พลังศรัทธามหาชนล้นหลาม! ประเพณี บวงสรวงองค์พญาศรีสัตตนาคราช วันที่ 7 เดือน 7
เปิดอย่างยิ่งใหญ่ประเพณี บวงสรวงองค์พญาศรีสัตตนาคราช วันที่ 7 เดือน 7 พลังศรัทธามหาชนและนักท่องเที่ยวนับหมื่น แห่เที่ยวแลนด์มาร์คริมแม่น้ำโขง จังหวัดนครพนม ชม ชิม ชอป ครบรสเสน่ห์อีสาน
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงาน “บวงสรวงองค์พญาศรีสัตตนาคราช” โดยมี นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นางกรรญา ศูนย์คำ วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชน ประชาชน และนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เข้าร่วม ณ บริเวณแลนด์มาร์ค พญาศรีสัตตนาคราช ริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
โดยกิจกรรม ประกอบด้วยพิธีการแสดง ชุด นาฏลีลาบูชาสัตตนาคราช จากวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ การรำบูชาพญาศรีสัตตนาคราช โดยคณะนางรำจากอำเภอท่าอุเทนและอำเภอบ้านแพง เหล่ากาชาดจังหวัด แม่บ้านมหาดไทย หัวหน้าส่วนราชการ ชุมชนบ้านใต้ มูลนิธิศรีโคตรบูร และคณะนางรำจากจังหวัดภาคอีสาน 11 จังหวัด การแสดง โขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน พรมพงศ์วงศ์อสุรา และการแสดงบินโดรนแปลอักษร จำนวน 500 ลำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทั้งนี้ งานบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช ประจำปี 2566 เป็น 1 ใน 16 เทศกาลประเพณีที่กระทรวงวัฒนธรรมประกาศยกระดับสู่ระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยสำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดนครพนมบูรณาการความร่วมมือกับจังหวัดนครพนมจัดขึ้น โดยเป็นการขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ ด้วยวัฒนธรรมรวมทั้งผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดี ให้แก่ประเทศตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะอุตสาหกรรม วัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F งานเทศกาลประเพณี (Festival) กระตุ้นการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดนครพนมและประเทศด้วยมรดกทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า มุ่งพัฒนาจังหวัดนครพนม ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และให้เป็นเมืองน่าอยู่ประตูเศรษฐกิจสู่อาเซียนและจีนตอนใต้-ตะวันออก นำจุดเด่นของประเพณีและวัฒนธรรม ตลอดจนความเชื่อ ความศรัทธา มาดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดนครพนมมากขึ้น ซึ่งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งการก่อสร้างประติมากรรมพญานาค องค์พญาศรีสัตตนาคราช ให้เป็นแลนด์มาร์คของจังหวัดนครพนม
โดยอาศัยตำนาน และความเชื่อ มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตลอดแนวริมฝั่งแม่น้ำโขงให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ออกกำลังกาย ซึ่งชาวจังหวัดนครพนมและนักท่องเที่ยว จะเห็นและสัมผัสได้ว่าอากาศและทิวทัศน์ริมฝั่งโขงบริเวณจังหวัดนครพนม ดีที่สุด และสวยงามที่สุด งานบวงสรวงองค์พญาศรีสัตตนาคราช ถือเป็นงานที่มีความสำคัญยิ่งอีกงานหนึ่งของชาวจังหวัดนครพนม ซึ่งการจัดงานดังกล่าวเริ่มตั้งแต่ปี 2559 เป็นเวลา 7 ปีและปีนี้เป็นการจัดงานปีที่ 8
สำหรับการจัดงานในปีนี้ จัดขึ้นโดยจังหวัดนครพนม มูลนิธิพญาศรีสัตตนาคราช ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) นครพนม และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จัดงาน “บวงสรวง พญาศรีสัตตนาคราช ประจำปี 2566” ในวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี ตลอดระยะเวลา 7 วัน 7 คืน โดยในปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2566 ณ บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
- กิจกรรมประกอบด้วย
พิธีบวงสรวงและรำบูชาพญาศรีสัตตนาคราช ตลอดระยะเวลา 7 วัน จาก 12 อำเภอ นางรำสวมใส่ชุดพื้นเมืองตามอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ ได้แก่ ชาติพันธุ์ไทอีสาน ไทญ้อ ไทแสก ไทข่า ไทกะเลิง ไทโส้ ผู้ไท ไทกวน ไทตาด ชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม และชาวไทยเชื้อสายจีน การแสดงโขน เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน พรหมพงศ์วงศ์อสุรา โดยวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ณ บริเวณถนนนิตโย และการเสวนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับ “นาค” เอกลักษณ์ประจำชาติไทย ณ ตลาดคนเมืองไทนคร บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช
รวมทั้งนิทรรศการ เรื่อง “นาค” เอกลักษณ์ประจำชาติไทย ประเภทสัตว์ในตำนาน กิจกรรมประกวดภาพถ่าย “นาคในคติศาสนาและวิถีชีวิต” โดยกรมการศาสนา และกิจกรรมประกวดภาพถ่าย “ประเพณี 12 เดือน ร้อยมุมมองวิถีไทย” โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
นอกจากนั้น ยังมีการจัดมหกรรมผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม และผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยที่เกี่ยวเนื่องกับพญานาค ภายใต้ชื่อ “ตลาดคนเมืองไทนคร” ณ บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช และหน้าวัดมหาธาตุ มีการออกร้านสาธิต จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม CPOT CCPOT ผลิตภัณฑ์ชุมชนและผลิตภัณฑ์ ร่วมสมัย ที่เกี่ยวเนื่องกับนาค ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้ ของที่ระลึก และอาหาร เป็นต้น จากชุมชน 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ จังหวัดนครพนม รวมทั้งจังหวัดแถบลุ่มน้ำโขงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ สกลนคร อุบลราชธานี อุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย มุกดาหาร และยโสธร