ยาเสียสาว Alprazolam กับความเชื่อผิดๆ ชี้ไม่ได้มีฤทธิ์กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ
หมออั้ม อิราวัต อารีกิจ (นายแพทย์อิราวัต อารีกิจ) โพสต์เฟซบุ๊กประเด็นเรื่องยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) หรือ "ยาเสียสาว" กับความเชื่อผิดๆ ชี้ไม่ควรเรียกแบบนี้ และยาตัวนี้ไม่ได้มีฤทธิ์กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ
หมออั้ม อิราวัต อารีกิจ (นายแพทย์อิราวัต อารีกิจ) โพสต์เฟซบุ๊กประเด็นเรื่องยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) หรือ "ยาเสียสาว" กับความเชื่อผิดๆ ชี้ไม่ควรเรียกแบบนี้ เนื่องจากจริงๆแล้วยาชนิดนี้เป็นยารักษาอาการวิตกกังวล อาการแพนิค หรือ ตื่นตระหนก รวมไปถึง โรคซึมเศร้า
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รู้จัก "ยาเสียสาว" (Alprazolam) ระวังตัวเองอย่างไร ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ
- คืบหน้าคดี “แตงโม นิดา” พบ “ยาเสียสาว” ในพยานบุคคลบนเรือ 1 ราย
ซึ่ง หมออั้ม ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า อ่านข่าวแล้วงงๆ เรื่องยา Alprazolam ซึ่งชื่อทางการค้ายี่ห้อที่คุ้นหูสุด คือ Xanax ประเด็นอยู่ที่สื่อเล่นคำว่าเป็น "ยาเสียสาว" หรือยาเสียตัว จนกลายเป็นความเชื่อผิดๆ
จริงๆแล้ว มันเป็นยารักษาอาการวิตกกังวล อาการแพนิค (ตื่นตระหนก) รวมไปถึง โรคซึมเศร้า บางครั้งใช้เป็น ยานอนหลับ ในกรณีที่จำเป็น โดยตัวยาจะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น
และแน่นอนครับ ว่ายาในกลุ่มนี้ ไม่ได้มีฤทธิ์กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ผู้ใช้หากรับประทานเองก็จะมีอาการง่วงซึมและเป็นยาอันตรายหากทานร่วมกับยาอื่นๆ โดยเฉพาะหากใช้ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแม้แต่การใช้ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่นๆ
การใช้ในทางอาชญากรรมกับบุคคลอื่น ใช้เพื่อหวังผลให้ผู้อื่น ง่วง หลับ ซึม เบลอ หรือตื่นมาพร้อมกับความทรงจำระยะสั้นที่หายไปเพื่อก่ออาชญากรรมในทรัพย์สินและร่างกาย
กรณีที่เป็นข่าวดังในขณะนี้ หากเป็นการตรวจ ณ วันเกิดเหตุ หากร่างผู้เสียชีวิต ไม่มี Alprazolam ในร่างกาย โอกาสจะเป็นอาชญากรรมในประเด็นเรื่องยาก็จะน้อยลงในมุมของการมอมยา เพราะแค่ตรวจพบในร่างกายผู้ต้องหามันบอกอะไรไม่ได้มาก บอกได้แค่ว่า มีการใช้ยา และแน่นอนว่าใช้กับตัวเขาเอง ด้วยเหตุผลอื่นๆ แต่หากเป็นกรณีตรวจพบยา ในร่างผู้เสียชีวิตจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่พลิกคดีได้ และแน่นอนว่าผลจะคลาดเคลื่อนสูงหากไม่ได้รับการตรวจแบบทันท่วงที