เซจง (Sejong) 1 : เมืองหลวงบริหารแห่งใหม่ พาชม 'หอจดหมายเหตุประธานาธิบดี'
รู้จัก เซจง (Sejong) เมืองหลวงบริหารแห่งใหม่ของเกาหลีใต้ย้ายจากโซล ชมที่นี่แห่งแรกแห่งเดียวของเกาหลีใต้ 'หอจดหมายเหตุประธานาธิบดี' รวมเอกสารประวัติศาสตร์กว่าจะเป็นเกาหลีใต้ จำลองห้องภายใน 'ทำเนียบสีน้ำเงิน' ให้สัมผัสใกล้ชิด ของขวัญทางการทูตล้ำความหมาย
เกาหลีใต้ ยังมีการผจญภัยฉากใหม่ๆ สำหรับนักท่องเที่ยวและนักเดินทางที่อยากเห็น อยากค้นหา และอยากสัมผัสมากกว่าเมืองหลวงอย่าง ‘กรุงโซล’ เคยมอบให้
คุณเคยเดินทางไปยัง 4 เมืองนี้หรือยัง Sejong (เซจง), Chungnam (ชุงนัม), Daejeon (แดจอน) และ Chungbuk (ชุงบุก) 4 เมืองนี้ในเกาหลีใต้ต่างก็มีเสน่ห์ของแหล่งท่องเที่ยวที่น่าประทับใจและตื่นเต้นต่างกันไป
เริ่มกันที่เมือง เซจง (Sejong)
ย่านเศรษฐกิจนครเซจง (Sejong)
เซจง (Sejong)
ใครเป็นแฟนซีรีส์อิงประวัติศาสตร์เกาหลีคงคุ้นชื่อ เซจง เนื่องจากเป็นพระนามกษัตริย์แห่งราชวงศ์โชซอนของเกาหลี ปรากฏในซีรีส์เรื่อง Tree with Deep Roots หรือในชื่อไทย ‘จอมกษัตริย์ตำนานอักษร’ โดยมี ซง จุง-กิ รับบทเป็นกษัตริย์เซจง
เมือง ‘เซจง’ ได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่กษัตริย์เซจงมหาราช กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์โชซอน พระองค์ทรงเป็นผู้ประดิษฐ์ Hangul หรืออักษรเกาหลี มีอนุสาวรีย์ของกษัตริย์เซจงประดิษฐานอยู่ในกรุงโซล
เมืองเซจงอยู่ห่างจากกรุงโซลลงมาทางใต้ประมาณ 121 กิโลเมตร ใช้เวลาขับรถราว 1 ชั่วโมง 25 นาที
งานศิลปะสร้างความสุนทรีย์ ต้นไม้เพิ่มความเป็นธรรมชาติ กระจายทั่วย่านเศรษฐกิจเซจง
เมืองปกครองตนเองพิเศษเซจง
เซจง เป็นเมืองใหม่ ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ.2550 ในฐานะเมืองหลวงบริหารแห่งใหม่ของเกาหลีใต้ โดยใช้พื้นที่จากหลายส่วนของจังหวัดชุงชองใต้ (South Chungcheong) และบางส่วนของจังหวัดชุงชองเหนือ (North Chungcheong) เพื่อลดความแออัดใน ‘กรุงโซล’ เมืองหลวงปัจจุบัน และเพื่อส่งเสริมการลงทุนในภาคกลางของประเทศ
ด้วยความเป็นที่ตั้งของกระทรวงและหน่วยงานราชการ ทำให้เมืองใหม่เซจงเต็มไปด้วยภาพของอาคารทรงสี่เหลี่ยม ที่อยู่อาศัยที่กลายเป็นหมู่ตึกสูงกระจายตัวอยู่ทั่วไปเป็นวงกว้าง
แต่เนื่องจากได้รับการวางผังเมืองอย่างดี ทำให้เมืองใหม่เซจงแม้มีความเป็นเมือง แต่ในเรื่องของธรรมชาติก็ได้รับการคำนึงถึงและให้ความสำคัญอย่างมาก โดยรัฐบาลกำหนดให้มีการขุดทะเลสาบเทียมที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี มีพื้นที่ใหญ่กว่าสนามฟุตบอล 62 เท่า เปิดเป็นสวนสาธารณะ
อาคารดีไซน์ทันสมัยในย่านเศรษฐกิจเมืองเซจง มีให้ถ่ายรูปมากมาย
เส้นทางจักรยาน ทางเดินเท้า เส้นทางเดินรถยนต์ แยกกันอย่างชัดเจน
