ชม 'บ้านอาจ้อ' ยามค่ำคืน จากบ้านเก่าภูเก็ตสู่มิวเซียมโฮมสเตย์หลักหมื่น
ภูเก็ตไม่ได้มีแค่ทะเล แต่ยังมี “บ้านอาจ้อ” พิพิธภัณฑ์ข้าวของเครื่องใช้โบราณหาชมยาก จากบ้านโบราณเก่าแก่อายุ 88 ปี สู่ “มิวเซียมโฮมสเตย์” ราคาหลักหมื่น
KEY
POINTS
- รู้หรือไม่? ภูเก็ต ไม่ได้เด็ดแค่ที่เที่ยวทางทะเล แต่ยังมีอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่น่าสนใจและควรแวะไปชมให้ได้สักครั้ง นั่นก็คือ “พิพิธภัณฑ์บ้านอาจ้อ”
- บ้านอาจ้อ เป็นบ้านโบราณของคหบดีเก่าเมืองภูเก็ตตระกูลหงษ์หยก ที่ทายาทรุ่น 4 ได้พลิกฟื้นรีโนเวทใหม่ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ร้านอาหาร และที่พักแนวบูทีคโฮมสเตย์อายุเก่าแก่ถึง 88 ปี
- พิพิธภัณฑ์บ้านอาจ้อ จัดทำขึ้นโดยไม่แสวงหาผลกำไร ขณะที่รายได้หลักมาจากร้านอาหาร และให้บริการห้องพัก ซึ่งเปิดให้เข้าพักเพียง 1 ห้องแบบไพรเวท ราคา 10,000 บาทต่อวัน
ใครๆ ก็รู้ว่า “ภูเก็ต” เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยอดนิยมของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ไม่เพียงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลสุดฮอตระดับโลกเท่านั้น แต่ยังรุ่มรวยไปด้วยศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และอาหารท้องถิ่น ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร
หากไม่นับชายหาดขาวๆ น้ำทะเลใสๆ และย่านเมืองเก่าภูเก็ตที่หลายคนอาจเคยไปเที่ยวบ่อยแล้ว รู้หรือไม่? เกาะแห่งนี้ยังมีอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่ควรแวะไปชมให้ได้สักครั้ง นั่นก็คือ “บ้านอาจ้อ” บ้านโบราณของคหบดีเก่าเมืองภูเก็ตตระกูลหงษ์หยก ที่ทายาทรุ่น 4 ได้พลิกฟื้นรีโนเวทใหม่ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ ร้านอาหาร และที่พักสไตล์มิวเซียมโฮมสเตย์อายุเก่าแก่ถึง 88 ปี
กรุงเทพธุรกิจ มีโอกาสเดินทางมาเยือนภูเก็ต พร้อมกับทีมเคทีซี ที่ได้พาเที่ยวภูเก็ตแบบสุดคุ้ม โดยหนึ่งในไฮไลต์ของทริปนี้อยู่ที่ร้านอาหาร “โต๊ะแดงบ้านอาจ้อ” ซึ่งถือเป็นร้านอาหารที่มีแหล่งท่องเที่ยวอย่างพิพิธภัณฑ์บ้านเก่ารวมอยู่ด้วยกัน แล้วที่นี่จะมีความน่าสนใจแค่ไหน ชวนหาคำตอบไปกับ “จุ๋ม - อรสา โตสว่าง” ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบตกแต่งบ้านอาจ้อในช่วงรีโนเวทบ้าน และเป็นคุณน้าของ สัจจ หงษ์หยก ผู้เป็นเจ้าของบ้าน
บ้านอาจ้อ คือ บ้านคุณทวดต้นตระกูลหงษ์หยกแห่งเมืองภูเก็ต นามว่า “หลวงอนุภาษภูเก็ตการ” ผู้บุกเบิกเหมืองแร่ดีบุก
