"อนุชา" ย้ำ เอาผิด "หมอปลา" ซัดคนที่ทำให้ผ้าเหลืองถูกมองไม่ดี จิตไม่ปกติ
"อนุชา" บอก ต้องดำเนินคดี “หมอปลา” ตามกฎหมาย เผย พระเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้า ดูแลพระพุทธศาสนามา 2500 ปี ไม่ต้องพึ่งใครคนใดคนหนึ่ง ซัดคนทำจิตไม่ปกติ
17 พ.ค.2565 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักพระพุทธศาสนา กล่าวถึงถึงข้อพิพาทระหว่างฆราวาสกับสงฆ์ ว่า อยู่ระหว่างให้สำนักพุทธดำเนินการในส่วนที่จำเป็น และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมานานแล้วตั้งแต่เริ่มต้นที่มีเรื่อง แต่ไม่ได้ออกข่าว
ส่วนข้อกังขาเรื่องความศรัทธาพระสงฆ์นั้น นายอนุชา กล่าวว่า พระพุทธศาสนา มีมา 2500 ปี ศาสนาพุทธไม่ต้องพึ่งคนใดคนหนึ่งมาบริหารจัดการองค์กรพุทธ เรามีพระที่เป็นตัวแทนพระพุทธเจ้าดูแลมาตลอด คงไม่ต้องพึ่งพาบุคคลใด ว่าจะมาดูแลศาสนา
"การกระทำดูเหมือนดี แต่ทำให้คนมองผ้าเหลือง มองศาสนาไปอีกแบบ การกระทำเช่นนี้ทำถูกแล้วหรือไม่ ระยะยาวทำไม่ถูกแน่นอน โดยผู้ที่ทำนั้นมีจิตใจไม่ปกติ"
ซึ่งกรณีของ นายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือ หมอปลาให้เป็นไปตามกฎหมาย อะไรที่นักกฎหมายบอกว่ายอมไม่ได้ เป็นอาญาแผ่นดิน ก็ต้องเป็นเช่นนั้น ซึ่งสำนักพุทธและส่วนที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการ
นายอนุชา ย้ำว่า ไม่ใช่สำนักพุทธฯ ไม่เข้มแข็งในการที่จะตรวจตรากวดขันพระ ซึ่งทำมาตลอด ซึ่งมีมติของมหาเถรสมาคมให้ดูแลเป็นลำดับชั้น มีความรับผิดชอบ และต้องตั้งบทลงโทษของพระแต่ละลำดับชั้น ยอมรับว่าหลายอย่างเรื่องฝ่ายสงฆ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราทำแล้วจำเป็นต้องบอกหรือ
โดยความเชื่อความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนยังคงมีอยู่ในสังคม ส่วนที่ไม่เชื่อหรือไม่ศรัทธาก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่คำสั่งสอนพระพุทธเจ้ามีมาตั้งแต่อดีต ว่าคนอวดอุตริเท่านั้น ดังนั้นมีเรื่องความศรัทธา ความจริงในอดีต ไม่ใช่ว่าเราจะให้บุคคลใดมีมาบริหารจัดการ ตนคิดว่าไม่ถูก
ส่วนการชี้แจงที่ดูเหมือนล่าช้านั้น นายอนุชา บอกว่า การชี้แจงต้องเข้าใจว่าปัจจุบันเป็นโลกแห่งการสื่อสารจำนวนมาก ไม่อยากเห็นความแตกแยกอยากเห็นในสังคมมากไปกว่านี้ อย่างตนก็เป็นฆราวาส พูดมากไปจะเท่ากับว่าฆราวาสมาวิเคราะห์วิจารณ์เสียเอง ก็คิดว่าไม่ถูกต้อง ต้องรอให้บางอย่างมันปรากฏในเรื่องความเชื่อความศรัทธา
ส่วนที่กรรมาธิการศาสนาฯ ที่มีมติเสนอ 4 ร่าง มาที่ ครม. เรื่องคดีอาญาระหว่างพระสงฆ์กับสีกาด้วยนั้น นายอนุชา กล่าวว่า จะต้องมีการพูดคุยกัน ขณะนี้ยังไม่อยากให้ลงลึกไปมาก ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยแต่ต้องมีการพูดคุยกันในวงกว้างก่อน ไม่ใช่ว่าอะไรที่คิดว่าแก้ไขเฉพาะเกิดเรื่องขึ้นเท่านั้น บางครั้งอยู่ที่หลักการของประเทศที่จะลงมติตัดสินใจด้วย ต้องมีจุดยืน มีความเข้มแข็ง ไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยนจุดยืนประเทศได้
และตนมีความอดทนอดกลั้น ยิ่งพูดยิ่งเป็นประเด็นในเรื่องการศาสนา ไม่ต้องการให้พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นเสาหลักของชาติสั่นคลอน รับรองได้เลยว่าเรื่องนี้อยู่ในใจของตนแน่นอน อาจจะเหลืออดอยู่หลายครั้งแต่ก็ต้องอดทนอยู่ในใจ