ระหว่างหมู่ตึกสูงในเมือง ออกแบบให้มีพื้นที่สีเขียวกระจายตัวเป็นช่วงๆ ให้คนเมืองได้ใช้ประโยชน์พักผ่อนหย่อนใจ มีการปลูกต้นไม้บังส่วนล่างของผนังอาคารคอนกรีตและปลูกไว้ตามข้างทางเดินเท้า ดูร่มรื่น สบายตา มีทางจักรยานเป็นสัดส่วน หนทางสะอาดสะอ้าน
รัฐบาลเกาหลีใต้ย้ายกระทรวงและหน่วยงานราชการจำนวนมากมาอยู่ที่เซจงตั้งแต่ปีพ.ศ.2555 เซจงจึงมีฐานะเป็นเมืองศูนย์กลางราชการ และมีชื่อเป็นทางการว่า ‘เมืองปกครองตนเองพิเศษเซจง’
แต่ก็ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่กระจายอยู่ในเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะกรุงโซลยังคงเป็นที่ตั้งของรัฐสภาและหน่วยงานรัฐบาลสำคัญหลายแห่ง
สถาปัตยกรรมทรงลูกบาศก์ของอาคาร ‘หอจดหมายเหตุประธานาธิบดี’
หอจดหมายเหตุประธานาธิบดี
สถานที่ที่มีเพียงหนึ่งเดียวในเกาหลีใต้และตั้งอยู่ที่นครเซจง คือ Presidential Archives (Presidential Archives of Sejong) หรือ หอจดหมายเหตุประธานาธิบดี โดดเด่นสวยงามตั้งแต่รูปลักษณ์อาคารภายนอกที่ได้รับการออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งอยู่ริมทะเลสาบเซจง
วัตถุประสงค์ของ หอจดหมายเหตุประธานาธิบดี คือการรวบรวมบันทึกของประธานาธิบดีที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งสามารถแสดงให้เห็นถึง 'เมื่อวาน วันนี้ และอนาคตของชาติ' และเพื่อเปิดมุมมองใหม่ของการวิจัยนโยบายและประวัติศาสตร์ของเกาหลี
อาคารภายนอกออกแบบให้ดูเหมือนเป็นกล่องโปร่งใสภายในกล่องโปร่งใสอีกชั้น เมื่อมองจากระยะไกลตัวอาคารจึงดูเหมือนลูกบาศก์โปร่งใสขนาดมหึมา
กล่องโปร่งใสแบบนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ ‘พลังงาน’ โดยชั้นภายนอกที่โปร่งใสของลูกบาศก์ทำงานเป็นระบบท่อเย็นแนวตั้ง ทำให้อาคารเย็นลงในช่วงฤดูร้อน ในขณะเดียวกันก็ช่วยระบายอากาศตามธรรมชาติในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง
รูปลักษณ์อาคารที่ดูเหมือนกล่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก กล่องเก็บตราประทับแห่งชาติ ซึ่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ใช้ลงนามในเอกสารการบริหารและการทูตอย่างเป็นทางการ
วัสดุหลักของ ‘กล่องเก็บตราประทับแห่งชาติ’ ทำด้วย ทองเหลือง และ ไม้ ได้รับการตีความใหม่เป็น หิน และ กระจก (ตามลำดับ) หมายถึง ประวัติศาสตร์และปัจจุบัน
รูปทรงลูกบาศก์ยังมีความหมายถึง พื้นดิน บูรณภาพ ความสำเร็จ และเป็นการแสดงออกถึงความสำคัญและความคงทนของบันทึกของประธานาธิบดี
ภายใน ‘หอจดหมายเหตุของประธานาธิบดี’ ประกอบด้วยส่วนจัดแสดงวัตถุ-เอกสาร ห้องเสมือนจริง พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรม ห้องนิทรรศการพิเศษ และร้านกาแฟ
โถงต้อนรับนักท่องเที่ยวภายใน 'หอจดหมายเหตุประธานาธิบดี'
รถยนต์พิธีทางการ – ใบหน้าจากตัวอักษร
หอจดหมายเหตุประธานาธิบดี (Presidential Archives of Sejong) มีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 ประกอบด้วยชั้นเหนือพื้นดิน 4 ชั้น และชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ก่อนเข้าไปในอาคาร เราต้องวางกระเป๋าที่นำติดตัวไปผ่านเครื่องเอ็กซ์เรย์
Presidential Archives of Sejong (หอจดหมายเหตุประธานาธิบดี) ต้อนรับผู้มาเยือนด้วยด้วยโถงขนาดใหญ่ เพดานสูงราวเข้ามาในมหาวิหาร
การฉาย mapping ภายในโถงต้อนรับหอจดหมายเหตุฯ
จาก Mappingโมเสกอักษรภาษาเกาหลีกลายเป็นภาพใบหน้าประธานาธิบดี
ผนังอาคารราบเรียบเหนือเคาน์เตอร์อินฟอร์เมชั่นดึงดูดสายตาทันทีจากการใช้ประโยชน์เป็นจอภาพ mapping มีลูกเล่นให้ติดตามตรงการฉายภาพโมเสกตัวอักษรเกาหลีเล็กๆ ขึ้นไปบนผนัง แล้วโมเสกนั้นค่อยๆ รวมตัวกันเป็นภาพใบหน้าประธานาธิบดีแห่งเกาหลีใต้ตามวาระที่ผ่านมา
รถประจำตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้
ด้านในสุดของห้องโถงนี้ จัดแสดง ยานพาหนะใช้งานในพิธีทางการ เช่นการทูตและพิธีทางการโดยประธานาธิบดีหรือบุคคลระดับสูงที่เป็นตัวแทนของประเทศ
บนพื้นห้องมีเครื่องหมายให้ยืนถ่ายรูป แล้วจะได้รูปคู่รถยนต์คันนี้ในมุมที่เห็นตัวรถและป้ายทะเบียนตรานกฟินิกซ์ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นรถประธานาธิบดีเกาหลีใต้
ห้อง The Presidential Emblem
รู้จักอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้
ภาพใบหน้าที่เกิดจากศิลปะการซ้อนทับตัวอักษร
ด้านซ้ายมือของพื้นที่จัดแสดงรถยนต์ในงานพิธีการ เป็นประตูทางเข้าสู่ ห้อง The Presidential Emblem มองไกลๆ ก็คือภาพใบหน้าของอดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ แต่หากเดินเข้าไปใกล้หรือมองจากด้านข้างจะพบว่าแท้จริงแล้ว ภาพใบหน้านี้เกิดจากการนำตัวอักษรภาษาเกาหลีมาเรียงซ้อนกัน และตัวอักษรเกาหลีเหล่านี้ก็คือชื่อโครงการต่างๆ หรือผลงานของประธานาธิบดีแต่ละท่าน
เมื่อเดินชมชั้น 1 (ground floor) เสร็จแล้ว มัคคุเทศก์แนะนำให้กดลิฟต์ขึ้นไปชมชั้น 4 แล้วค่อยๆ เดินลงมาชมแต่ละชั้น
ชั้น 4 : นิทรรศการประวัติการปกครองและการเมืองเกาหลีใต้
ระบบประธานาธิบดีเกาหลีไต้
ชั้น 4 จัดแสดงเนื้อหาที่ขึ้นป้ายไว้ว่า The Role of the President (บทบาทของประธานาธิบดี) ประกอบด้วยภาพถ่ายในอดีต เอกสารลายมือ วัตถุโบราณตั้งแต่ยุคเกาหลีถูกรุกรานยึดครอง การเรียกร้องอิสรภาพ
รวมทั้งประวัติโดยละเอียดของการเลือกตั้งระบบประธานาธิบดีเกาหลีได้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2491 จากระบบการเลือกตั้งทางอ้อม สู่ระบบการเลือกตั้งโดยตรงต่อหน้ารัฐบาลรัฐสภา และในที่สุดก็กลับไปสู่ระบบการเลือกตั้งโดยตรงซึ่งดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน
เอกสารหลักฐานประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองเกาหลีใต้
วัตถุจัดแสดงที่ห้องนิทรรศการ ชั้น 4
มัคคุเทศก์กล่าวว่า บอร์ดนิทรรศการพูดถึงความรับผิดชอบและหน้าที่ต่างๆ ของประธานาธิบดีเกาหลี เช่น
- ประธานาธิบดีมีสิทธิและความรับผิดชอบในการสร้างองค์กรของรัฐ
- ประธานาธิบดีเป็นตัวแทนของรัฐที่ติดต่อกับรัฐต่างประเทศ มีความรับผิดชอบและหน้าที่ในการปกป้องเอกราช บูรณภาพแห่งดินแดน ความต่อเนื่องของรัฐและรัฐธรรมนูญ
น่าเสียดายที่บอร์ดส่วนใหญ่เป็นภาษาเกาหลี เราไม่สามารถทำความเข้าใจได้ด้วยตนเอง
การจำลอง ‘ห้องรับรอง’ ภายใน BLue House หรือ 'ทำเนียบสีน้ำเงิน'
สัมผัสชีวิตประจำวันประธานาธิบดีเกาหลีใน Blue House
เมื่อก่อน ชอง วา แด (Cheong Wa Dae) หรือ ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ในกรุงโซลซึ่งมีหลังคาสีน้ำเงินจึงเรียกกันอีกชื่อว่า Blue House นักท่องเที่ยวยืนดูได้จากนอกรั้วไกลๆ
แต่ห้องนิทรรศการบนชั้น 3 ของ ‘หอจดหมายเหตุประธานาธิบดี’ ที่มีชื่อว่า The President’s Space (พื้นที่ของประธานาธิบดี) ทำให้เรามีโอกาสเหมือนเข้าไปเดินอยู่ใน Blue House หรือ ‘ทำเนียบสีน้ำเงิน’
ห้องทำงานประธานาธิบดีในทำเนียบสีน้ำเงิน
ห้องถ่ายทอดการแถลงข่าวภายในทำเนียบสีน้ำเงิน
นิทรรศการชั้นนี้จัดแสดงการจำลองห้องต่างๆ ตามแบบใน ‘ทำเนียบสีน้ำเงิน’ ทั้งดีไซน์และเฟอร์นิเจอร์ อาทิ ห้องทำงานประธานาธิบดี (The President’s Private Office) ห้องรับรองแขกระดับรัฐพิธีและรัฐต่อรัฐ (Reception Room)
ไม่เว้นแม้แต่ ห้อง Chunchugwan (ชุนซุกวาน) ห้องที่เป็นศูนย์ข่าวและใช้บันทึกเทปถ่ายทอดการปราศรัยของประธานาธิบดีในทำเนียบสีน้ำเงิน ก็จำลองมาให้ผู้เข้าชมได้ลองไปยืนเข้ากล้องในตำแหน่งที่ประธานาธิบดีทำหน้าที่
แบบจำลองการบริหารจัดการแหล่งน้ำ โครงการพระราชดำริในรัชกาลที่ 9 ของประเทศไทย ได้รับการจัดแสดงไว้ในห้อง Presidential Gifts
ของขวัญล้ำค่า
เมื่อเดินลงมาถึงชั้น 2 จะพบกับพื้นที่ Presidential Gifts เราจะได้ชมการจัดแสดงของขวัญล้ำค่าจากราชวงศ์ ผู้นำประเทศและบุคคลผู้มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศของเกาหลีใต้ ได้รับการรวบรวมเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ที่นี่
ของขวัญจาก บารัก โอบามา มอบให้ อี มย็อง-บัก ในโอกาสเยือนทำเนียบขาว สหรัฐอเมริกา ค.ศ.2009
ของขวัญจัดแสดงภายในห้อง Presidential Gifts
ของขวัญจัดแสดงภายในห้อง Presidential Gifts
ของขวัญแต่ละชิ้นมีความงดงาม สะท้อนความสัมพันธ์ ความเชื่อ งานฝีมือ ศิลปวัฒนธรรมของแต่ละชนชาติที่ต่างก็มีเอกลักษณ์เรื่องราวแตกต่างกันไป
อาทิ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องกระเบื้อง เรือใบจำลอง ตุ๊กตา แจกัน หนังสือ และเครื่องประดับ ทุกชิ้นเขียนข้อความกำกับเป็นภาษาเกาหลี
