กัมพูชาส่งตัว 94 ผู้ต้องหา แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ให้ ตำรวจ PCT รับมาดำเนินคดีในไทย

กัมพูชาส่งตัว 94 ผู้ต้องหา แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ให้ ตำรวจ PCT รับมาดำเนินคดีในไทย

ตำรวจ PCT ประสานตำรวจกัมพูชา ส่งตัวผู้ต้องหา "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" จำนวน 94 คน กลับมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในไทย

สืบเนื่องจากที่ในปัจจุบัน "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" ได้ระบาดหนักอย่างมากในประเทศไทย และมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบในการใช้กลอุบายหลอกลวงประชาชนไปเรื่อย ๆ ซึ่งเรื่องนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข (ผบ.ตร.) ได้ให้ความสำคัญในการสืบสวนติดตามจับกุมมาโดยตลอด ซึ่งในมิติหนึ่งของภาครัฐ และเอกชน รวมไปถึงประชาชนคนไทย ต่างก็ช่วยกันการประกาศแจ้งเตือนภัยผ่านสื่อตามช่องทางต่าง ๆ

 

 

ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ยังได้สั่งการให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ผอ.ศปอส.ตร.) หรือ PCT เป็นตัวแทนดำเนินการวางแนวทางการปฏิบัติกับกรมตำรวจประเทศกัมพูชา ในการวางแนวทางการปฏิบัติกับ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

 

โดยผู้อยู่เบื้องหลังการประสานงานความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งหมด คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำเกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีการทำ MOU กับทางประเทศกัมพูชา

 

โดยล่าสุด ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจประเทศกัมพูชา ฝังตัวเพื่อเฝ้าดูพฤติกรรมคนร้ายและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจกัมพูชาเป็นเวลาหลายเดือน ร่วมกันสืบสวนจนกระทั่งได้พยานหลักฐานสามารถขออนุมัติหมายจับศาล และได้ทราบสถานที่ตั้งของ "แก๊งคอลเซ็นเตอร์" 4 แห่ง ในประเทศกัมพูชา ซึ่งได้มีการวางแผนเพื่อปฏิบัติการร่วมกัน และสนธิกำลังตำรวจเปิดปฏิบัติการทลายแก็งคอลเซ็นเตอร์ในจังหวัดพระสีหนุ และจังหวัดปอยเปต ประเทศกัมพูชา

 

 

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. /ผอ.ศปอส.ตร (PCT) มอบหมาย พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.ภ.8 /หน.ชุดปฏิบัติการ PCT ชุดที่ 1 พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.ภ.2/หน.ชุดปฏิบัติการ PCT ชุดที่ 5 พล.ต.ต.ธนิต ไทยวัชรามาศ ผบก.สส.สตม. พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ศปอส.ตร. (PCT) ชุดที่ 1 และ 5 ร่วมกับ สตม. บช.ภ.2 รับตัวคนไทยส่งกลับจากประเทศกัมพูชา โดยจากการเปิดปฏิบัติการดังกล่าว จำนวน 94 ราย และมีการออกหมายจับจำนวน 79 ราย มีรูปแบบวิธีการกระทำความผิดต่างกันเพื่อเป็นประโยชน์ในการรู้เท่าทันคนร้าย ดังนี้

 

จุดที่ 1 โรงแรมจิงเฉิง ถ.สองธนู เมืองพระสีหนุ กัมพูชา จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 21 คน โดยมีแผนประทุษกรรมหลอกให้หลงและหลอกให้รักในแอปทินเดอร์ , ไลน์ โดยปลอมตัวตนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แล้วได้หาคู่แมทช์ แล้วพูดคุยให้หลงรัก จากนั้นจะเริ่มหลอกลวงให้ร่วมลงทุนใน MetaTrader 5 (ฟอเร็กซ์) โดยจะให้ทำการเทรด การวิเคราะห์ทางเทคนิค ตามคำแนะนำ และชักนำให้ลงทุนกับ โบรกเกอร์ 1.MKNDY.Ltd , 2.Big Uncle ซึ่งเป็นโบรกเกอร์ ปลอม และหลอกเอาเงินผู้เสียหายไป

 

จุดที่ 2 อาคาร 5 ชั้น ทางเข้าเป็นประตูสีแดง ถนน 104 เมืองพระสีหนุ ประเทศกัมพูชา จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 18 คน โดยมีแผนประทุษกรรม คือฝ่ายคุมระบบหรือฝ่าย IT ซึ่งมีชื่อเรียกว่า "หลังบ้าน" จะใช้ระบบคอมพิวเตอร์อัตโนมัติ (AI) เป็นเบอร์โทรต้นทางโทรผ่านระบบ VOIP ไปยังเหยื่อเป็นคนไทย หากมีการรับสายจะเป็นระบบอัตโนมัติ แจ้งข้อมูลมีพัสดุผิดกฎหมายให้ผู้เสียหายกด "9" เพื่อติดต่อพนักงาน

 

จากนั้นจะมีการโอนสายโทรศัพท์ให้ผู้เสียหายคุยกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ สาย 1 โดย สาย 1 จะหลอกลวงเป็นพนักงานไปรษณีย์ ได้ทำการตรวจสอบพัสดุพบสิ่งผิดกฎหมาย โดยหน้าที่หลักของสาย 1 นั้นไม่เพียงแต่เริ่มหลอกลวงผู้เสียหายเพียงอย่างเดียว แต่จะหลอกเอาข้อมูลจากผู้เสียหายมาด้วย จากนั้นเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อการหลอกลวงจากสาย 1 แล้วจะมีการโอนสายให้ผู้เสียหายคุยกับ สาย 2 ซึ่งปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก "สภ.แหลมฉบัง" พูดจาข่มขู่ยัดคดีให้ผู้เสียหายเกิดความกลัว

 

โดยอ้างว่าจากการตรวจสอบข้อมูลของผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน และหลอกให้ผู้เสียหายแสดงความบริสุทธิ์ โอนเงินที่มีเพื่อทำการตรวจสอบภายใน แต่หากผู้เสียหายยังไม่ทำการโอน จะโอนสายต่อไปยังสายที่ 3 ซึ่งเป็นลักษณะตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งเป็น "ผู้กำกับการ สภ.แหลมฉบัง" มาข่มขู่เพื่อยัดคดีและข้อหาต่าง ๆ เพื่อให้เหยื่อเกิดความกลัวขึ้นไปอีก

 

โดยสาย 2 และ สาย 3 จะมุ่งเน้นการหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงิน โดยตลอดการคุยกับพนักงานสาย 1 , 2 , 3 หากผู้เสียหายรายใดเริ่มหลงกล ทีม "หลังบ้าน" จะคอยให้ข้อมูลกับพนักงานสาย 1 , 2 , 3 ที่พูดสายอยู่กับผู้เสียหาย ว่าข้อมูลของผู้เสียหายให้มานั้นตรงหรือไม่ และหากผู้เสียหายหลงให้ข้อมูลกับ สาย 1 , 2 , 3 ไปมากนั้น ทีมหลังบ้าน จะสามารถ "ดูดเงิน" ออกจากบัญชีของผู้เสียหายได้ โดยการดูดเงินนั้นคือการนำข้อมูลส่วนตัวของผู้เสียหายที่ได้ให้ไว้กับพนักงานสาย 1 , 2 , 3 ไปทำการโอนเงินเองโดยที่ผู้เสียหายไม่รู้ตัว

 

จุดที่ 3 อาคาร 8 ชั้น ถนน 702  เมืองพระสีหนุ ประเทศกัมพูชา จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 10 คน โดยมีแผนประทุษกรรม โดยจะอ้างว่าเป็นการปล่อยสินเชื่อ ใช้ชื่อ "บริษัท บริหารสินทรัพย์ โฟร์ ซีส์ จำกัด" ในการปล่อยสินเชื่อ แต่หลอกลวง เอาค่าธรรมเนียมต่าง ๆ จากเหยื่อที่มากู้เงิน โดยกลุ่มคนร้ายกลุ่มนี้ได้หาเหยื่อจากการลงโฆษณาให้กู้เงินหรือสินเชื่อ ออนไลน์โดยมีการอ้างบริษัทหนึ่งในประเทศไทยที่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่เหยื่อ ตามสื่อสังคม ออนไลน์ Facebook หรือ google ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลเท็จเหล่านี้ง่าย

 

โดยการระบบการหลอก สาย 1 จะทำหน้าที่เป็น พนักงานพูดหลอกลวงเหยื่อชักชวนให้กู้เงินออนไลน์ สาย 2 หรือ "กลุ่มเชือด" ทำหน้าที่แจ้งเหยื่อว่าต้องชำระค่า ประกันเงินกู้ ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จึงจะสามารถกู้ยืมเงินกับทางบริษัทฯ ได้และเมื่อเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินเข้ามาก็ไม่ได้มีการให้กู้ยืมเงินแต่อย่างใด

