ห่วง! อาม่าถูกคอลฯหลอกสูญเงิน11ล้าน เผยมีเหยื่อแชร์ลูกโซ่อีกนับล้าน
"สามารถ" เป็นห่วง อาม่าถูกคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงสูญเงิน11ล้าน ยังไม่นับรวมถึงเหยื่อแชร์ลูกโซ่อีกนับล้านที่สูญเงินรอคอยความยุติธรรมอยู่ หยิบยกกฏหมายตราสามดวง ทำไมคนโบราณถึงไม่ถูกปล้นทรัพย์ เพราะกฏหมายแรง
วันนี้ 17 มิ.ย. 65 นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ชื่อ สามารถ เจนชัยจิตรวนิช แสดงความเห็นเกี่ยวกับการหลอกลวงฉ้อโกงประชาชนในปัจจุบันทำไมถึงมีมากขึ้น ในอดีตมีการหลอกลวงแบบนี้มั้ย โดยนายสามารถได้โพสต์ข้อความ ว่า
วันนี้ระหว่างฟังประชุมสภา เรื่อง พ.ร.บ.ตำรวจ ก็ได้เห็นพ่อแม่พี่น้องประชาชนส่งข้อความการหลอกลวง callcenter ล่าสุดอาม่า โดนหลอกลวงไป 11 ล้าน ถึงขั้นหมดตัวกันเลยทีเดียว เงินเก็บที่หามาทั้งชีวิต ส่วนตัวผมเองก็เจอวันนี้บอกมาจาก กสทช สุดท้ายมิจฉาชีพพูดไทยชัดเจน แต่พูดผิดสคริปต์ก็วางหูไปเองเลย ทำให้ผมเห็นใจผู้เสียหายอีกนับล้านคนที่สูญเสียเงินไป อย่างคดียูฟัน ผ่านไป 8 ปี ยังไม่ได้เงินคืน คดีตะเกียงน้ำมันฯ ตั้งแต่ปี 55 สมัยรัฐบาลนายกฯปู จนตอนนี้ก็ยังไม่ได้คืน เพราะติดข้อกฏหมายที่เอื้อโจร ผมเลยหยิบหนังสือประวัติศาสตร์สมัยอยุธยามาดูว่า สมัยก่อนมีการ ปล้น ลักทรัพย์ หรือ มีโจรมั้ย ผมก็ไปเห็นถึงโทษตามกโหมายพระอัยการกบฏศึก โดยมีโทษ “ทวะดึงษกรรมกร 32 ประการ” ตามกฎหมายพระอัยการกบฏศึก ที่แยกขาดออกมาอีก 11 สถาน เป็นข้อกําหนดที่เกี่ยวกับ โทษสําหรับผู้กระทําผิดพระราชอาญา เป็นโจร ลักทรัพย์ โดย สรุปคือเป็นโทษที่ทําความเดือดร้อนให้ชาวบ้านชาวเมืองนั่นเอง ซึ่งต่างจากโทษ 21 สถานที่ทําความเดือดร้อนให้แผ่นดิน จะเห็นได้ว่า โทษ 11 สถานเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของชาวบ้านชาวเมืองในสมัยนั้น
โดยการลงโทษ 11 สถานนั้นมีดังนี้ 1.ให้ทวนด้วยหวาย 2. ให้ตัดนิ้ว 3. ให้ตัดเท้าทังสองข้าง 4. ตัดมือสองข้าง เท้าสองข้าง 5. ให้ตัดหูทังสองข้าง 6. ตัดจะหมูกเสีย 7. ตัดหูทังสองข้าง ตัดจะหมูก 4. ตัดปากแหวะปากเสีย 4. ให้เสียบ (ทั้ง) เป็น 10. ให้ตัดศีศะเสีย 11. ให้จําห้าประการใส่คุกไว้
มาถึงตรงนี้ผมขอหยิบยกคำในหนังสือประวัติศาสตร์มาอธิบายให้เห็นถึงคุก และ ตะรางในสมัยอยุธยา โดยในหนังสือระบุไว้ว่า
"อนึ่งมีคุกสำหรับใส่คนโทษโจรผู้ร้ายปล้นสะดมแปดคุกมีตะรางหน้าคุกสำหรับใส่ลูกเมียผู้ร้ายทุกหน้าคุก ซึ่งโทษเบาเป็นแต่โทษเบดเสฐ ใส่โซ่พวงละเก้าคนสิบคนใช้ทำราชการเมืองที่ีโทษหนักต่อวันพระห้าค่ำแปดค่ำสิบเอ็ดค่ำสิบห้าค่ำ จึงใส่พวงคอละญี่สิบสามสิบคน และเมียผู้ร้ายนั้นใส่กรวนเชือกผูกเอวต่อกันไปผูกติดท้ายพวงคอออกมาเที่ยวขอทานกิน”
