ผลติดตาม 6 โครงการ แผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์
สศก.เผยผลติดตาม 6 โครงการ ในรอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) แผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ ภายใต้แผนแม่บทประเด็นการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งแผนแม่บทย่อยเกษตรชีวภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเกษตรชีวภาพไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร ประกอบด้วย 6 โครงการ ได้แก่
1) โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพร
2) โครงการสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์
3) โครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรเศรษฐกิจชีวภาพตามความต้องการของตลาด
4) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแมลงเศรษฐกิจ
5) โครงการผลิตและขยายสัตว์น้ำพันธุ์ดี กระจายพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำพันธุ์ดีสู่ภาคการผลิต
และ 6) โครงการศึกษาวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจของการนำผลพลอยได้และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องและพลังงานทางเลือก
โดยทั้ง 6 โครงการ เป็นการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมประมง และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ซึ่งจากการติดตามผลการดำเนินงานของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในรอบ 6 เดือน (ตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) ภาพรวมทั้ง 6 โครงการ ดำเนินการแล้ว ร้อยละ 42 ของเป้าหมาย โดยมีการปรับแผนการดำเนินงาน เช่น ใช้วิธีการจัดอบรมด้วยสื่อออนไลน์ให้แก่เกษตรกรมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19
ด้าน ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการ สศก. กล่าวในรายละเอียดของผลการดำเนินโครงการ ว่าสำหรับโครงการที่สามารถดำเนินการไปได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแมลงเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และศึกษาดูงานให้เกษตรกรในการผลิตแมลงเศรษฐกิจได้ 560 ราย คิดเป็นร้อยละ 93 ของเป้าหมาย 600 ราย มีการจัดทำจุดเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าการผลิตแมลงเศรษฐกิจ 4 ศูนย์ คิดเป็นร้อยละ 80 ของเป้าหมาย 5 ศูนย์ โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสมุนไพร ซึ่งดำเนินการพัฒนาความรู้และศักยภาพเกษตรกรบริหารจัดการการผลิตพืชสมุนไพร รวม 960 ราย คิดเป็นร้อยละ 86 ของเป้าหมาย 1,110 ราย
และ โครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรเศรษฐกิจชีวภาพตามความต้องการของตลาด ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลสมุนไพรและแผนการผลิตตามความต้องการตลาด 28 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 88 ของเป้าหมาย 32 จังหวัด ก่อสร้างโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ต้นทุนต่ำในเขตปฏิรูปที่ดิน 34 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 85 ของเป้าหมาย 40 แห่ง และการฝึกอบรมหลักสูตรการใช้ประโยชน์และการดูแลรักษาโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ต้นทุนต่ำ 151 ราย คิดเป็นร้อยละ 101 ของเป้าหมาย 150 ราย
ขณะที่ อีก 3 โครงการจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 เนื่องจากบางกิจกรรมต้องใช้ระยะเวลาในการเพาะขยายพันธุ์ กระจายพันธุ์ให้อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ประกอบด้วย โครงการผลิตและขยายสัตว์น้ำพันธุ์ดี ขณะนี้ ได้ผลิตพันธุ์สัตว์น้ำพันธุ์หลัก และพ่อแม่พันธุ์ขยายแล้วจำนวน 487,600 ตัว คิดเป็นร้อยละ 36 ของเป้าหมาย 1,339,000 ตัว และผลิตและสนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำพันธุ์ดี ให้แก่เกษตรกร 401,400 ตัว คิดเป็นร้อยละ 33 ของเป้าหมาย 1,207,200 ตัว โครงการสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรชีวภาพสู่เชิงพาณิชย์ ดำเนินการกระจายพันธุ์พืชสมุนไพร 12,303 ต้น/กิโลกรัม/หัว คิดเป็นร้อยละ 40 ของเป้าหมาย 30,526 ต้น/กิโลกรัม/หัว และโครงการศึกษาวิเคราะห์เชิงเศรษฐกิจของการนำผลพลอยได้และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องและพลังงานทางเลือก ซึ่งดำเนินการโดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ของ สศก. มีดำเนินการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลงานวิจัยในพื้นที่แล้วร้อยละ 57 ทั้งนี้ สศก. มีแผนจะลงพื้นที่ในเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม 2565 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พิ้นที่จังหวัด ศรีสะเกษ และภาคกลาง พื้นที่จังหวัดนครนายก สระบุรี ปทุมธานี เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง