‘โรงเรียนนักเดินป่า’ เพื่อคนรัก ‘ป่า’ อย่างยั่งยืน
เรื่องราวของคนที่ร่วมก่อร่างสร้าง ‘โรงเรียนนักเดินป่า’ จะมาบอกเล่าความเป็นมา และเชิญชวนให้ผู้รักการเดินป่า ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
การท่องเที่ยวเข้าป่าไปกางเต็นท์นอนสัมผัสธรรมชาติ ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ความรู้เรื่องการดูแลรักษาป่าและธรรมชาติกลับน้อยลง หรือไม่มีใครพูดถึง โรงเรียนนักเดินป่า จึงได้เกิดขึ้น
ธำรงรัตน์ ธนภัคพลชัย หรือ ใหญ่ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น หนึ่งในบุคคลที่ขับเคลื่อนในเรื่องการสร้าง โรงเรียนนักเดินป่า ได้มาพูดคยในงาน Trek Talks ตอน Trailhead Symposium เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2567 ให้ฟังว่า
"ผมเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำพอง วันนี้ขอเป็นคนตัวเล็กคนหนึ่งที่จะมาพูดเรื่อง การเดินป่า ด้วยมุมมองความรู้สึกของคนหนึ่งที่รักธรรมชาติ
โรงเรียนนักเดินป่า มีขึ้นเพื่อส่งต่อวัฒนธรรมที่ดี เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่รักธรรมชาติ ผมเป็นคนจังหวัดน่าน ตั้งใจเรียนป่าไม้เพื่อกลับไปพัฒนาบ้านเกิด
Cr. Kanok Shokjaratkul
ช่วงที่เกิดน้ำท่วม คนมองว่าน่านเป็นจังหวัดที่ทำลายป่า เพราะเรื่องของปากท้อง เรื่องกับดักทางเศรษฐกิจที่ชาวบ้านเจอ ทำให้เป็นอย่างนั้น
ผมชอบเดินป่า เป็นเจ้าหน้าที่อุทยานฯก็จะเห็นมุมมองธรรมชาติที่หลากหลายมากกว่านักท่องเที่ยว เราก็อยากร่วมกันทำ โรงเรียนนักเดินป่า
สมัยก่อนมีการเดินป่าหลากหลายเส้นทางในประเทศ แต่คนไม่มีวัฒนธรรม หรือวิธีการเข้าป่าที่ถูกต้อง ไปเแบบฉาบฉวย แล้วสร้างปัญหา ก็ถูกสั่งปิด
Cr. Kanok Shokjaratkul
โรงเรียนนักเดินป่าจึงกำเนิดขึ้น เพื่อให้คนมีความรู้ที่ถูกต้อง ให้คนที่เข้าไปสัมผัสธรรมชาติเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น
พอเห็นคุณค่าก็จะเกิดเป็นความรัก พอเกิดความรักก็จะเกิดความหวงแหน ถ้าวันหนึ่งนักท่องเที่ยวกับนักอนุรักษ์เป็นคน ๆ เดียวกันได้ เจ้าหน้าที่อุทยานฯก็จะหมดหน้าที่
ปัจจุบันคนเดินป่ากันเยอะ มีการลักลอบเข้าไป ทำให้เกิดปัญหาขยะ มีการหลงป่า ซึ่งพวกผมก็ต้องไปตาม"
Cr. โรงเรียนนักเดินป่า Outdoor Education
- โซเชียลมีเดีย กระตุ้นให้เกิดการเลียนแบบ
หัวหน้าอุทยานฯกล่าวว่า ปัญหาการสื่อสารด้วยคลิปวิดีโอในมุมมองที่ผิด ๆ ทำให้เกิดกระแส คนมากมายก็อยากทำตาม
"เช่น ไปจับสัตว์ จับปู จับปลา ไปสังสรรค์ในป่า หลายเส้นทางท่องเที่ยวในประเทศไทยเต็มไปด้วยขยะ จากนักท่องเที่ยว จากชาวบ้าน ที่ไม่มีความรู้ ไม่มีระบบการจัดการที่ดี ทิ้งขยะไว้เต็มไปหมด
ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาช่วยกันให้ความรู้นักท่องเที่ยว โรงเรียนนักเดินป่า จัดสถานที่ให้ผู้คนเข้ามาแลกเปลี่ยน พอเรามีข้อมูลที่ถูกต้อง มีการสอน มีการส่งต่อ ความอยากทำสิ่งดี ๆ ก็เกิดขึ้น"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- ก่อนไปท่องเที่ยวหรือเข้าป่า ต้องเตรียมตัว
วัฒนธรรมที่ถูกต้องสามารถแก้ปัญหาได้ นักท่องเที่ยวหลายคน เวลาเดินทาง หรือไปเดินป่า มักไม่ทำการบ้านหรือเตรียมตัว หัวหน้าอุทยานฯให้ข้อสังเกต
"การพึ่งพาตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญ หลาย ๆ คน หลาย ๆ เส้นทาง อาจเป็นเส้นทางที่โหด ไปยาก แต่นักท่องเที่ยวใส่รองเท้าแตะ ไปหาชาวบ้านให้พาเดิน ไม่ทำการบ้าน เรื่องของพื้นที่ เรื่องของสภาพอากาศ
การพึ่งพาตัวเอง คือการสำรวจตัวเองให้มีความพร้อมก่อน เพราะถ้าคุณไม่พึ่งพาตัวเอง คุณก็ต้องพึ่งพาคนอื่น พอคุณพึ่งพาคนอื่นคุณก็สร้างปัญหา
Cr. โรงเรียนนักเดินป่า Outdoor Education
หลายครั้ง ในทริปหนึ่งไปกัน 10 คน มี 2 คนที่ไม่มีความพร้อมอะไรสักอย่าง ทำให้ 8 คนหมดอารมณ์ หมดบรรยากาศในการเดินทาง
หลายครั้งการไม่พึ่งพาตนเอง หรือจ้างลูกหาบขึ้นมา เอาทุกอย่างเข้าไป สิ่งที่ตามมาคือขยะ ถ้าจัดการไม่ถูกก็เป็นปัญหากับพื้นที่ ไม่ใช่ลูกหาบไม่ดี แต่เป็นเรื่องของการจัดการของตัวบุคคล
สอง. เรื่องการเคารพธรรมชาติ มันเหมือนเราเข้าไปในบ้านหลังหนึ่งที่เป็นป่า เราเป็นแขก เราไปย้ายโซฟา เอานั่นออก เอานี่ออก ส่งเสียงดังเต็มบ้าน
ซึ่งการเข้าไปในธรรมชาติ เราต้องเคารพธรรมชาติ เราเข้าไปในบ้านของสัตว์ป่า ก็ต้องเคารพ ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีกฎ มีระเบียบ มีกติกา อยู่ในนั้น
Cr. Kanok Shokjaratkul
เราต้องไม่ส่งเสียงดัง ไม่ทิ้งขยะ ใช้ไฟอย่างถูกวิธี จุดเฉพาะจุดที่กำหนดให้ เคยมี แคมป์หนึ่งมี 8 กองไฟ พอเกิดไฟลุกลาม เป็นปัญหาไฟไหม้ป่า เจ้าหน้าที่ก็สั่งปิด
การเข้าห้องน้ำธรรมชาติ บางพื้นที่มีกระดาษทิชชูเต็มไปหมด เราก็ไม่อยากเข้า ซึ่งการเข้าที่ถูกต้อง ก็ต้องขุด แล้วกลบให้เรียบร้อย ไม่ใช้ทิชชูเปียก มันก็ย่อยสลายไปเอง
การให้เกียรติเพื่อนร่วมทาง นักท่องเที่ยวบางคนพกปืนเข้ามา อยู่ ๆ ก็ยิงปืน ส่งเสียงดัง กร่าง แบบนี้อยู่บ้านดีกว่า ไม่ก็เข้าสนามยิงปืนไปเลย ไม่ต้องขึ้นไป"
Cr. Kanok Shokjaratkul
- เป้าหมายของโรงเรียนนักเดินป่า
หัวหน้าอุทยานฯ กล่าวว่า มีอยู่ 3 ขั้น ได้แก่
1. ขั้นต้น (วัฒนธรรมพื้นฐาน) เน้นเรื่องเคารพธรรมชาติ พึ่งพาตัวเอง ให้เกียรติเพื่อนร่วมทาง
2. ขั้นกลาง (ความรู้, ทักษะ) เน้นเรื่องการจัดการตัวเอง เรื่องอุปกรณ์, อาหาร, ยา, ทักษะการสังเกต, การแกะรอย, แผนที่, เข็มทิศ, การแก้ปัญหา, เจ็บป่วย, ปฐมพยาบาล, การกู้ชีพ, กู้ภัย, การเอาตัวรอด, หลงทาง, การจัดการที่พักแรม, แหล่งน้ำ, กองไฟ, การเดินป่ากลางคืน (กรณีฉุกเฉิน)
3. ขั้นสูง (จริยธรรม) ทักษะของพรานป่า, ผู้นำทาง เรื่องของพรรณไม้, สัตว์ป่า สามารถเป็นครู ผู้ส่งต่อได้
Cr. โรงเรียนนักเดินป่า Outdoor Education
- ถ้าอยากสมัครเป็นนักเรียนโรงเรียนนักเดินป่า ต้องทำอย่างไร
หัวหน้าอุทยานฯกล่าวว่า ให้เข้าไปที่ เพจ โรงเรียนนักเดินป่า ไปสมัครเรียนออนไลน์ให้ได้ใบประกาศ จากนั้นนำใบประกาศมาสมัคร ในวันที่รับสมัคร
"หลักการของโรงเรียน คือ ไม่เป็นภาระของหน่วยงาน ไม่เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ เมื่อเราเคลียร์งานเรียบร้อยแล้ว เราว่าง เราจะเปิดวันที่เราพร้อม
Cr. โรงเรียนนักเดินป่า Outdoor Education
เพราะเราเป็นอาสาสมัคร เราไม่ได้เก็บเงิน เราใช้วันหยุดตัวเองทำกิจกรรม ไปสอนผู้คน ให้มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง มีความรับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมทาง
ในเรื่องอุปกรณ์ เราไม่มีโฆษณาใด ๆ ให้คำแนะนำสิ่งที่จำเป็นในการเดินป่า จะได้เรียนรู้จากที่นี่ทั้งหมด (สอนแม้กระทั่งการผูกเชือกรองเท้า ที่จะไม่หลุดอีกต่อไป)
เราหวังว่า วันหนึ่งอาจจะมีอาสาสมัครที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโรงเรียนนักเดินป่าออกไปเป็นอาสาสมัครสอนทุกคนต่อไป"
Cr. โรงเรียนนักเดินป่า Outdoor Education
กำหนดการ โรงเรียนนักเดินป่า 2024
- อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จ.น่าน
ระดับต้น / เส้นทางเดินป่า ภูพันเจ็ด / ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (ไป-กลับ 7 กิโลเมตร) / เปิด ตุลาคม-กุมภาพันธ์
- อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
ระดับต้น / เส้นทางเดินป่า แก่งยาว / ระยะทาง 8 กิโลเมตร (ไป-กลับ 16 กิโลเมตร) / เปิด ตุลาคม-กุมภาพันธ์
- อุทยานแห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่น
ระดับต้น / เส้นทางเดินป่า อ่างมะเขือ / ระยะทาง 6 กิโลเมตร / เปิด กรกฎาคม-ธันวาคม
ระดับต้น / เส้นทางเดินป่า หินลาดขวาง / ระยะทาง 17 กิโลเมตร / เปิด ตุลาคม-มกราคม
- อุทยานแห่งชาติน้ำพอง จ.ขอนแก่น
ระดับต้น / เส้นทางเดินป่า ผาสวรรค์ / ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร (ไป-กลับ 7 กิโลเมตร) / เปิด กรกฎาคม-มกราคม
ระดับกลาง / เส้นทางเดินป่า น้ำคำเมย / ระยะทาง 18 กิโลเมตร / เปิด กรกฎาคม-มกราคม
ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้ที่ เพจ โรงเรียนนักเดินป่า Outdoor Education