เปิด 5 สาเหตุทำตั๋วเครื่องบินแพง ตรวจสอบอัตราค่าโดยสารล่าสุดรวม 13 เส้นทาง
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เปิด 5 สาเหตุ ปัจจัยทำตั๋วเครื่องบินแพง โดยทาง CAAT ได้สรุปการวิเคราะห์สาเหตุและปัจจัยต่างๆ และแนวทางการแก้ไขรวม 5 ข้อ
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เปิด 5 สาเหตุ ปัจจัยทำตั๋วเครื่องบินแพง โดยทาง CAAT ได้สรุปการวิเคราะห์สาเหตุและปัจจัยต่างๆที่ส่งผลต่อขีดความสามารถในการรองรับจนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตั๋วโดยสารเครื่องบินมีราคาสูงในปัจจุบัน ประกอบด้วยปัจจัยหลักต่างๆพร้อมทั้งได้เสนอแนวทางการแก้ไขรวม 5 ข้อ ดังนี้
1.บริการภาคพื้น (Ground Handling) ที่สนามบินสุวรรณภูมิไม่เพียงพอ (มีเพียง 50%) ส่งผลให้สายการบินไม่สามารถเข้ามาทำการบินได้ ทำให้จำนวนเที่ยวบินมีไม่พอกับความต้องการ ที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
แนวทางแก้ไข เพิ่มผู้ให้บริการภาคพื้น (Ground Handling) ให้เพียงพอ โดยการพิจารณาเสนอให้ยกเลิกมติ ค.ร.ม.ที่กำหนดให้มีผู้ประกอบการเพียง 2 ราย หรือการแก้ไขมติฯ ให้สามารถเพิ่มผู้ประกอบการให้มีมากกว่า 2 รายได้ โดยให้ ทอท. อนุญาตให้สายการบินที่มีศักยภาพ (มีเที่ยวบินจำนวนมากพอ) รับผิดชอบการบริการภาคพื้นด้วยตนเอง (Self Handling) ได้ในช่วงที่ยังมีผู้ให้บริการไม่เพียงพอและเร่งจัดหาผู้ประกอบการมาดำเนินการชั่วคราวอย่างเร่งด่วน
2. การบริหารจัดการตารางเวลาการบิน (Slot Allocation) ซึ่งแม้จะเป็นไปตามกติกาสากล แต่การที่สายการบินที่ได้รับการจัดสรรตารางเวลาการบินทำการยกเลิกเที่ยวบินบางส่วนภายในเวลาที่กำหนดซึ่งสายการบินมีสิทธิกระทำได้ แต่ส่งผลทำให้ไม่มีเที่ยวบินรองรับเพียงพอตารางเวลาที่ถูกจัดสรรไว้แล้ว ทำให้สายการบินอื่นไม่สามารถจองเข้ามาทำการบินได้ในเวลานั้น ๆ เมื่อยกเลิกจึงเหลือเที่ยวบินน้อย
แนวทางแก้ไข ควรเพิ่มมาตรการเพื่อสร้างแรงจูงใจเชิงบวก (Positive Incentive Measure) ให้กับสายการบินที่คืนตารางเวลาทันทีที่ทราบว่าจะไม่ปฏิบัติการบินตามที่ได้รับการจัดสรร โดยไม่ต้องรอแจ้งในวันสุดท้าย ที่กำหนดไว้ในกติกาหรือกระชั้นเกินไปเพื่อให้เพิ่มเที่ยวบินเข้ามาแทนที่ได้ทัน เนื่องจากสายการบินที่จะเข้ามาทำการบินในช่วงเวลาที่ว่างนั้นจะต้องใช้เวลาในการเตรียมความพร้อมเช่นกัน
3.สายการบินมีอากาศยานไม่เพียงพอสำหรับการเพิ่มเที่ยวบินให้เพียงพอกับความต้องการ
แนวทางแก้ไข เร่งกระบวนการอนุมัติ/อนุญาตให้สายการบินสามารถจัดหาอากาศยานเพิ่มเติมให้รวดเร็วขึ้น และผ่อนปรนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สายการบินจัดหาอากาศยานมาใช้เพิ่มเติมได้อย่างรวดเร็ว
4. ความคล่องตัวในการซ่อมบำรุงอากาศยาน การต้องนำอากาศยานไปซ่อมต่างประเทศ ทำให้อากาศยานหายไปจากระบบ ไม่เพียงพอสำหรับการใช้งาน
แนวทางแก้ไข ระยะยาว ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการลงทุนจัดตั้งศูนย์ซ่อมที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ ส่วนระยะสั้น พิจารณาให้สายการบินของไทยสามารถใช้ศูนย์ซ่อมของการบินไทยซึ่งมีศักยภาพสูงได้ โดยการผ่อนปรนเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
5.ความต้องการเดินทางในเส้นทางบินที่มีสายการบินน้อยรายหรือรายเดียวทำการบิน เนื่องจากตลาดของสนามบินบางแห่งยังไม่เป็นที่นิยม มีความต้องการเดินทางต่ำ ทำให้สายการบินที่ทำการบินต้องกำหนดอัตราตั๋วโดยสารไว้แพงเพื่อให้คุ้มค่าต้นทุน ยิ่งตั๋วแพงจำนวนผู้โดยสารก็ยิ่งน้อยลงไปตามกลไกตลาด
แนวทางแก้ไข ศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ที่ไทยจะใช้นโยบายอุดหนุน (Subsidy Policy) สำหรับสายการบินที่ปฏิบัติการบินไปยังสนามบินที่ไม่ใช่ตลาดหลัก เช่น สนามบินในแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง สนามบินที่ยังไม่เป็นที่นิยม ฯลฯ ซึ่งเป็นนโยบายที่มีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลกและประสบความสำเร็จ โดยการเปิดประมูลให้สายการบินเข้าแข่งขัน เพื่อกำหนดราคาตั๋วโดยสารที่ต่ำหรือจูงใจให้ผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมาก
โดยรัฐจ่ายเงินอุดหนุนส่วนต่างให้กับสายการบิน แม้รัฐจะมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่จะช่วยให้นโยบายส่งเสริมเมืองรองได้ผล เช่นเดียวกับอินเดียและหลาย ๆ ประเทศที่ได้ดำเนินการและประสบความสำเร็จมาแล้วเป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังช่วยให้มีการใช้สนามบินคุ้มค่าขึ้นอีกด้วย
เมื่อวานนี้ (5 เมษายน 2566) นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้รายงานสรุปกรณีราคาตั๋วโดยสารเครื่องบินปรับตัวสูงขึ้น พร้อมทั้งแนวทางในการแก้ไขต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และได้รับบัญชาให้เร่งดำเนินการทั้งในส่วนที่กระทรวงคมนาคมได้เริ่มดำเนินการไปแล้วและแผนดำเนินการต่างๆตามที่เสนอ เพื่อลดปัญหาจากช่องว่างระหว่างปริมาณความต้องการเดินทางกับความสามารถในการรองรับของระบบการบินที่แตกต่างกันอย่างมากในปัจจุบันจนเป็นสาเหตุของราคาตั๋วโดยสารที่เพิ่มสูงขึ้น เกิดผลกระทบกับประชาชนและการท่องเที่ยวของประเทศ
จากรายงานสถานการณ์ค่าโดยสารเส้นทางภายในประเทศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ประจำเดือนมีนาคม 2566 ระบุว่าอัตราค่าโดยสาร (ต่อเที่ยว) ในเส้นทางบินกรุงเทพฯ - ภูเก็ต ซึ่งเป็นเส้นทางที่ได้รับการร้องเรียนว่าค่าโดยสารราคาแพงมากที่สุด พบว่าอัตราค่าโดยสารเฉลี่ยซึ่งต่ำกว่าราคา 2,500 บาท คิดเป็น 82.5% ของตั๋วโดยสารทั้งหมด
ในขณะที่ราคาสูงกว่า 2,500 บาท คิดเป็น 17.5% โดยราคาบัตรโดยสารจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเทศกาล ผู้โดยสารจะได้ราคาต่ำที่สุดเมื่อจองตั๋วล่วงหน้านาน ๆ และจะค่อย ๆ แพงขึ้นจนถึงราคาสูงสุดไม่เกินเพดานที่กำหนดเมื่อซื้อตั๋วกระชั้นชิดกับวันที่ต้องการเดินทาง
ราคาค่าโดยสารเครื่องบินในช่วงเทศกาลซึ่งปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในกรณีที่จองหรือซื้อตั๋วในระยะเวลากระชั้นชิดแสดงให้เห็นถึงลักษณะตลาดที่เป็นของผู้ขาย เป็นผลจากการที่ปริมาณความต้องการเดินทางภายในประเทศปัจจุบันมีสูงขึ้นมาก เนื่องจากภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงและรัฐบาลประสบความสำเร็จจากนโยบายการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าออกประเทศไทยมากกว่า 140,000 คนต่อวันและเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศ
รวมกับการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนไทยเอง ในขณะที่ความสามารถของระบบการบินซึ่งเพิ่งฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ ทำให้ไม่สามารถเพิ่มเที่ยวบินเพื่อรองรับปริมาณความต้องการได้เพียงพอ ทำให้ตั๋วโดยสารในบางช่วงเวลาเป็นที่ต้องการมากแม้จะมีราคาสูงมากก็ตาม
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดดำเนินการเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการทำให้ราคาตั๋วโดยสารเครื่องบินปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมมากขึ้น
ทั้งในส่วนที่ได้ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการเช่น การทยอยอนุญาตให้สายการบินนำเข้าอากาศยานเพิ่มเติม การเร่งแก้ปัญหาการบริการภาคพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งให้เร่งดำเนินการในแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆตามที่เสนอ
นอกจากนั้น ยังให้ CAAT ติดตามตรวจสอบราคาค่าโดยสารภายในประเทศอย่างสม่ำเสมอ ขอความร่วมมือจากสายการบินให้จัดจำหน่ายบัตรโดยสารในราคาที่เหมาะสม ตลอดจนการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชน ถึงวิธีการกำหนดราคาของสายการบินซึ่งเป็นหลักการทั่วไป
หากหลีกเลี่ยงการซื้อตั๋วโดยสารในระยะเวลากระชั้นชิดได้ก็จะทำให้สามารถซื้อตั๋วได้ในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป
ตรวจสอบอัตราค่าโดยสารเครื่องบินล่าสุด