“ชวน” เปิดกิจกรรม “ยุวชนประชาธิปไตย” ปี65 เน้นย้ำเยาวชนมีความซื่อสัตย์
“ชวน” เปิดกิจกรรม “ยุวชนประชาธิปไตย” ปี65 เน้นย้ำเยาวชนมีความซื่อสัตย์ ชี้ปัญหาการทุจริตเป็นอุปสรรคการพัฒนาประเทศ แนะเรียนรู้ประวัติศาตร์ปัญหาในพื้นที่ วันข้างหน้าเผื่อมีโอกาสเป็นผู้นำ
18 มิ.ย.2565 นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดกิจกรรมยุวชนประชาธิปไตยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และปาฐกถาพิเศษ “ประเทศรุ่งเรืองเมื่อบ้านเมืองสุจริต” ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวรายงาน ในการนี้ นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมรับฟัง โดยนายชวน ได้กล่าวเปิดและปาฐกถาพิเศษมีใจความตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความยินดีกับยุวชนประชาธิปไตยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ขอให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญที่ได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนของจังหวัดมาอบรมกิจกรรมยุวชนประชาธิปไตย ซึ่งโครงการดังกล่าวสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้จัดกิจกรรมยุวชนประชาธิปไตย รูปแบบสัมมนาเชิงปฏิบัติการมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2545 - 2562
และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ปรับเป็นการเผยแพร่ความรู้รูปแบบออนไลน์ ในปี 2563 ถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลาดำเนินงาน 21 ปี กิจกรรมยุวชนประชาธิปไตย เมื่อเยาวชนได้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ ขอให้เยาวชนทุกคนเข้มงวดต่อตนเองในด้านความซื่อสัตย์สุจริต ความมีวินัย และการปลูกฝังความดีงาม เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อให้สังคมและประเทศชาติมีอนาคตที่ดี
นายชวน ยังกล่าวต่อว่า เมื่อวานนี้ (17 มิ.ย.) ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... ได้มีสมาชิกรัฐสภาได้กล่าวถึงความเป็นมาของตำรวจที่หลากหลาย ซึ่งต้องยอมรับว่า ทุกกลุ่มอาชีพมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ซึ่งขึ้นอยู่กับที่มาของแต่ละบุคคลที่เกิดความสำนึกและหล่อหลอมมาตั้งแต่เด็ก ปลูกฝังการเรียนรู้ในสิ่งที่ดีๆ ทุกคนเมื่อเติบโตมาย่อมผ่านประสบการณ์ของชีวิต และเมื่อสมัยตนศึกษาเล่าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีโอกาสเข้าฟังการอภิปรายของสมาชิกฯ เส้นทางอาชีพของคนที่เรียนกฎหมายก็จะเลือกเป็นทนายความ เป็นผู้พิพากษา หรือเป็นอัยการ แต่ตนเลือกที่จะเป็นนักการเมือง
และตลอดระยะเวลาที่ตนทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เห็นบ้านเมืองด้วยตาตนเองว่าเป็นอย่างไร ได้เห็นว่าสังคมมีปัญหาอะไร เมื่อวันเวลาผ่านไป ปัญหาสังคมบางอย่างได้รับการแก้ไข แต่ปัญหาที่ยังอยู่จนถึงปัจจุบัน คือปัญหาที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ตนได้เห็นนักการเมืองที่มาจากหลากหลายอาชีพ
หลายท่านเป็นผู้ที่มีความรู้สูง และได้เห็นนักการเมืองหลายท่านทุจริตเลือกตั้ง ซึ่งผลที่ตามมาคือ การบริหารบ้านเมืองไม่สามารถเป็นไปโดยสุจริตได้ เกิดปัญหาอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ปัญหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นเรื่องที่พวกเราทุกคนไม่ควรนิ่งดูดาย ตนจึงก่อตั้งโครงการ “บ้านเมืองสุจริต” เพื่อที่จะให้เยาวชนได้รับการปลูกฝังเรื่องการเป็นคนดีและมีความซื่อสัตย์สุจริต โดยโครงการนี้
ตนได้ขอความร่วมมือจากอาจารย์ผู้สอนให้สอดแทรกเนื้อหาการสร้างสุจริตชนเข้าไปในรายวิชาที่ตนเองสอน ไม่จำเป็นต้องกำหนดขึ้นเป็นรายวิชาใหม่ เพื่อสร้างความสำนึกรู้เรื่องความผิดชอบชั่วดี มีความเชื่อและอุดมการณ์ที่จะยึดมั่นในการทำความดีและมีความซื่อสัตย์สุจริต เมื่อเด็ก ๆ ได้รับการปลูกฝังเรื่องการเป็นคนดีและความสุจริต ในอนาคตเมื่อพวกเขาโตขึ้นและได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในบ้านเมือง เขาก็จะเลือกคนดี คนสุจริต เข้ามาทำงานเพื่อบ้านเมือง
นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาให้ความรู้แก่เยาวชนทางด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย และมีความเชื่อทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างมีเหตุมีผล
นายชวน ยังขอให้เยาวชนทุกคนศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ปัญหาในพื้นที่ของตนเองในระดับหนึ่ง ในอนาคตเยาวชนอาจจะเป็นผู้นำประเทศ ตนได้เกิดในพื้นที่ภาคใต้ ได้เดินทางไปจังหวัดปัตตานี เรียนรู้ประวัติศาสตร์ปัตตานี ว่าครั้งหนึ่งเป็นรัฐปัตตานีประชาชนในพื้นที่มีประวัติอย่างไร เมื่อเป็นผู้นำแล้วก็จะเข้าใจพื้นที่ได้เป็นอย่างดี นั้นคือการปกครองบ้านเมืองต้องหยึดหลักกฎหมาย ที่เรียกกันว่าหลักธรรมาภิบาล อยู่บนพื้นฐาน 6 ประการ
- หลักนิติธรรม
- หลักคุณธรรม
- หลักวามโปร่งใส
- หลักความมีส่วนร่วม
- หลักความรับผิดชอบ
- หลักความคุ้มค่า
และ “หลักความไม่เกรงใจ” เพราะประเทศไทยเคยชินกับคำว่าเกรงใจ จนบางครั้งยอมกระทำในสิ่งที่ผิด ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าไม่ถูกต้อง แต่ยังกระทำเพราะความเกรงใจ
นายชวน ย้ำว่าตนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเยาวชน จึงได้มีกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยังได้เกิดขึ้นในสมัยนายชวน หลีกภัย เป็นโครงการแรกในการเปิดโอกาสให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เข้าถึงการศึกษาระดับสูงได้ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา
ส่วนการกู้ยืมก็เป็นระเบียบรองรับตามกฎหมายกู้ยืม อย่างไรก็ตาม กยศ.คือโอกาสแห่งการลงทุนเพื่อความรู้สร้างพลเมืองให้มีการศึกษา แบ่งเบาภาระพ่อแม่ผู้ปกครองที่เป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ การกู้เงิน กยศ. เมื่อเรียนจบการศึกษาแล้วจะต้องจ่ายเงินคืนให้กับกองทุนฯ หากไม่จ่ายจะถือว่าบุคคลเหล่านั้นขาดความชื่อสัตย์ สุจริต ส่งผลกระทบในอนาคตได้ อาทิ จะขาดคุณสมบัติในการเข้ารับการอบรมในสถาบันพระปกเกล้า ที่ตนเป็นประธานสภาสถาบันพระปกเกล้า ดังนั้น ตนขอให้เยาวชนทุกคนเข้มงวดต่อตนเองในด้านความซื่อสัตย์สุจริต ความมีวินัย และการปลูกฝังความดีงาม ขอให้ทุกคนที่ได้รับฟังเรื่องบ้านเมืองสุจริตนำแนวทางดังกล่าวไปใช้ในการดำรงชีวิต ขอให้ซื่อสัตย์สุจริตทั้งต่อหน้าและลับหลังให้ฝึกปฏิบัติจนเป็นนิสัย เพื่อให้ตัวเรา สังคม และประเทศชาติมีอนาคตที่ดี และพึงระลึกไว้เสมอว่า “ประเทศจะรุ่งเรือง เมื่อบ้านเมืองสุจริต
สำหรับกิจกรรมดังกล่าว สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้และทัศนคติที่ดีด้านการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระบวนการทางนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และให้เยาวชนได้ตระหนักในหน้าที่ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย และการดำเนินชีวิตตามวิถีประชาธิปไตย รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วทุกภูมิภาคได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมของสถาบันนิติบัญญัติอย่างเท่าเทียม โดยมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการเป็นเครือข่ายของรัฐสภา ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายสามัญ/สายอาชีพ และระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า อายุระหว่าง 15 - 20 ปี โดยสำนักงานฯ ได้เปิดรับสมัครโดยตรง ในการเป็นตัวแทนของแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 2 คน และตัวแทนกรุงเทพมหานคร 8 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 160 คน