แจงปม "ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ" ปภ.เผยแผนติดตั้งตัวใหม่ได้ในเดือน พ.ย.นี้
ปภ. เผยแผนติดตั้ง "ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ" ตัวใหม่ในมหาสมุทรอินเดีย คาดเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ ติดตั้งได้ ทดแทนตัวเก่าที่หลุดจากตำแหน่ง
วันที่ 10 มิถุนายน 2565 เมื่อเวลา 16.00 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เผยถึงกรณี "ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ" ของประเทศไทยหลุดจากตำแหน่งที่ติดตั้ง ระบุว่า
ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ (ศภช.ปภ.) ได้ติดตั้ง "ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ" จำนวน 2 ทุ่น ในมหาสมุทรอินเดีย และทะเลอันดามัน
โดย ทุ่นที่ 1 (ทุ่นตัวไกล) เป็นทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย สถานี 23401 ติดตั้งห่างจากเกาะภูเก็ตไปทางทิศตะวันตก เป็นระยะทาง 965 กิโลเมตร ซึ่งทุ่นตรวจวัดนี้ได้หลุดจากตำแหน่งติดตั้งไปเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 และได้ติดตามพบ สามารถเก็บกู้ได้ พบความเสียหายจึงได้ประสานฝากไว้ที่ประเทศอินเดีย
สำหรับทุ่นตัวใหม่ขณะนี้อยู่ระหว่างการผลิต และมีกำหนดส่งถึงประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2565 นี้ โดยจะนำออกไปติดตั้งทดแทนในมหาสมุทรอินเดียได้ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เนื่องจากต้องรอสภาพอากาศในมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามันไม่ให้เป็นอุปสรรคในการติดตั้งและมีความปลอดภัย
สำหรับ ทุ่นที่ 2 (ทุ่นตัวใกล้) เป็นทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิในทะเลอันดามัน สถานี 23461 ได้ติดตั้งห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 340 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบระบบระบุตำแหน่ง (Global Positioning System : GPS) พบว่าทุ่นได้หลุดลอยออกจากตำแหน่งรัศมีการติดตั้ง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประสานการเก็บกู้ และจะได้นำทุ่นตัวใหม่ไปติดตั้งทุ่นทดแทนพร้อมกับทุ่นตัวที่ 1
กรณีที่ "ทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิ" หลุดจากตำแหน่งนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสึนามิของประเทศไทยยังคงดำเนินการได้ เนื่องจากการติดตามเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัยการเกิดสึนามิของประเทศไทยนั้นเป็นการใช้และประมวลข้อมูลจากหลายฐาน
โดยข้อมูลจากทุ่นสึนามิของไทยเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลที่ใช้ร่วมกับข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญทั้งภายในและต่างประเทศ ได้แก่ หน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ข้อมูลสถานีวัดระดับน้ำทะเลจากเว็บไซต์ของ The Intergovernmental Oceanographic Commission : IOC เป็นต้น โดยเฉพาะข้อมูลระดับน้ำจากสถานีวัดระดับน้ำทะเลของประเทศอินเดีย ประเทศอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ยังใช้ข้อมูลจากติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลบริเวณสถานีเกาะเมียง จังหวัดพังงาของกรม อุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถานีเกาะราชาน้อย จังหวัดภูเก็ต ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้จะนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์กับแบบจำลองการเกิดสึนามิของประเทศไทยที่ได้ออกแบบไว้ล่วงหน้า เพื่อชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสึนามิที่แสดงข้อมูลเชิงลึกได้ถึงพื้นที่ ช่วงเวลาในการเกิดคลื่นสึนามิ และความเร็วของคลื่นที่จะเข้าสู่ฝั่ง
ในกรณีที่ทุ่นสึนามิของประเทศไทยหลุดออกจากตำแหน่งหรือกรณีไม่ส่งสัญญาณนั้น จะมีผลทำให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ปภ.ไม่ได้รับข้อมูลโดยตรงจากทุ่นสึนามิของไทย แต่ในขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อแจ้งเตือนภัยสึนามิของประเทศไทยจะมีการส่งสัญญานแจ้งเตือนภัยไปยังพื้นที่ในจังหวัดที่มีความเสี่ยงภัย เมื่อได้รับแจ้งข้อมูลยืนยันจากการประมวลผลข้อมูลตามแบบจำลองการวิเคราะห์และของผู้เชี่ยวชาญจาก NOAA แล้ว โดยในการวิเคราะห์ประมวลผลของ NOAA จะเป็นวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากอุปกรณ์เครื่องมือของเครือข่ายจากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิก NOAA ในเรื่องสึนามิอยู่ ดังนั้นการปฏิบัติในขั้นตอนนี้จึงยังคงดำเนินการได้ตามปกติ
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังคงปฏิบัติภารกิจการติดตาม เฝ้าระวัง และแจ้งเตือนสึนามิตามระเบียบปฏิบัติประจำ (Standard Operating Procedure : SOP) ด้านการแจ้งเตือนภัยสึนามิฝั่งอันดามันอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์