ชป. จับตาเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ช่วง 11-15 ก.ค. นี้
กรมชลประทาน สั่งการโครงการชลประทานเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 11 – 15 ก.ค. นี้ จากปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่องเกือบทุกภาค ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก
เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 65 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ฉบับที่ 20/2565 เรื่อง “เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน” ด้วย กอนช. ได้ติดตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ฉบับที่ 7 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 โดยในช่วงวันที่ 10-14 ก.ค. 65 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ทั้งนี้ กอนช. ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าจากปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่องเกือบทุกภาค ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากน้ำท่วมฉับพลัน จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 11 -15 กรกฎาคม 2565 ดังนี้
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง ได้แก่
- ภาคเหนือ จังหวัดพะเยา ลำปาง แพร่ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย สกลนคร ยโสธร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ นครราชสีมา และอุบลราชธานี
- ภาคใต้ จังหวัดระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และพังงา
เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณ แม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำสงคราม ลำน้ำอูน ลำน้ำยาม และแม่น้ำตาปี
เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูง และมีแนวโน้ม เพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ
- ภาคเหนือ จังหวัดลำปาง น่าน และพะเยา
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย สกลนคร ขอนแก่น นครราชสีมา นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานี
- ภาคตะวันออก จังหวัดตราด
- ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ โดยให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่และสำนักเครื่องจักรกล ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งเร่งทำการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลาก ป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปรับแผนบริหารจัดการน้ำและการระบายน้ำให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์และระดับน้ำ พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมทั้งการวางแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้ที่ www.rid.go.th http://swoc.rid.go.th/ https://www.facebook.com/Wmsc.Irri หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ สายด่วนกรมชลประทาน 1460