เดินเข้ามาในพื้นที่นี้เหมือนเดินอยู่ในพิพิธภัณฑ์ระดับนานาชาติ เต็มไปด้วยของล้ำค่าทั้งความหมายและงานฝีมือเชิงช่าง
ทางเข้าห้องนิทรรศการพิเศษ Return of The Korean Provisional Government
ห้องนิทรรศการพิเศษ
เมื่อเดินกลับลงมาถึงชั้น 1 ด้านขวามือของรถยนต์ประธานาธิบดีมีทางเชื่อมไปยังอีกอาคาร เป็น ห้องนิทรรศการพิเศษชุด Return of The Korean Provisional Government (การกลับมาของรัฐบาลเฉพาะกาลของเกาหลี)
นิทรรศการพูดถึงหลังจากขบวนการเรียกร้องเอกราช 3-1 ในปี พ.ศ.2462 (ค.ศ.1919) ซึ่งมีชาวเกาหลีมากกว่าสองล้านคนเข้าร่วม จึงมีการก่อตั้ง ‘รัฐบาลเฉพาะกาลของเกาหลี’ ขึ้นในเซี่ยงไฮ้
เป็นการก่อตั้งโดยชาวเกาหลีผู้มีจิตวิญญาณแห่งอิสรภาพ ซึ่งลี้ภัยสงครามไปอยู่ที่เมืองจีนในเวลานั้น อุทิศตนในการจัดตั้งรัฐบาลระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตยที่มีพื้นฐานอยู่บนรัฐธรรมนูญและนำประเทศกลับคืนมาด้วยความพยายามทางการทูตและการทหารต่างๆ
ผู้ร่วมเจรจาสันติภาพเพื่อคาบสมุทรเกาหลี
นิทรรศการพิเศษชุด Return of The Korean Provisional Government
เมื่อญี่ปุ่นยอมจำนน ‘รัฐบาลเฉพาะกาลของเกาหลี’จึงเดินทางกลับประเทศ แม้ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐบาลอย่างเป็นทางการและเป็นสมาชิกของมหาอำนาจพันธมิตรเนื่องจากข้อจำกัดระหว่างประเทศ แต่ชาวเกาหลีต่างยินดีต่อการที่รัฐบาลเฉพาะกาลเกาหลีกลับมายังเกาหลี
โดย มร.อี ซึง-มัน (Rhee Seung-man) ได้รับคะแนนเสียงให้เป็นประธานาธิบดีคนแรกแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ.2491 จนถึงเมษายน พ.ศ. 2503 ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีความตึงเครียดของสงครามเย็นในคาบสมุทรเกาหลี
รายละเอียดปลีกย่อยขั้นตอนการเรียกร้องอิสรภาพเข้มข้นอย่างไรกว่าจะเป็นเกาหลีใต้ปัจจุบัน นักเดินทางและผู้สนใจสามารถชมได้ในนิทรรศการชุดนี้
ภายในสนามบินนานาชาติชองจู
วิธีเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเซจง (Sejong)
เซจงอยู่ห่างจากเมือง ชองจู (Cheongju) ซึ่งเป็นที่ตั้งของ สนามบินนานาชาติชองจู (Cheongju International Airport) ใช้เวลาขับรถประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
ข้อมูลเดือนสิงหาคม 2566 สายการบิน t’way (ทีเวย์) เปิดเที่ยวบินตรงจากท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองไปยังสนามบินนานาชาติชองจู ด้วยเครื่อง Boeing 737-800 วันละ 1 เที่ยวบิน ออกเดินทางเวลา 00.05 น. ใช้เวลาบิน 5 ชั่วโมง 40 นาที
สายการบิน t’way ก่อนนำเครื่องลงยังสนามบินนานาชาติชองจูยามเช้า
บรรยากาศภายในสนามบินนานาชาติชองจู
นมกล้วยยอดฮิต มีจำหน่ายที่ร้านเบเกอรี่ภายในสนามบินนานาชาติชองจู
ถังขยะดีไซน์เป็นทรงกระเป๋าเดินทางภายในสนามบินนานาชาติชองจู