นิพนธ์ นั่งหัวโต๊ะ ถกแก้ปัญหาที่ดินโคกไร่ 4,600 ไร่ หลังยืดเยื้อมาร่วม 50 ปี
"นิพนธ์" นั่งหัวโต๊ะ เชิญทุกฝ่ายร่วมแก้ปัญหาที่ดิน "โคกไร่" กว่า 4,600 ไร่ หลังมีข้อพิพาทยืดเยื้อมายาวนานร่วม 50 ปี
วันที่ 30 เมษายน 2565 เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายโสภณ ทองดีอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายวรณัฐ หนูรอด รองผวจ.สงขลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมเพื่อหาทางออกกรณีปัญหาพิพาทเรื่อง ที่ดินแปลงโคกไร่ ตำบลพะวง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา จำนวนกว่า 4,600 ไร่ ที่ยืดเยื้อมาอย่างยาวนานกว่า 7 ปี
สืบเนื่องจากที่ดินดังกล่าวนั้นเป็นที่ดินซึ่งมีพระราชกฤษฎีกา เมื่อ พ.ศ.2518 เพื่อถอนสภาพที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน และมีการเพิกถอนโฉนด น.ส.3 น.ส.3 ก. และเอกสารสิทธิต่าง ๆ ในที่ดินแปลงดังกล่าวนำที่ดินมาจัดสรรโดยมีเนื้อที่ประมาณ 4,625 ไร่
นายนิพนธ์ บุญญามณี เปิดเผยว่า ที่ดินแปลงโคกไร่มีประวัติศาตร์การพิพาทมาอย่างยาวนานมาก เริ่มตั้งแต่ประกาศให้ที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณะ พ.ศ.2487 และนำมาสู่ขั้นตอนเพิกถอนที่สาธารณะและนำไปสู่การจัดสรรให้กับพี่น้องที่มีอาชีพประมงการดักโพงพางในทะเลสาบสงขลาจัดสรรเป็นที่ทำกินให้ ต่อมาก็มีปัญหาไม่สามารถที่จะบริหารจัดการได้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้
วันนี้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยท่านอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มาร่วมประชุมหาทางออกร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมที่ดิน กรมธนารักษ์ เป็นต้น มาประชุมหารือกันเพื่อหาทางแก้ไข เพื่อให้พื้นที่ 4 พันกว่าไร่นี้ ได้ดำเนินการได้ถูกต้องตามกฎหมาย
สิ่งสำคัญคือเมื่อปี พ.ศ.2530 กรมทรัพยากรชายฝั่งทางทะเลได้ประกาศเขตนี้ให้เป็นเขตป่าชายเลนทำให้ปัญหานี้ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น วันนี้ข้อสรุปทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าให้นำโครงการ คทช.มาปรับใช้ เนื่องจากปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนทั้งหมดแล้ว
ส่วนที่เป็นสภาพป่าชายเลนนั้นยังมีบ้างเล็กน้อยที่ปรากฏริมน้ำริมทะเล และในส่วนนี้จะทำอย่างไรให้ประชาชนอยู่อาศัยได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ก็สามารถที่จะจัดงบประมาณเข้าไปพัฒนาพื้นที่ได้และไม่ต้องหวาดระแวงว่าเมื่อไหร่เจ้าหน้าที่จะมาจับกุมหรือฟ้องร้อง
ซึ่งหลังจากนี้จะต้องมีการดำเนินการสำรวจรังวัดที่ดินที่อยู่อาศัยทำกินให้ถูกต้อง พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจกับประชาชน ทั้งกระบวนการทำประชาคมรับฟังความคิดเห็น และการลงพื้นที่สร้างความเข้าใจในพื้นที่ ซึ่งมั่นใจว่าหลังจากนี้ก็จะเห็นความชัดเจนของการแก้ไขปัญหายืดเยื้อมากขึ้นตามลำดับ