6 จว.ภาคใต้ เฝ้าระวัง-รับมือสถานการณ์คลื่นลมแรง ถึง 2 มิ.ย. 65
ปภ. เน้นย้ำ 6 จังหวัดภาคใต้เฝ้าระวัง-รับมือสถานการณ์คลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 30 พ.ค. – 2 มิ.ย.65
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 65 กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 8 (129/2565) ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามัน มีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร โดยมี 6 จังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ผลกระทบจากคลื่นลมแรงในภาคใต้ช่วงวันที่ 30 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2565 ดังนี้
- ระนอง 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองระนอง อำเภอสุขสำราญ และอำเภอกะเปอร์
- พังงา 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพังงา อำเภอเกาะยาว อำเภอทับปุด อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วป่า และอำเภอคุระบุรี
- ภูเก็ต 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอกะทู้ และอำเภอถลาง
- กระบี่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอคลองท่อม อำเภอเกาะลันตา อำเภอเหนือคลอง และอำเภออ่าวลึก
- ตรัง 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอกันตัง อำเภอสิเกา อำเภอปะเหลียน และอำเภอหาดสำราญ
- สตูล 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสตูล อำเภอละงู อำเภอมะนัง และอำเภอทุ่งหว้า
กอปภ.ก. โดย ปภ. จึงได้แจ้งเน้นย้ำไปยัง 6 จังหวัด และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา และเขต18 ภูเก็ต ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์คลื่นลมแรงระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2565 โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ชาวประมง และผู้ประกอบกิจการเดินเรือ รวมถึงนำเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย
สำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะห้ามลงเล่นน้ำและประกอบกิจกรรมทางทะเลในช่วงที่คลื่นลมแรง เพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือเป็นพิเศษ นำเรือเข้าที่กำบังเมื่อมีแนวโน้มเกิดคลื่นลมแรง และห้ามเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและคลื่นลมแรง
ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และแอปพลิเคชัน “พ้นภัย” รวมถึงสายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป