1 มิ.ย.นี้ บังคับใช้ก.ม. "PDPA" หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562
กฎหมาย "PDPA" หรือ "พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562" จะบังคับใช้วันที่ 1 มิ.ย.2565 หลังเลื่อนมาแล้ว 2 ปี
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก รัชดา ธนาดิเรก - รองโฆษกรัฐบาล ระบุว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แจ้ง "พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562" หรือ "PDPA" จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 หลังจากเลื่อนการประกาศใช้มาแล้ว 2 ปี
กฎหมาย "PDPA" ฉบับนี้มีหลักสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกนำไปใช้อย่างเป็นธรรม โปร่งใส และได้รับการดูแลมิให้มีการนำข้อมูลไปใช้งานในทางที่ผิด โดยกำหนดให้การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลใด จะต้องมีการขออนุญาตจากเจ้าของข้อมูลหรือตามที่มีการบัญญัติไว้ในกฎหมาย และต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการนำข้อมูลไปใช้และต้องใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการให้สิทธิเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล สามารถขอให้เปลี่ยนแปลง แก้ไข ขอสำเนา ขอให้ลบได้ หากไม่ขัดกับหลักการหรือข้อกฎหมายใด ๆ และองค์กรที่ได้ข้อมูลส่วนบุคคลมาต้องมีมาตรการและมาตรฐานในการบริหารจัดการดูแลข้อมูลเหล่านี้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย
ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กำลังอยู่ระหว่างการทำโครงการแพลตฟอร์มภาครัฐ เพื่อรองรับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล คาดว่าจะเสร็จภายในปีนี้ และจะเป็นแพลตฟอร์มนำร่องที่เอกชนสามารถนำไปเป็นต้นแบบในการใช้งานได้
ระบบปฏิบัติงานทั้งสิ้น 4 ระบบ ประกอบด้วย
1.ระบบบันทึกรายการกิจกรรมการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล (Record of Processing Activities Platform)
2.ระบบบริหารจัดการความยินยอม (Consent Management Platform) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการความยินยอมของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
3.ระบบจัดการการใช้สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject Access Request Platform)
4.ระบบจัดการการแจ้งเหตุละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (Data Breach Notification Platform)
ซึ่งสามารถแจ้งเหตุละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) ภายใน 72 ชั่วโมง