 

จุดที่ 4 ตึกสามชั้น ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา ตำบลปอยเปต อำเภออูร์ชเรา จังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชา จับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ 25 คน โดยมีแผนประทุษกรรม คือพนักงานสาย 1 โทรศัพท์หาผู้เสียหายและหลอกลวงเป็นพนักงานจากบริษัทขนส่งพัสดุบริษัท DHL ได้ทำการตรวจสอบพัสดุพบสิ่งผิดกฎหมาย และมีอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ กสทช. ด้วย โดยจะมีการสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ของผู้เสียหาย ซึ่งจะอ้างว่าเบอร์โทรศัพท์ของผู้เสียหายถูกร้องเรียนจากการกระทำความผิด โดยทั้งสองรูปแบบจะอยู่หมวดของ สาย 1 โดยหน้าที่หลักของสาย 1 นั้นไม่เพียงแต่เริ่มหลอกลวงผู้เสียหายเพียงอย่างเดียว แต่จะหลอกเอาข้อมูลจากผู้เสียหายมาด้วย

 

จากนั้นเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อการหลอกลวงจากสาย 1 แล้วจะมีการโอนสายให้ผู้เสียหายคุยกับ สาย 2 ซึ่งปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก "สภ.เมืองภูเก็ต" พูดจาข่มขู่ยัดคดีให้ผู้เสียหายเกิดความกลัว โดยอ้างว่าจากการตรวจสอบข้อมูลของผู้เสียหายมีการรั่วไหลและมีข้อมูลว่าผู้เสียหายมีหารขายบัญชีไป ให้กับ "นายสมศักดิ์ ศักดิ์ดียัง" ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน และอ้างว่าจะต้องให้ผู้เสียหายส่งเงินเข้ามาตรวจสอบที่ บัญชีของฝ่ายตรวจสอบป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน แต่หากผู้เสียหายยังไม่ทำการโอน จะโอนสายต่อไปยังสายที่ 3 ซึ่งเป็นลักษณะตำรวจชั้นผู้ใหญ่ มาข่มขู่เพื่อยัดคดีและข้อหาต่าง ๆ เพื่อให้เหยื่อเกิดความกลัวขึ้นไปอีก และมักเชือดด้วยการพูดหว่านล้อมว่า สามารถเคลียร์คดีให้กับผู้เสียหายได้ โดยสาย 2 และ สาย 3 จะมุ่งเน้นการหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินเป็นหลัก

 

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. /ผอ.ศปอส.ตร (PCT) ได้สั่งการให้ศปอส.ตร. (PCT) รอรับตัวและซักถามปากคำผู้ต้องหาทั้งหมด และจากการขยายผลการจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 94 รายนี้ทำให้ทราบบุคคลที่เกี่ยวข้องกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ทั้ง 4 แก๊งอีกหลายราย รวมไปถึง "หัวหน้าแก๊งชาวไต้หวัน" ซึ่ง ศปอส.ตร. (PCT) จะมีการขยายผลโดยเพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องทั้งขบวนการ

 

ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการขยายผล ได้มีพนักงานสอบสวนพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีท้องที่ที่ออกหมายจับผู้ต้องหา มาเพื่อรับตัวผู้ต้องหาตามหมายจับไปดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ได้แก่ สน.บางเขน 22 ราย , สภ.เมืองอุดร 4 ราย , สน.พหลโยธิน 18 ราย , สภ.เมืองจันทบุรี 10 ราย และ สภ.ท่าใหม่ 25 ราย

 

กัมพูชาส่งตัว 94 ผู้ต้องหา แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ให้ ตำรวจ PCT รับมาดำเนินคดีในไทย

 

กัมพูชาส่งตัว 94 ผู้ต้องหา แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ให้ ตำรวจ PCT รับมาดำเนินคดีในไทย

 

กัมพูชาส่งตัว 94 ผู้ต้องหา แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ให้ ตำรวจ PCT รับมาดำเนินคดีในไทย

 

กัมพูชาส่งตัว 94 ผู้ต้องหา แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ให้ ตำรวจ PCT รับมาดำเนินคดีในไทย