เธอเล่าให้กรุงเทพธุรกิจฟังว่า บ้านอาจ้อ แปลว่า บ้านทวด คำว่าอาจ้อเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน แปลเป็นไทยก็คือ คุณทวด โดยมีทั้งอาจ้อหญิง (ย่าทวดยายทวด) และอาจ้อชาย (ปู่ทวดตาทวด) ที่นี่เคยเป็นบ้านของ “หลวงอนุภาษภูเก็ตการ” หรือ จิ้นหงวน หงษ์หยก ท่านเป็นคนจีนโพ้นทะเลเดินทางมาลงหลักปักฐานที่เมืองไทย เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจการทำเหมืองแร่ในจังหวัดภูเก็ตในสมัยนั้น ก่อนที่ภูเก็ตจะพัฒนามาเป็นยุค Tourism อย่างในปัจจุบันนี้
ปัจจุบันบ้านอาจ้อมีอายุ 88 ปีแล้ว โดยก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 สร้างได้ไม่กี่ปีก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ย้อนกลับไปสมัยนั้น หลวงอนุภาษภูเก็ตการ ผู้เป็นต้นตระกูลหงษ์หยก ได้สร้างบ้านหลังนี้ไว้เป็นบ้านพักตากอากาศ ใช้พักแรมเมื่อเดินทางไปมาระหว่างเหมืองเจ้าฟ้าในเมืองภูเก็ต (มีบ้านหลักในตัวเมือง) และเหมืองแร่ที่พังงา ต่อมาเมื่อสูงอายุขึ้นจึงย้ายกลับมาอยู่บ้านในตัวเมือง แล้วให้ลูกชายคนหนึ่งมาดูแลบ้านนี้ ลูกชายและภรรยามาอยู่บ้านนี้นานหลายปี จนกระทั้งประมาณปี พ.ศ. 2522 ก็ย้ายกลับเข้ามาอยู่ที่บ้านในตัวเมือง บ้านหลังนี้จึงถูกปิดร้างไปนานถึง 37 ปี
ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2559 ทายาทรุ่น 4 ของตระกูลหงษ์หยกได้กลับมาช่วยกันปรับปรุงและรีโนเวทบ้านหลังนี้ขึ้นมาใหม่ ฟื้นความงดงามในอดีตให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ใช้เวลาซ่อมบำรุง 3 ปี จากนั้นจึงเปิดเป็นที่พักแนวโฮมสเตย์ ร้านอาหาร และพิพิธภัณฑ์จัดแสดงความเป็นมาของเหมืองแร่ดีบุก เครื่องดนตรี ศิลปะ และข้าวของเครื่องใช้ของเจ้าของบ้านในยุคอดีต
บ้านอาจ้อออกแบบสไตล์ชิโน-โคโลเนียล แต่ก็เน้นหลักฮวงจุ้ยทั้งหลัง ผสมผสานศิลปะจีน-ฝรั่ง
อรสาเล่าต่อไปว่า บ้านหลังนี้เรียกอีกอย่างว่า อั้งม้อหลาว แปลว่าบ้านคนผมแดง สื่อความหมายถึงฝรั่งในสมัยนั้น สะท้อนให้เห็นผ่านตัวบ้านตึกปูนในสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน หรือ ชิโน-โคโลเนียล ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายในภูเก็ต และเนื่องจากบ้านหลังนี้เอาไว้พักแรมเพียงไม่กี่วันระหว่างเดินทางเท่านั้น จึงปลูกสร้างบ้านขนาดย่อมลงมา ห้องมีขนาดเล็ก ตัวโครงสร้างของบ้านและการออกแบบต่างๆ เน้นความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน
แม้จะเป็นบ้านฝรั่งสไตล์ ชิโน-โคโลเนียล แต่ขณะเดียวกันก็เน้นหลักฮวงจุ้ยจีนทั้งหลัง อรสา เล่าว่า หากหันหน้าเข้าตัวบ้าน จะเห็นเหมือนบ้านมีสองแขน (ปีกบ้าน) ยื่นออกไปทั้งด้านซ้ายและขวา แล้วมีส่วนห้องรับแขกอยู่ตรงกลาง ดูคล้ายค้างคาวที่กำลังบินอยู่ ตรงนี้สำหรับคนจีนเชื่อว่า ที่ไหนที่มีลักษณะของค้างคาวกำลังบิน ที่นั่นจะมีความอุดมสมบูรณ์ ชาวจีนสมัยก่อนจึงใช้หลักแนวคิดนี้มาเป็นหลักในการสร้างบ้าน
“บ้านหลังนี้รักษาความเป็นออริจินัลไว้ได้ทั้งหมด ที่นี่เป็นบ้านตากอากาศหลักแรกในภูเก็ตที่เป็นตึกปูน สมัยนั้นคนภูเก็ตยังไม่รู้ว่าสร้างบ้านปูนต้องสร้างแบบไหน แต่เจ้าของบ้านเริ่มคบค้ากับชาวต่างชาติที่เข้ามาค้าขายในไทย และเคยเห็นบ้านแบบนี้ที่ปีนัง จึงนำมาออกแบบบ้านของตน หากเดินชมรอบๆ ตัวบ้านก็จะเห็นศิลปะฝรั่งผสมผสานเข้ากับศิลปะแบบจีน” อรสา อธิบาย
เราฟังเรื่องราวไปด้วยและเดินชมแต่ละส่วนของตัวบ้านทั้งสามชั้นไปด้วย เริ่มจากชั้นล่างมี 4 ห้อง ห้องแรกทางซ้ายมือด้านทิศตะวันออกจะเป็นห้องนอนของอาจ้อ (ห้องคุณทวด) ผู้เป็นเจ้าบ้าน โดยเจ้าบ้านต้องนอนทางทิศตะวันออกฝั่งพระอาทิตย์ขึ้นเพราะเป็นฮวงจุ้ยของมังกร เป็นห้องพลังงานดีส่งเสริมเจ้าบ้านและคนในบ้าน
ตัวพิพิธภัณฑ์ไม่แสวงผลกำไร ส่วนรายได้หลักมาจากร้านอาหารและบริการที่พัก 1 ห้องถ้วนราคา 10,000 บาทต่อวัน
ต่อมาพอรีโนเวทบ้านก็ปรับให้ห้องนอนอาจ้อตรงนี้เป็นห้องขายสินค้าที่ระลึก โดยสินค้าที่นำมาจำหน่ายเป็นงานฝีมือจากชุมชนต่างๆ ของภูเก็ตทั้งหมด เพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้จากตรงนี้ด้วย
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จัดทำขึ้นโดยไม่แสวงหาผลกำไร ไม่มีการขายบัตรเข้าชม แต่สำหรับผู้ที่เข้ามาชมบ้านนี้เจ้าของบ้านขอความอนุเคราะห์หยอดเงินเพียงคนละ 100 บาท (ต่างชาติ 200 บาท) บวกกับหักรายได้จากร้านอาหาร 10% สองส่วนนี้จะนำไปช่วยเหลือนักเรียนและโรงเรียนบ้านไม้ขาวภูเก็ต โดยหลักๆ จะนำไปรีโนเวทตึกอาคารเรียน บ้านพักครู และซ่อมแซมส่วนอื่นๆ ภายในโรงเรียน
“ส่วนรายได้หลักของที่นี่จะมาจากร้านอาหาร (รายได้ที่เหลือหลังจากหัก 10%) และให้บริการห้องพัก ซึ่งเปิดให้เข้าพักเพียง 1 ห้องแบบไพรเวท สนนราคา 10,000 บาทต่อวัน พร้อมอาหาร-เครื่องดื่ม 3 มื้อ และการดูแลอย่างดีตลอด 24 ชั่วโมง” อรสา เล่าถึงการบริการของมิวเซียมโฮมสเตย์แห่งนี้
กิมมิกโลโก้ "ดอกโบตั๋น" สื่อความหมายงดงามของครอบครัวตระกูลหงษ์หยก