ดังนั้นจะเห็นได้จากข้อความดังกล่าวนอกจากจะทำให้เราทราบสภาพของนักโทษในสมัยนั้นแล้ว ยังทำให้เราทราบอีกด้วยว่าคุกกับตะรางเมื่อก่อนนั้นมีความหมายต่างกันคือ คุกใช้สำหรับกักขังนักโทษส่วนตะรางใช้สำหรับขังเมียของนักโทษ
แต่ตะรางดังกล่าวคงจะไม่ได้ไว้ใช้แค่ขังเพียงเมียของนักโทษเท่านั้นแต่ยังคงจะขังญาติพี่น้องของนักโทษด้วยเป็นแน่ เพราะจากหนังสือ “เรื่องกฎหมายเมืองไทย” ได้บัญญัติไว้ว่าถ้าจับ “อ้ายผู้ร้าย” ไม่ได้ก็ให้จับลูกเมีย พ่อแม่ พี่น้อง พ่อตา แม่ยาย พวกพ้องเพื่อนฝูงมาจำแทน โดยถ้าเป็นชายก็ให้ใส่คาไว้ถ้าเป็นหญิงก็ให้ใส่ขื่อไว้
ในพระราชกำหนดเก่าได้บัญญัติไว้ด้วยว่า ถ้าอ้ายผู้ร้ายลักของพระหรือโจรปล้นสะดมลักช้าง ม้า รับเป็นสัตย์ให้ขังคุกไว้และจำ 5 ประการคือ คา, โซ่, ตรวน ร้อยคอและร้อยเท้าจนกว่าจะตาย จะเห็นได้ว่าเท่ากับติดคุกไม่มีวันออกนั่นเอง
นอกจากนี้ยังบัญญัติการลงโทษอีกว่า ถ้าโทษปล้นสะดมครั้งหนึ่งให้ตัดหูข้างหนึ่ง ถ้าครั้งสองให้ตัดหูอีกข้างหนึ่งถ้าครั้งที่สามให้ฆ่าเลย ส่วนโทษเบาลงก็ให้สักหน้าสักอกแล้วให้ติดพวงคือเป็น “คนพวง” จ่ายใช้ราชการในคุก นอกคุกเฉพาะเวลากลางวันส่วนกลางคืนให้จำใส่คุกไว้ แต่โทษปล้นสะดมให้จำคุกไว้ทั้งกลางวันกลางคืนคือ ห้ามไม่ให้พาออกมานอกคุกอย่างเด็ดขาด
ดังนั้น “คนพวง” ที่ทางคุกจ่ายออกมาทำงานนอกคุกบางคนจึงเป็นคนพิการ หูขาด มือขาด หลังลาย เพราะถูกทวน (ตี) ด้วยลวดหนังและผอมโซด้วยความอดอยาก
สำหรับการจ่ายคนพวงออกมาทำงานนั้น ในสมัยอยุธยากรมพระนครบาลใช้ให้ทำนา ทำสวน เลี้ยงช้าง ม้า โค กระบือ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ใช้ให้ทำงานโยธาต่าง ๆ เช่น ทำความสะอาดวัดและถนนหนทาง เป็นต้น แต่คนพวงสมัยหลังนี้มือเท้าไม่ขาดเหมือนสมัยโบราณแล้ว
จะเห็นได้ว่าสมัยโบราณ ใครปล้น ใครโกง จะถูกประจาน ประนาม เอาญาติ พ่อแม่พี่น้อง มาร่วมรับผิดด้วย สุดท้ายติดคุกก็ต้องเอามาทำงานสาธารณะ ผมจึงคิดว่า บางทีในปัจจุบันกฏหมายเบาเกินไป อาชญากรรมก็เลยมากขึ้น ดูอย่างในสมัยก่อนคนน้อย กฏหมายยังแรงให้คนเกรงกลัว แต่ทุกวันนี้คนมีมากแต่บทลงโทษกฏหมายเบาเกินไป
ไม่ว่าจะแชร์ลูกโซ่ ฉ้อโกงประชาชน แกงค์คอลเซ็นเตอร์ ถ้าเจอกฏหมายตราสามดวงเข้าไป ผมคิดว่าคงเลิกหลอกลวงชาวบ้านกันแน่ ผมก็เลยถือโอกาสหยิบยกประวัติศาสตร์มาให้อ่านกัน
โดยผมยังขอย้ำว่าอย่าลืม ที่ใดมีการรวมตัวกัน ที่นั้นจะมีพลัง ที่ใดมีพลัง ที่นั้นจะมีกฏหมาย ที่ใดมีกฏหมายที่นั่นจะมีความยุติธรรม
ถ้าสังคมไทยอยากแก้ปัญหานี้ อาจจะต้องทบทวน เรื่องความรุนแรง ความเกรงกลัวของกฏหมายมาใช้อีกครั้งนึง
"ส่วนตัวผมโดนพวกมิจฉาชีพโทรมาทุกวัน แต่ไม่หลงกล แต่เป็นห่วงบุคคลอื่นที่มีโอกาสโดนหลอกลวงได้ทุกวันเพราะมิจฉาชีพเนียนขึ้น และ กล้ามากขึ้นทุกวัน ถึงเวลาแล้วที่นายกรัฐมนตรีต้องเอาจริงในเรื่องนี้ใครทำไม่ได้ให้เปลี่ยนตัวทันที" นายสามารถ กล่าวทิ้งท้าย