดคล้องกับการจัดงานฯ
6. วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
งานวัดพัฒนาประชาคม ไหว้พระรับพร ย้อนวันวาน สารพันอาหาร ย่านกะดีจีน – คลองสาน
7. พิพิธบางลำพู
- ให้เข้าชมพิพิธบางลำพูโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
- จัดกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน (ไกด์เด็กบางลำพู) เช่น Workshop งานประดิษฐ์ การแสดงศิลปวัฒนธรรมเด็กและเยาวชน
8. พื้นที่จัดกิจกรรมอื่น ๆ อีก 20 แห่ง
โดยเปิดให้ประชาชนทำบุญไหว้พระ และเข้าชมแหล่งเรียนรู้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยจัดรถ ขสมก. และรถรางนำชม บริการรับ - ส่ง ตามจุดเยี่ยมชมต่าง ๆ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแหล่งท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรมของไทยได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยมีทิศทางการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากรายงานสถิติผู้เข้าใช้และเข้าชมแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มากกว่า 4 ล้านคน คิดเป็นผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 62.58
นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันให้พิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศมีรูปแบบที่เหมือนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ขยายการท่องเที่ยวทั่วประเทศมากขึ้น ซึ่งพิพิธภัณฑ์ในยามค่ำคืน (Night Museum) ในงาน "ใต้ร่มพระบารมี 241 ปี กรุงรัตนโกสินทร์" ถือเป็นอีกตัวอย่างกิจกรรมไฮไลท์ที่มีผลตอบรับที่ดีต่อเนื่อง
โดยในปีนี้จะจัดขึ้นตั้งแต่เวลา 16.00 - 20.00 น. เพื่อให้เข้าชมความงดงามของโบราณสถานภายในพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) และส่วนจัดแสดงนิทรรศการในพระที่นั่งต่างๆ พร้อมบริการอาหารค่ำ ชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่สวยงามของกรมศิลปากร พร้อมการประดับไฟตกแต่งอย่างสวยงาม
“รัฐบาลเชื่อมั่นว่า การท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรมจะเป็นอีกแนวทางสำคัญในการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ผ่านการเผยแพร่ประสบการณ์ สัมผัสและเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่นจากสถานที่จริง รวมทั้งยังสามารถต่อยอดทางการตลาดเพื่อส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนและส่งผลดีต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอีกด้วย” นายอนุชาฯ กล่าว