ถัดมาตรงกลางที่เป็นโถงรับแขก จะมีมุมโต๊ะรับแขก 2 ชุด ห้องนี้มีจุดสำคัญคือแผ่นกระเบื้องลวดลายดอกไม้ที่ปูเรียงแถวยาวกั้นเป็นเขตแดน บ่งบอกเป็นนัยยะว่าแขกที่มาบ้านอยู่ได้แค่บริเวณห้องนี้ ไม่สามารถล้วงล้ำข้ามเส้นลายกระเบื้องเข้าไปยังห้องอื่นๆ ของบ้านได้ เป็นมารยาทที่คนสมัยก่อนยึดถือปฏิบัติกันมา
เมื่อมองขึ้นด้านบนตรงผนังกึ่งกลางห้องรับแขก จะมองเห็นภาพดอกโบตั๋นที่เพ้นท์มือโดยศิลปินชาวรัสเซีย ถือเป็นภาพสัญลักษณ์สำคัญของครอบครัวและเป็นโลโก้ของที่นี่ด้วย ดอกโบตั๋นสีชมพูขนาดใหญ่นี้คือดอกไม้แห่งความอุดมสมบูรณ์ ตรงกึ่งกลางด้านในของดอกจะมองเห็นเป็นรูปผู้หญิงเกล้ามวยผม แสดงถึง “อาจ้อหญิง” ผู้เป็นภรรยาของหลวงอนุภาษภูเก็ตการ ส่วนกลีบดอกเล็กๆ ด้านในที่ล้อมรอบอยู่ 9 กลีบสื่อถึงลูกทั้ง 9 คนของครอบครัวนี้ (ทั้ง 9 คนนั้นคืออากงอาม่าของทายาทตระกูลหงษ์หยกรุ่นปัจจุบันซึ่งเป็นรุ่นที่ 4)
นอกจากนี้บริเวณชั้นล่างนี้ก็มีห้องสูบฝิ่น ห้องแต่งตัว ห้องนั่งเล่น ห้องทำงาน ถัดไปด้านซ้ายทางโถงยาวเป็นส่วนของห้องครัวและห้องกินข้าว ส่วนด้านหลังบ้านเป็นห้องน้ำ
ถัดมาเดินขึ้นไปบนชั้นที่สองมีอีก 4 ห้อง แบ่งหนึ่งห้องเป็นที่พักรองรับนักท่องเที่ยวที่จองเข้ามาพักแบบไพรเวท ส่วนอีกสามห้องจัดแสดงถึง “ห้องหอโบราณ” ของคู่แต่งงานสมัยก่อน รวมถึงจัดแสดงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และข้าวของเครื่องใช้ของคนสมัยก่อนด้วย สุดท้ายชั้นบนสุดในบ้านคือชั้นที่สาม มีสองห้องเล็กๆ เป็นห้องพระและห้องแสดงเครื่องดนตรีโบราณ
เดินเที่ยวชมครบหมดทุกชั้นพร้อมฟังที่มาในอดีตก่อนที่บ้านหลังนี้จะกลายร่างมาเป็น “มิวเซียมโฮมสเตย์” อย่างทุกวันนี้แล้วก็พบว่า ที่นี่ไม่เพียงงดงามในยุคอดีตเท่านั้น แต่ยังส่งต่อความงดงามของทั้งตัวบ้านและเจ้าของบ้านมาถึงยุคปัจจุบันเลยทีเดียว
ลองลิ้มชิมรสอาหารภูเก็ตโบราณจากร้าน "โต๊ะแดงบ้านอาจ้อ" ที่ได้รางวัลมิชลินบิบกูร์มองด์พร้อมรีวิว 8 เมนูแนะนำ
ก่อนจะเดินทางกลับเรายังได้แวะชิมอาหารอร่อยๆ ของ “ร้านโต๊ะแดง บ้านอาจ้อ” แห่งนี้ ซึ่งทั้งรสชาติและคุณภาพของอาหารนั้นมีความโดดเด่น จนได้รับการแนะนำจากมิชลินไกด์ ประเภท “บิบ กูร์มองด์” หรือร้านอาหารอร่อยคุ้มค่าในราคาย่อมเยา ตั้งแต่ปี 2022 - 2024
ที่นี่มีห้องอาหาร 2 โซน โซนแรกคือเปิดมาตั้งแต่แรกพร้อมๆ กับการบริการห้องพัก ซึ่งใช้พื้นที่ปีกซ้ายมือของห้องครัวเก่าของบ้านอาจ้อมารีโนเวทเป็นร้านอาหาร
ส่วนโซนที่สองคืออาคารเรือนกระจกนอกตัวบ้านที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ พื้นใหญ่กว่า จุคนได้มากกว่า เหมาะกับการจัดงานเลี้ยง ซึ่งทั้งสองโซนใช้ชื่อ “โต๊ะแดง” เหมือนกัน และเสิร์ฟอาหารในชุดเมนูเดียวกัน สำหรับเมนูแนะนำของร้านโต๊ะแดงบ้านอาจ้อ ได้แก่
1. เกี้ยนทอดภูเก็ต ราคา 280 บาท
ของทานเล่นเรียกน้ำย่อยสูตรจีนฮกเกี้ยน มีลักษณะคล้ายฮ้อนจ๊อแบบจีน ถือหนึ่งในอาหารพื้นเมืองภูเก็ต โดยเกี้ยนทอดของแต่ละบ้านก็จะมีสูตรเฉพาะของแต่ละครอบครัวแตกต่ากันไป
2. อ๋วนปลาภูเก็ต ราคา 220 บาท
ลูกชิ้นปลาที่ทำจากเนื้อปลาล้วน ปั้นออกมาในไซส์ใหญ่พิเศษกินได้เต็มปากเต็มคำ เนื้อเด้งเคี้ยวหนึบและไม่คาวเลย เสิร์ฟมาพร้อมกับน้ำจิ้มซีฟู้ด
3. หมี่กรอบบ้านอาจ้อ ราคา 350 บาท
ปรุงรสหวานเปรี้ยวเค็มได้อย่างกลมกล่อมอร่อยลงตัวมาก ด้านบนโรยกระเทียมดองหั่นบางๆ กินแกล้มกับหมี่กรอบ เสิร์ฟพร้อมกุ้งตัวโตๆ 4 ตัว จุดเด่นคือตัวหมี่ที่ทอดมาอย่างดี กรอบนาน ไม่แฉะ
4. ผักลิ้นห่านผัดไฟแดง ราคา 250 บาท
ผักลิ้นห่านเป็นผักพื้นถิ่นของภูเก็ต มีความกรอบอร่อย แม้จะมีสีเขียวเข้มจัดแต่ไม่เหม็นเขียวเลย เมื่อนำมาผัดเร็วๆ จนสุกพร้อมโรยกุ้งเสียบตัวโต กินคู่กันอร่อยลงตัว
5. ไก่คั่วเม็ดล่อ ราคา 250 บาท
ไก่ผัดเม็ดมะม่วงหิมพานต์ ไก่ทอดจนแห้งดี ไม่แฉะ แต่ด้านในชุ่มฉ่ำ ผัดคลุกเคล้ากับพริกหวานหลากสีและผักต่างๆ ที่สุกกรอบกำลังดี รสชาติกลมกล่อมพอดีไม่เค็มเกินไป
6. ปูผัดดีปลีสด ราคา 790 บาท
ปูผัดพริกสดที่มีเนื้อปูสดๆ หวานๆ จัดมาเต็มจาน ปรุงรสเค็มหวานกำลังดี ที่สำคัญได้กลิ่นหอมของพริกขี้หนูสดและไม่เผ็ดจนเกินไป เข้ากันได้ดีกับข้าวสวยร้อนๆ
7. ปลาทอดสมุนไพรกะเพรากรอบ ราคา 650 บาท
ปลากะพงไซส์บิ๊กหั่นเนื้อเป็นชิ้นใหญ่ๆ ทอดสุกเหลือง โรยด้วยใบกะเพรากรอบ เสิร์ฟพร้อมน้ำจิ้มรสเด็ด จุดเด่นอยู่ที่เนื้อปลาสดแน่นเต็มปากเต็มคำ
8. ต้มส้มปลา ราคา 380 บาท
ต้มส้มแบบโบราณที่ใส่สับปะรดมาด้วย ให้รสชาติเปรี้ยวอมหวานลงตัว นอกจากนี้ยังมีขิงซอยเพิ่มความหอม เนื้อปลาสดเด้งและปรุงมากำลังดี ไม่เละ ไม่คาว กินคู่ข้าวสวยร้อนๆ อร่อยเด็ด
ใครที่สนใจอยากไปเที่ยวชมบ้านเก่าขรึมขลังสวยงามสุดอลังการ พร้อมชิมอาหารอร่อยๆ ก็ปักหมุดได้ตามพิกัดนี้ "บ้านอาจ้อ มิวเซียม โฮมสเตย์" ตั้งอยู่ที่ 102 ถนนเทพกระษัตรี ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และสามารถดูรายละเอียดเมนูอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ : ร้านโต๊ะแดงบ้านอาจ้อ