กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดนิทรรศการ พระราชทานรางวัลในงาน “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 10 และ 11
กรมสมเด็จพระเทพฯทรงเปิดนิทรรศการและพระราชทานรางวัลในงานนิทรรศการ “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 10 และ 11”ภายใต้หัวข้อ “ในฝัน” และ “คนไทยให้กันได้” ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการและพระราชทานรางวัลในงาน “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 10 และ 11” ภายใต้หัวข้อ “ในฝัน” และ “คนไทยให้กันได้” จัดโดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)
เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้เหล่าศิลปิน และผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้รังสรรค์ชิ้นงานศิลปะร่วมสมัยให้ขยายไปสู่การรับรู้ของสังคมในวงกว้าง ผ่านการนำเสนอผลงานรูปแบบจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสื่อผสม โดยไม่จำกัดเทคนิคและวัสดุ ทั้งในรูปแบบรูปธรรม (Realistic) หรือ ศิลปะรูปลักษณ์ (Figurative Art) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวจากแนวคิดของศิลปินแต่ละคน
ในปีนี้ งานนิทรรศการศิลปกรรมช้างเผือก จะนำเสนอผลงานศิลปะ ของการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 11 ประจำปี พ.ศ. 2565 ในหัวข้อ “คนไทยให้กันได้” จำนวน 35 ชิ้นงาน และครั้งที่ 10 ประจำปี 2564 ในหัวข้อ “ในฝัน” จำนวน 21 ชิ้นงาน
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ทางผู้จัดไม่สามารถจัดนิทรรศการศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 10 ตามกำหนดเดิมได้ ทำให้จำเป็นต้องนำผลงานจากกระประกวดทั้งสองปีมาจัดแสดงร่วมกันในปีนี้
นิติกร กรัยวิเชียร ผู้อำนวยการโครงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า
บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างหาที่สุดมิได้ ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในการพระราชทานรางวัลตั้งแต่การประกวดครั้งแรกตราบจนปัจจุบัน และขอขอบพระคุณคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ตลอดจนศิลปินผู้ส่งผลงานเข้าร่วมการประกวดทุกคน และจะมุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนให้วงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยประสบความสำเร็จสืบเนื่องต่อไปในอนาคต
การประกวดศิลปกรรมช้างเผือก เกิดจากความตั้งใจอันดีของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีวัตถุประสงค์เพื่อเฟ้นหาศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่มีทักษะความสามารถทางศิลปะอันโดดเด่น ในการสร้างสรรค์ศิลปะแบบเหมือนจริง (Realistic) และศิลปะรูปลักษณ์ (Figurative Art)
ยึดถือความเหมือนจริงเป็นแก่นสำคัญเพื่อให้ผลงานศิลปะเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่สำคัญ ในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านศิลปะร่วมสมัยให้ขยายไปสู่การรับรู้ของสังคมในวงกว้าง การดำเนินการประกวดศิลปกรรมช้างเผือก
เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 และดำเนินงานต่อเนื่องเรื่อยมาเป็นประจำทุกปี โดยในปี พ.ศ. 2565นับเป็นการจัดการประกวดครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อ ‘คนไทยให้กันได้’’ เพื่อให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้แสดงฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ โดยตีความจากโจทย์ ที่กำหนดให้ ซึ่งศิลปินที่เข้าร่วมประกวดแต่ละคน ก็ต่างสร้างสรรค์ผลงานที่น่าสนใจในรูปแบบและแนวทางที่แตกต่าง ได้อย่างน่าประทับใจ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
