ปรุงย่านของดี ขึ้นเวทีซอฟต์พาวเวอร์ | วิทยา ด่านธำรงกูล
เมื่อเมืองเปิดหลังโควิดซา ทัพนักท่องเที่ยวจึงหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก แม้ว่าอากาศจะร้อนอย่างสาหัส เห็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหนุ่มสาวประเทศใกล้เคียงแต่งชุดไทย เดินว่อนย่านท่ามหาราช พระบรมมหาราชวังไปยันวัดอรุณ ให้นึกเอ็นดูและภูมิใจที่ซอฟต์พาวเวอร์ไทยกำลังทำงาน
ที่จริง “ย่าน” หรือจะเรียกว่าชุมชนทั้งหลายในเมืองไทยนั้นมีของดีให้อวดมากมาย และสามารถพัฒนาเป็นแม่เหล็กที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม หากมีการ “ปรุง” และประชาสัมพันธ์ที่ดี จะทำให้สามารถใช้ย่านเหล่านี้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่สร้างชื่อเสียงขจรขจายได้อย่างไม่ยากเย็น
เหมือนอย่างคนไทยไปนิวยอร์กก็ต้องไปเหยียบไทม์สแควร์ ไปโตเกียวก็ต้องไปฮาราจูกุ ไปโซลต้องไปอิแทวอน จะทำอย่างไรให้กรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่นๆ มี “ย่าน” ที่นักท่องเที่ยวต้องไปดู ไปมีประสบการณ์ เพื่อกระจายจุดดึงดูดและความเจริญออกไปทั่วๆ
ความสำเร็จของการพัฒนา “ย่าน” แต่ละย่านต้องใช้ผู้คนในย่านนั้นเป็นตัวจักรสำคัญ และต้องพยายามรักษารากเหง้าของแต่ละย่านไว้ให้แข็งแรงไม่ใช่การปรุงแต่งจนเกินงาม หรือสร้างของใหม่ทับลงไปจนกลายเป็นความแปลกแยก
เหมือนการไปเยือนย่านชุมชนโบราณในญี่ปุ่นที่ยังเห็นผู้คนประกอบอาชีพอยู่ในบ้านหรือร้านรวง ที่มีสถาปัตยกรรมย้อนไปนับร้อยปี ได้กินอาหารจากสูตรที่ตกทอดมาแต่โบราณ ทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจ อย่างเมืองโออุจิ-จูคุ ในจังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่น
นักท่องเที่ยวดั้นด้นไปนอกจากไปดูหมู่บ้านโบราณ ยังเพื่อจะได้ลิ้มลองโซบะต้นหอม ที่ใช้ต้นหอมท่อนโตๆ คืบเส้นแทนตะเกียบ แค่นี้ก็เป็นจุดขายเรียกคนได้มากมาย
การพัฒนาย่าน จึงต้องเริ่มจากการเรียนรู้ความเป็นมาและพัฒนาการของย่านเหล่านั้น แล้วตีโจทย์ให้แตกว่าจะนำเสนออะไร ซึ่งต้องการผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง ที่จะรวบรวมและตกผลึกเสน่ห์ของชุมชนออกมาให้ได้
เขียนถึงเมืองข้างต้นของญี่ปุ่นแล้วทำให้นึกถึงเมืองเพชรบุรี ที่เป็นตำนานแห่งขนมหวานว่า น่าจะมีย่านที่เห็นความครบเครื่องตั้งแต่ต้นตาล มาเป็นน้ำตาล และอาหารคาวหวานตำรับเมืองเพชรที่คนมาเยือนต้องกิน เพื่อตอกย้ำความอุดมสมบูรณ์และเป็นเพชรของจังหวัดนี้จริงๆ นอกเหนือจากชายหาดและวัดวังโบราณแล้ว จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจและสร้างเงินทองให้เมืองเพชรได้อีกมาก
แต่อย่าไปคิดสร้างตลาดน้ำหรือเมืองจำลองที่จับเอาแม่ค้ามาขายของรวมกัน หรือพายเรือหลอกๆ ให้นักท่องเที่ยวดูเลย เพราะเป็นของปลอม และล้มเหลวกันมาหลายรายแล้ว
เสน่ห์ของ “ย่าน” ควรจะเป็นการค่อยๆ พัฒนาอย่างเป็นธรรมชาติ ให้คนในชุมชนได้คิดกันเองว่าจะสร้างสรรค์อย่างไร อย่าไปฝืนวิถีชุมชนหรือเอาเรื่องทุนนิยมไปเป็นตัวตั้ง เพราะจะไม่ยั่งยืน
อีกอย่างการพัฒนาย่านควรเป็นกระบวนการเรียนรู้ของชุมชน เรียนรู้ที่จะหวงแหนสมบัติและเอกลักษณ์ของชุมชน รวมทั้งเรียนรู้จากความต้องการของผู้มาเยือนที่จะค่อยๆ ผลักดันให้ย่านหรือชุมชนนั้นมีการปรับตัวอย่างช้าๆ
เช่น จะต้องเพิ่มห้องน้ำที่สะอาด มีที่จอดรถที่สะดวก พ่อค้าแม่ค้าต้องมีเรื่องเล่า บริการดี และไม่โขกราคานักท่องเที่ยว เป็นต้น หากให้อุปทานเป็นตัวนำก็จะเหมือนการสร้างตลาดชุมชนใหญ่โตที่เน้นแต่จะขายของ แต่ไม่มีเสน่ห์ สุดท้ายก็ล้มหายตายจากไป
ฝรั่งและอีกหลายๆ ชาติชอบไปเดินย่านเยาวราชเพราะเป็นย่านที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ ทั้งการกิน การอยู่อาศัย การค้า ศาสนา ความเชื่อ หลืบเล็กซอกน้อยเต็มไปด้วยสิ่งที่คาดไม่ถึง จึงเป็นประสบการณ์ที่ยากจะอธิบาย ทั้งแอดเวนเจอร์และกลิ่นอายวัฒนธรรมที่พันพัวกันแบบมีเหตุผลบ้าง ไม่มีบ้าง แต่รวมๆ แล้วคือดี เพราะเป็นเยาวราชแบบธรรมชาติที่ไม่ต้องปรุงแต่งจนเกินงาม
แน่นอนว่าการพัฒนาย่านนั้นต้องอาศัยความเข้มแข็งของคนในชุมชน มีผู้นำที่ดีอย่างที่ว่า หน่วยงานรัฐอาจจะยื่นมือเข้าไปช่วยด้วยการให้ความรู้และตัวอย่าง ไม่ใช่การชี้นำและสั่งการ เพราะคนรู้ดีที่สุดคือเจ้าของย่านนั้นๆ
เขียนบทความนี้แล้ว เลยขอถือโอกาสเชิญชวนท่านที่สนใจอยากร่วมขบวนไปกับการท่องเที่ยว “ย่าน” ที่น่าสนใจ โดยนักวิจัยของสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะจัดเดินเที่ยวแบบ “วันเดย์ทริป” โดยเลือกเอา “ย่านตลาดพลู” เขตธนบุรีเป็นตัวอย่าง เพราะเป็นอีกย่านหนึ่งที่ร่ำรวยไปด้วยวัฒนธรรม ศาสนา ความเป็นอยู่ ศิลปะ ประวัติศาสตร์ และอาหารการกิน
ท่านที่สนใจจะร่วมทริปค้นหาย่านตลาดพลูในมุมที่ไม่เคยเห็น นำโดยมัคคุเทศก์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจะจัดในวันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม 2566 ติดต่อได้ที่หมายเลข 094 5155384 รับผู้ร่วมคณะเพียง 15 คนเท่านั้น
คิดแล้วพรรคการเมืองทั้งหลายน่าจะมีนโยบายช่วยปรุงย่านต่างๆ ทั่วประเทศ ให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ขายได้ ทำเงินได้จริงและยั่งยืน แทนที่จะคิดแต่แจกเงินกันเลอะเทอะอย่างที่ปาวๆ กันอยู่ เห็นแล้วบอกได้คำเดียว... เอียน