เตือน เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ช่วง 2-10 ส.ค.นี้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศ ฉบับที่ 24/2565 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 2 – 10 สิงหาคม 2565
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 2 – 10 สิงหาคม 2565 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมา ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
กอนช. ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ในช่วงวันที่ 2 – 10 สิงหาคม 2565 ดังนี้
เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง
ภาคเหนือ 8 จังหวัด
- จังหวัดตาก (อำเภออุ้มผาง)
- จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอปาย)
- จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอเชียงดาว และแม่อาย)
- จังหวัดเชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย แม่จัน และแม่ลาว)
- จังหวัดน่าน (อำเภอบ่อเกลือ ปัว และสันติสุข)
- จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอท่าปลา และทองแสนขัน)
- จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย วัดโบสถ์ เนินมะปราง และชาติตระการ)
- จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอวังโป่ง หล่มสัก และหล่มเก่า)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด
- จังหวัดเลย (อำเภอเชียงคาน และนาด้วง)
- จังหวัดหนองคาย (อำเภอโพนพิสัย และรัตนวาปี)
- จังหวัดสกลนคร (อำเภอบ้านม่วง)
- จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ บุ่งคล้า โซ่พิสัย และเซกา)
- จังหวัดมุกดาหาร (อำเภอดงหลวง)
- จังหวัดนครพนม (อำเภอท่าอุเทน เมืองนครพนม และธาตุพนม)
- จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอบ้านเขว้า และหนองบัวแดง)
- จังหวัดขอนแก่น (อำเภอเมืองขอนแก่น)
- จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอสุวรรณภูมิ)
- จังหวัดยโสธร (อำเภอมหาชนะชัย และคำเขื่อนแก้ว)
- จังหวัดนครราชสีมา (อำเภอจักราช พิมาย และลำทะเมนชัย)
- จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอม่วงสามสิบ ตระการพืชผล ดอนมดแดง เขื่องใน เมืองอุบลราชธานี และวารินชำราบ)
ภาคตะวันออก 5 จังหวัด
- จังหวัดนครนายก (อำเภอเมืองนครนายก และปากพลี)
- จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอนาดี ประจันตคาม และกบินทร์บุรี)
- จังหวัดระยอง (อำเภอแกลง และเมืองระยอง)
- จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ แหลมสิงห์ เมืองจันทบุรี ขลุง และมะขาม)
- จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด คลองใหญ่ แหลมงอบ เกาะกูด เกาะช้าง และเขาสมิง)
ภาคกลาง
- จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอสังขละบุรี และทองผาภูมิ)
- จังหวัดลพบุรี (อำเภอชัยบาดาล)
- รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคใต้ 8 จังหวัด
- จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอบางสะพาน และทับสะแก)
- จังหวัดชุมพร (อำเภอปะทิว)
- จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอบ้านตาขุน และไชยา)
- จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอพรหมคีรี)
- จังหวัดระนอง (อำเภอกะเปอร์)
- จังหวัดพังงา (อำเภอตะกั่วทุ่ง)
- จังหวัดตรัง (อำเภอย่านตาขาว)
- จังหวัดพัทลุง (อำเภอกงหรา)
เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำกกแม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตราด
เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ
กักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 6 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จังหวัดสกลนคร อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
2. ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ และระดับน้ำในลำน้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์