การจัดประกวดครั้งที่ 10 มีศิลปินจำนวน 289 คน ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวนทั้งสิ้น 330 ชิ้น โดยมีผลงานที่ได้รับรางวัลจำนวน 21 ชิ้น และครั้งที่ 11 มีศิลปินจำนวน 135 คน ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจำนวนทั้งสิ้น 150 ชิ้น โดยมีผลงานที่ได้รับรางวัลจำนวน 20 ชิ้น และผลงานที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงในนิทรรศการจำนวน 15 ชิ้น รวมผลงานจัดแสดงในนิทรรศการ ทั้งสิ้น 56 ชิ้น
สำหรับงานศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 10 ผลงานที่ได้รับรางวัลช้างเผือก ได้แก่ “แหวกว่ายในนิทรา” โดยลดากร พวงบุบผา รับเงินรางวัล 1,000,000 บาท รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “สุขสมดุล” โดยนิลยา บรรดาศักดิ์ รับเงินรางวัล 500,000 บาท รางวัล CEO AWARD ได้แก่ “สวนสัตว์ในฝัน” โดยเสริมศักดิ์ ทามี รับเงินรางวัล 250,000 บาท
ส่วนงานศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 11 ผลงานที่ได้รับรางวัลช้างเผือก ได้แก่ “พลังแห่งดอกทานตะวัน” โดยอนันต์ยศ จันทร์นวล รับเงินรางวัล 1,000,000 บาท รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ “ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ” โดยมนัชญา กิจประเสริฐ รับเงินรางวัล 500,000 บาท รางวัล CEO AWARD ได้แก่ “โฮมHome (บุญบ้านเฮา)” โดยเญอรินดา แก้วสุวรรณ รับเงินรางวัล 250,000 บาท
ลดากร พวงบุบผา ผู้ชนะรางวัลช้างเผือก ครั้งที่ 10 ภายใต้ผลงานชื่อ “แหวกว่ายในนิทรา” เผยถึงแรงบันดาลใจผลงานชิ้นนี้ว่า
"เชื่อกันว่าเราทุกคนต้องเคยฝัน เราจะฝันได้ก็ต่อเมื่อร่างกายเข้าสู่กระบวนการการหลับใหล ส่วนจิตและสมองของเรายังคงทำตามหน้าที่ต่อไป แต่จะมีสักกี่คนที่ตกอยู่ในภวังค์แห่งความฝันตลอดเวลา
หนึ่งในนั้น คือ แม่บุญธรรมผู้แก่ชราที่รับอุปการะเลี้ยงดูฉันแต่เพียงลำพัง จนเติบโตขึ้นมาภายในบ้านอันแสนอบอุ่น หญิงชราวัย 93 ปี ซึ่งเป็นคุณแม่บุญธรรมที่มีอาการสับสนทางจิต เสมือนว่ามีโลกอีกหนึ่งใบซ่อนอยู่ เธอมักจะเล่าเรื่องราวจากความเป็นจริงปะปนกับโลกแห่งความฝัน เช่น
สิ่งของที่อยู่อย่างผิดที่ผิดทาง สถานที่และวันเวลาที่น่าสับสน สัตว์และสิ่งมีชีวิตในรูปแบบเหนือจริง ท่ามกลางบรรยากาศภายในบ้าน พื้นที่สมมุติ เรื่องราวของคุณแม่มักพาดำดิ่งสู่โลกแห่งจินตนาการ โลกที่แม้แต่ตัวเราเองก็อยากให้มีอยู่จริงค่ะ สำหรับผลงานชิ้นนี้ใช้เทคนิค ภาพพิมพ์โลหะ ร่องลึก ซึ่งเป็นเทคนิคที่เราถนัดอยู่แล้ว ใช้ระยะเวลาการผลิตชิ้นงานเป็นระยะเวลา 4 เดือน”
อนันต์ยศ จันทร์นวล ผู้ชนะรางวัลช้างเผือก ครั้งที่ 11 ภายใต้ผลงานชื่อ “พลังแห่งดอกทานตะวัน” เผยความรู้สึกว่า
“รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างมาก ที่ได้รับรางวัลนี้ ทำให้มีกำลังใจในการทำผลงานชิ้นต่อไป สำหรับผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานชิ้นที่ 4 ของผมที่ส่งเข้ามาประกวดในโครงการศิลปกรรมช้างเผือก
ภายใต้ชื่อผลงานพลังแห่งดอกทานตะวัน สร้างสรรค์ขึ้นด้วยแนวความคิดเกี่ยวกับดอกทานตะวันและผ้าสีแดง ที่แสดงให้เห็นถึงความรัก ความหวัง ความสดใสร่าเริงมีชีวิตชีวา ความแข็งแกร่งสง่างาม เสมือนเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้คนไทยได้ข้ามผ่านช่วงเวลา ณ ปัจจุบันไปด้วยกัน ผลงานชิ้นนี้ใช้เทคนิค สีน้ำมันและสีอะครีลิคบนผ้าลินิน ใช้ระยะเวลาการผลิตชิ้นงานเป็นระยะเวลา 1 เดือน ผมขอขอบคุณโครงการศิลปกรรมช้างเผือก ที่ทำให้ผมและเพื่อนๆ ได้ต่อยอดทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง
นิทรรศการ “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 10 และ 11” ภายใต้หัวข้อ “ในฝัน” และ “คนไทยให้กันได้ เปิดให้ประชาชนเข้าชม ตั้งแต่วันนี้ - 28 สิงหาคม 2565 (หยุดทุกวันจันทร์) เวลา 10.00-19.00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร