กอนช. เตือน ฝนตกหนัก เช็กเลยจังหวัดเสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน 2-10 ส.ค. 65
กอนช. เตือน "ฝนตกหนัก" ล่าสุด! เช็กเลยจังหวัดไหนบ้างพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นอ่างฯ ในช่วงวันที่ 2-10 สิงหาคม 2565 นี้
วันที่ 2 สิงหาคม 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ "ฝนตกหนัก" เช็กชื่อจังหวัดพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำล้นอ่างเก็บน้ำ
โดย กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เผยถึง "สถานการณ์น้ำ" ระบุว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักมากบางพื้นที่
สำหรับปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.กระบี่ (246 มม.) กรุงเทพมหานคร (136 มม.) และ จ.เชียงราย (91 มม.)
พื้นที่เกิดอุทกภัย ในระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2565 บริเวณสุพรรณบุรี นครราชสีมา ชลบุรี พังงา กระบี่ และภูเก็ต
แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 46,236 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 40,240 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำน้อย บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง)
กอนช. ประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ฉบับที่ 24/2565 ในช่วงวันที่ 2-10 สิงหาคม 2565
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง ดังนี้
ภาคเหนือ
แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, น่าน, ตาก, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เลย, หนองคาย, สกลนคร, บึงกาฬ, มุกดาหาร, นครพนม, ชัยภูมิ, ขอนแก่น, ร้อยเอ็ด, นครราชสีมา และอุบลราชธานี
ภาคตะวันออก
นครนายก, ปราจีนบุรี, ระยอง, จันทบุรี และตราด
ภาคกลาง
กาญจนบุรี, ลพบุรี รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคใต้
ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ระนอง, พังงา, ตรัง และพัทลุง
เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำกก, แม่น้ำวัง, แม่น้ำยม, แม่น้ำน่าน, แม่น้ำแควน้อย, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำเลย, แม่น้ำชี, แม่น้ำมูล, แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตราด
เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่, อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และกิ่วคอหมา จ.ลำปาง, อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จ.สกลนคร, อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ
ทั้งนี้ กอนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่จุดเสี่ยง