เดินหน้าพัฒนาฟาร์มหมูหลุมเศรษฐกิจ เน้นการเลี้ยงหมูแบบออร์แกนิค 100%
เกษตรกรเลี้ยงหมูหลุม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน เดินหน้าพัฒนาฟาร์มหมูหลุมเศรษฐกิจ คอกหมูแนวใหม่ไร้กลิ่น เน้นการเลี้ยงหมูแบบออร์แกนิค 100 เปอร์เซ็นต์ และพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ในการเลี้ยงหมูหลุมให้แก่เกษตรกรทั่วไปในแม่ฮ่องสอน
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 65 นายจิรายุ ศรีเมตตาธรรม เจ้าของเนรมิตจิรายุฟาร์ม อ.แม่ลาน้อย จ. แม่ฮ่องสอน เปิดเผยถึงการพัฒนาการเลี้ยงหมูหลุมของตนเองว่า จากการที่ได้เดินทางไปดูงาน ฟาร์มหมูหลุมดอนแร่ ต.ดอนแร่ อ.เมือง จ.ราชบุรี ของนายสุพจน์ สิงห์โตศรี ในการทำฟาร์มหมูหลุม ปรับโรงเรือน มีการจัดการที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น คอกเลี้ยงหมูหลุม ใช้วิธีรองพื้นคอกด้วยแกลบสูงจากพื้นคอกขึ้นมา 60 เซนติเมตร การใช้แกลบรองพื้นคอก ทำให้ฟาร์มเลี้ยงหมูหลุม ที่มีหมูกว่า 100 ตัวแห่งนี้ไร้กลิ่น
การเลี้ยงหมูหลุมของฟาร์ม เน้นการเลี้ยงแบบออร์แกนิค 100 เปอร์เซ็นต์ โดยใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ฉีดพ่นที่คอก และตัวหมู รวมถึงผสมในน้ำดื่มให้กิน โดยน้ำหมักจุลินทรีย์ที่ใช้มีอยู่ 2 ชนิด คือน้ำหมักผลไม้และน้ำหมักชีวภาพจากจุลินทรีย์ในท้องถิ่น จึงเป็นการช่วยควบคุมกลิ่นได้ 100 เปอร์เซ็นต์
สำหรับน้ำหมักผลไม้ที่ฟาร์มใช้นั้น ได้ทำเอง โดยการนำเอาวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น คือการนำกล้วยน้ำว้าสุก มาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ทั้งเปลือก ใช้ประมาณ 1 กิโลกรัม และน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม แล้วนำมาใส่โหล จุลินทรีย์ที่อยู่ในอากาศก็จะไปผสมในผลไม้ ขั้นตอนต่อไปคือใช้น้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม แบ่งเป็น 2 ส่วน แล้วเขย่าให้เข้ากัน เมื่อเขย่าเข้ากันแล้ว นำน้ำตาลทรายแดงส่วนที่เหลือครึ่งหนึ่ง เทโปะลงไป แล้วนำฝามาปิดไว้พอหลวม ๆ ปิดไว้ 7 วัน ก็จะได้น้ำหมักผลไม้ นำไปฉีดพ่นคอกหมู ตัวหมู และให้หมูกินด้วย น้ำหมักผลไม้นี้มีคุณสมบัติพิเศษ คือ ลดกลิ่นได้ทันที ทำให้หมูเจริญอาหาร มีสารอาหารที่ทำให้หมูเจริญเติบโตได้เร็ว โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ทำให้หมูปลอดโรคและปลอดภัย ทั้งนี้ ทางฟาร์ม ได้เน้นการใช้วัสดุจากท้องถิ่น ตามธรรมชาติที่หาง่าย ซึ่งทำให้หมูมีความต้านทานโรค ไม่มีกลิ่นเหม็นมารบกวน และยังลดต้นทุนการผลิตด้วย
ในอนาคต นอกจากการต่อยอดเพื่อขยายการเลี้ยงหมูหลุมในเชิงพาณิชย์แล้ว นายจิรายุ ศรีเมตตาธรรม เจ้าของฟาร์มหมูหลุมแห่งนี้ หวังว่าเนรมิตร จิรายุ ฟาร์ม แม่ฮ่องสอน จะเป็นอีกหนึ่งศูนย์การเรียนรู้ให้กับเกษตรกร นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ วิธีการเลี้ยงหมูหลุมของฟาร์ม เพื่อนำไปปรับใช้ สร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับคนในชุมชนต่อไป