รู้จัก "ภาวะ MIS-C" (มิสซี) Long COVID ในเด็ก เช็กอาการ กลุ่มไหนเสี่ยง
ประเด็น "โควิด-19" ทำความรู้จักภาวะ MIS-C (มิสซี) Multisystem infammatiry syndrome in children ภายหลังจากที่เพจ Infectious ง่ายนิดเดียว ได้โพสต์กรณีที่พบผู้ป่วยโควิด-19 ในเด็กจำนวนมากซึ่งมีอาการที่รุนแรงและอักเสบในหลายระบบทั่วร่างกาย
ประเด็น "โควิด-19" ทำความรู้จักภาวะ MIS-C (มิสซี) Multisystem infammatiry syndrome in children ภายหลังจากที่เพจ Infectious ง่ายนิดเดียว ได้โพสต์กรณีที่พบผู้ป่วยโควิด-19 ในเด็กจำนวนมากซึ่งมีอาการที่รุนแรงและอักเสบในหลายระบบทั่วร่างกาย ตามที่นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "โควิด-19" หมอเจอภาวะมิสซีในเด็กเพียบ อักเสบทั่วร่างกาย
- ช่วงเวลาที่เด็กจะเกิดภาวะ MIS-C (มิสซี) หลังติดโควิด19
- ยอด โควิด-19 วันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 14,053 ราย ตาย 129 ราย ATK อีก 12,233 ราย
Multisystem Inflammatory Syndrome in Children (MIS-C) คือ กลุ่มอาการอักเสบหลายระบบที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังเด็กหายจากการติดเชื้อโควิด-19 เริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ระยะหายจากโรคจนถึงหลังติดเชื้อ 2-6 สัปดาห์ สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้มากเกินไป
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า กลุ่มอาการ MIS-C (มิสซี) เริ่มมีการรายงานครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2563 ที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นมีรายงานที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง
ภาวะ MIS-C (มิสซี) พบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ อายุโดยเฉลี่ย 8-10 ปี อุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 0.03 ของผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิดทั้งหมด เด็กมักจะมาด้วยอาการไข้สูง ผื่น ปากแดง ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต อาเจียน ถ่ายเหลว บางรายมีหอบเหนื่อย ปอดอักเสบ และมีภาวะช็อคจากการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ
ผู้ป่วยเด็กมากกว่าร้อยละ 50 จำเป็นต้องรักษาในหอผู้ป่วยเด็กวิกฤตเนื่องจากภาวะช็อค ภาวะนี้ มีอันตรายถึงชีวิตได้ อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3 สามารถรักษาด้วยการให้อิมมูโนกลอบูลินและสเตียรอยด์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักตอบสนองต่อการรักษาดี ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีพบผู้ป่วยที่มาด้วยภาวะนี้จำนวน 15 คน ซึ่งยังไม่พบผู้เสียชีวิต แต่ยังต้องติดตามการรักษาต่อเนื่องโดยพบว่าร้อยละ 7-14 ยังมีการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ
นอกจากนี้ทางสถาบันฯ ยังมีโครงการตรวจติดตามผู้ป่วยเด็กติดเชื้อโควิดที่เข้ารับการรักษาที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีเป็นระยะๆ เพื่อเฝ้าระวังภาวะ Long COVID (ลองโควิด) จากการติดตามในทุกระบบของร่างกายยังไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและสถาบันฯ ยังคงติดตามดูแลเด็กอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ภาวะ Long COVID อ้างอิงจากนิยามองค์การอนามัยโลก ประกาศ ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2564 ระบุว่า เป็นอาการผิดปกติเกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 ส่วนมากตั้งแต่ 3 เดือนนับจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน
โดยอาการเกิดขึ้นได้หลายระบบอย่างต่อเนื่อง หลังได้รับติดเชื้อโควิดนานกว่า 4-12 สัปดาห์และอาการที่เกิดขึ้นไม่สามารถ อธิบายได้ด้วยการวินิจฉัยสาเหตุอื่นๆ ในเด็กพบภาวะนี้เพียงร้อยละ 25-45 ซึ่งระบบที่พบ ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน เป็นต้น ภาวะเหล่านี้มักไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง อาการจะเป็นๆหายๆได้ การรักษาโรคนี้มักเป็นการแยกโรคที่รุนแรงอื่นและรักษาตามอาการ รวมถึงการติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุและพยาธิสภาพของการเกิดภาวะ Long COVID ที่ชัดเจน มีเพียงสมมติฐาน ที่คาดว่าอาจเกี่ยวข้องกับชิ้นส่วนของเชื้อซึ่งไม่ส่งผลต่อการติดเชื้อแล้วแต่สามารถส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการอักเสบในระบบต่างๆ ของร่างกาย ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้ ยังไม่แน่ชัดมีข้อสังเกตที่พบในหลายๆ การศึกษา อาทิ เพศหญิง อายุมาก ภาวะอ้วน มีโรคประจำตัว มีอาการมากกว่า 5 อาการในช่วง 1 สัปดาห์แรก ของการเจ็บป่วย และความรุนแรงของโรคมากในระยะแรกเป็นต้น
ความชุกของอาการผิดปกติต่างๆ ในภาวะ Long COVID จากผลการศึกษาในต่างประเทศพบหลากหลายตั้งแต่ร้อยละ 14-64 เนื่องจากมีความไม่ชัดเจนของนิยาม ขาดองค์ความรู้ด้านพยาธิสภาพ ปัจจัยเสี่ยง และ การวินิจฉัย รวมทั้งวิธีการประเมินอาการผิดปกติที่แตกต่างกัน
จากการสำรวจผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 ของกรมการแพทย์ ผ่านทางเว็บไซต์กรมการแพทย์ ซึ่งเป็นข้อมูลในผู้ใหญ่ พบว่าอาการ long covid ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง อาการที่พบบ่อย 10 อันดับแรก ได้แก่
- อ่อนเพลีย
- หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- ไอ
- นอนไม่หลับ
- ปวดศีรษะ
- ผมร่วง
- เวียนศีรษะ
- วิตกกังวล/เครียด
- ความจำสั้น
- เจ็บหน้าอก
ข้อมูลจาก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี