วันงดสูบบุหรี่โลก วอนอย่าทิ้งก้นบุหรี่มั่วซั่วหวั่นสารเคมีปนเปื้อนลงดิน
"วันงดสูบบุหรี่โลก" 31 พฤษภาคม พิษภัยของบุหรี่กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แพทย์ชี้น่ากังวล "ก้นบุหรี่" นอกจากจะมีส่วนผสมของพลาสติกที่ย่อยสลายยากแล้ว ยังมีสารเคมีกว่า 4,000 ชนิดปนเปื้อนลงสู่ดินได้ โดย 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง
"วันงดสูบบุหรี่โลก" (World No Tobacco Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดย องค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อให้เห็นอันตรายของบุหรี่ต่อสุขภาพและโทษของบุหรี่
ทั้งนี้ "โทษของบุหรี่" ไม่ใช่แค่เพียงผลต่อสุขภาพร่างกายเท่านั้น แต่ข้อมูลจากหลายฝ่ายทำให้พบว่ากระบวนการที่เกี่ยวข้องกับ "บุหรี่" ในทุกขั้นตอนยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย นั่นหมายความว่าไม่เพียงแต่ผู้สูบบุหรี่เท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่คนรอบข้าง สังคมโดยรวมก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดสัมมนาภาคีเครือข่าย ในหัวข้อ "บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม" เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากยาสูบ ด้วยการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากวงจรการปลูก การผลิต การจัดจำหน่ายยาสูบ ของเสีย และขยะที่เกิดจากการสูบบุหรี่
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่โลก กล่าวว่า ปีนี้พิเศษกว่าทุกปีที่ผ่านมา เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลกได้กำหนดประเด็นรณรงค์เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากยาสูบขึ้นมารณรงค์ เมื่อที่ผ่านมาจะเน้นหนักไปทางสุขภาพต่อตัวผู้สูบและคนรอบข้าง รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในความเป็นจริงๆ แล้วยาสูบสร้างความเสียหายมากกว่าที่คิดโดยเฉพาะขยะก้นบุหรี่
และถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่หลายหน่วยงามเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ที่มีการออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่บนพื้นที่ชายหาด หลังจากในต่างประเทศได้มีการห้ามมานานแล้ว เช่น ประเทศอเมริกาที่มีห้ามกว่าครึ่งและในเดือนกรกฎาคมนี้ สเปนจะเป็นประเทศแรกในยุโรปที่มีการห้ามสูบบุหรี่ที่ชายหาดทั่วประเทศ
แพทย์หญิงโอลิเวีย นีเวอราส ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องจากบุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกต้นยาสูบ การผลิต จัดจำหน่าย การสูบ และขยะจากบุหรี่ ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งแก่สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ โดยมีการประมาณการว่าความสูญเสียทางสุขภาพและเศรษฐกิจที่เกิดจากการสูบบุหรี่นั้น มีมูลค่าสูงถึง 3.5 แสนล้านบาทต่อปี เทียบเท่ากับร้อยละ 2.1 ของ GPD
ทั้งนี้ ก้นบุหรี่ที่มีส่วนผสมของพลาสติกที่ย่อยสลายยากแล้ว ยังมีสารเคมีกว่า 4,000 ชนิดปนเปื้อนลงสู่ดิน โดย 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง
ในแต่ละปีบุหรี่ประมาณ 4.5 ล้านล้านมวนถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อม จัดเป็นขยะที่ถูกทิ้งมากที่สุดและเป็นขยะที่พบบ่อยที่สุดบนชายหาด และในแต่ละปีพื้นที่ประมาณ 1.25 ล้านไร่ทั่วโลกถูกแผ้วถางเพื่อการเพาะปลูกและบ่มใบยาสูบ ดังนั้นมาตรการควบคุมการสูบบุหรี่จึงดีต่อทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมจากยาสูบนั้น ทำให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ดิน น้ำ และอากาศเสื่อมโทรม
"ยาสูบผลิตขยะพลาสติก และขยะพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพจากตัวกรอง บรรจุภัณฑ์ รวมถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขยะเหล่านี้มีส่วนทำให้นกทะเล 1 ล้านตัว และสัตว์ทะเล 100,000 ตัว ตายจากมลพิษพลาสติกทุกปี จึงอยากเรียกร้องไม่ให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายในประเทศไทย เพราะจากการสำรวจแค่ไฮสคูลที่เดียวก็พบว่าสร้างขยะเกลื่อนกลาด
จากการสำรวจพฤติกรรมการทิ้งขยะยังพบว่า ประมาณร้อยละ 65 ของผู้สูบบุหรี่ทิ้งก้นบุหรี่อย่างไม่เหมาะสม เช่น บนทางเท้า ชายหาด ฯลฯ
ก้นบุหรี่ ซึ่งเป็นเศษของตัวกรองบุหรี่พลาสติกเป็นรูปแบบของขยะยาสูบที่มีสารก่อมลพิษและเป็นพิษอันดับต้นๆ ที่พบในแหล่งน้ำต่างๆ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการย่อยสลาย โดยขยะจากก้นบุหรี่ประมาณ 2.5 พันล้านชิ้นต่อปีถูกพบในประเทศไทย ในขั้นตอนการเพาะปลูกยาสูบเพียงอย่างเดียวต้องใช้น้ำในปริมาณเท่ากับคนหนึ่งคนใช้น้ำตลอดทั้งปี
วัฏจักรทั้งหมดของบุหรี่ 1 มวนนับตั้งแต่การปลูก การผลิต การกระจายผลิตภัณฑ์ การใช้และการกำจัดนั้น จะต้องใช้น้ำประมาณ 3.7 ลิตร ดังนั้นหากผู้สูบบุหรี่ปกติทั่วไปเลิกสูบบุหรี่ จะสามารถประหยัดน้ำได้มากถึง 74 ลิตรต่อวัน" ดร.เนาวรัตน์ กล่าวในตอนท้าย