สองข้อคิดที่ได้จากสองศาสตราจารย์ฝรั่ง
ผมเคยเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยไทยแห่งหนึ่ง ผมจึงมีคนรู้จักที่เป็นศาสตราจารย์ในต่างประเทศอยู่หลายคน วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังถึงข้อคิดที่ผมได้ต่อยอดจากการคุยกันกับศาสตราจารย์ฝรั่ง 2 คน 2 ประเทศ
เอาเรื่องแรกก่อน เป็นเรื่อง soft power ด้านอาหารของไทย ศาสตราจารย์ฝรั่งคนนี้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของผมเองตอนที่ผมไปศึกษาต่อที่อเมริกา หลังจากผมกลับมาทำงานให้บ้านเมืองไม่นานนักท่านได้เดินทางมาเมืองไทยเพื่อจะขยายขอบเขตงานทางวิศวกรรมน้ำเสียหรือมลพิษน้ำมาสู่ภูมิภาคนี้ และแน่นอนเมื่อเรามีแขกผู้ใหญ่จากต่างประเทศมาเราก็จะพาเขาไปเลี้ยงข้าวตามประเพณีไทยของเรา
ในงานเลี้ยงวันนั้นมีอาจารย์ไทยหลายคนมาร่วมด้วย อาจารย์คนหนึ่งได้สั่งอาหารที่ตนคิดว่าเป็นอาหารประจำชาติไทยซึ่งมีรสเผ็ดอยู่บ้าง ผมได้ถามศาสตราจารย์ของผมว่ากินเผ็ดได้ไหม อาจารย์ของผมตอบว่าไม่ได้ ไม่ชอบ เมื่ออาหารมาแล้วอาจารย์ของผมกินเข้าไปคำเดียวเกิดอาการหูแดง จมูกแดง คือเผ็ดมากและโกรธมาก ถึงกับเอ็ดตะโรรุนแรง
มาถึงวันนี้ผมกลับไปย้อนคิดได้ว่าเวลาคนไทยไปกินข้าวผัดกระเพราตามร้านต่างๆ เราสามารถบอกกับพ่อครัวแม่ครัวได้ว่าเอาเผ็ดมากหรือเผ็ดน้อย แต่นักท่องเที่ยวทั่วไปไม่ว่าจะเป็นฝรั่ง จีน อาหรับ หรือชาติใดก็ตาม เขาไม่รู้ว่าเรามีระบบสั่งเผ็ดมากเผ็ดน้อยอย่างนี้ได้ เขาคงจะนึกว่าข้าวผัดกระเพราก็คือข้าวผัดกระเพรา มีความเผ็ดแค่ระดับเดียว นั่นอาจจะทำให้บางคนเขารู้สึกเผ็ดและเข็ดต่ออาหารไทยบางอย่าง ซึ่งไม่ดีต่อ food power ที่เป็น soft power อย่างหนึ่งของไทย
ผมจึงอยากเสนอข้อคิดแบบเส้นผมบังภูเขาไปยังกระทรวงการท่องเที่ยว ให้ทำคู่มือสำหรับร้านอาหารของไทยโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นร้านริมถนนหรือภัตตาคารในศูนย์การค้าแบบมิกซ์ยูส ให้มีข้อความบนเมนูหลายภาษา ว่าอาหารเผ็ดของไทยมีระดับความเผ็ดให้เลือกได้ เช่น ตั้งแต่ 1 ถึง 4, 1 คือเผ็ดน้อย 4 คือเผ็ดมากสุด
เมื่อมีข้อมูลเช่นนี้ในภาษาที่นักท่องเที่ยวเขาอ่านรู้เรื่องเขาก็จะเข้าใจระบบและสามารถเลือกความเผ็ดของอาหารให้ตรงกับลิ้นหรือความชอบของเขาได้ นั่นหมายถึง Soft Power ด้านอาหารของเราก็จะกระจายไปได้ง่ายๆ ด้วยราคาที่ไม่ต้องเพิ่มขึ้น แต่ความประทับใจในรสอาหารมีมากขึ้น
มาถึงเรื่องที่สอง คราวนี้เป็นศาสตราจารย์จากฝรั่งเศส ซึ่งก็เช่นเดียวกันเราต้องเชิญอาจารย์ฝรั่งเศสผู้นั้นไปกินข้าวเย็นตามประเพณี วันนั้นผมมีเพื่อนอาจารย์คนหนึ่งจบจากฝรั่งเศส เป็นลูกศิษย์ของศาสตราจารย์ฝรั่งท่านนั้นมาร่วมเลี้ยงฉลองด้วย ในระหว่างการพูดคุยกันเพื่อนอาจารย์คนที่จบจากฝรั่งเศสได้บอกกับอาจารย์ของเขาว่าช่วงนี้เขาคงจะทำงานวิจัยร่วมกับอาจารย์ฝรั่งคนนั้นไม่ได้มากเพราะมีภารกิจที่ต้องย้ายบ้านเนื่องจากบ้านถูกเวนคืนเพื่อโครงการถนนหลวงของรัฐ
ฟังถึงตรงนี้ศาสตราจารย์ฝรั่งเศสลุกขึ้น แล้วเดินไปจับมือลูกศิษย์คนไทยเขย่าอย่างแรง พร้อมกับบอกว่ายินดีด้วย ๆ ทำให้พวกเราถึงกับเงียบงันไปกับความงุนงง แต่หลังจากที่ได้คุยกันถึงเหตุผลและที่มาที่ไปสักพัก
เราก็เข้าใจเหตุผลของศาสตราจารย์ผู้นั้นว่าที่ทำเช่นนั้นไปเพราะอะไร คือ ในระบบของฝรั่งเศสการที่ใครถูกเวนคืนบ้านหรือที่ดินเขาจะไม่ได้เงินจากรัฐตามราคาประเมินของรัฐ แต่เป็นราคาตลาดที่ซื้อขายกันจริง แล้วคูณ 2 คูณ 3 เข้าไปอีก (หมายเหตุ : ตัวเลขจริง จำไม่ได้ครับ) พูดง่ายๆ คือ ได้ขายบ้านกำไร 2 เท่า 3 เท่าโดยไม่ต้องทำอะไร และคุ้มที่จะถูกเวนคืน
ผิดกับบ้านเราที่เวลาเวนคืนรัฐจะใช้ราคาประเมินที่ทำโดยรัฐซึ่งตามยุคสมัยไม่ทัน คือต่ำกว่าความเป็นจริง 2 เท่าหรือ 3 เท่าได้ไม่ยากในบางพื้นที่ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็มักเกิดแรงต้านจากเจ้าของที่ดินหรือเจ้าของบ้านที่ไม่ยอมย้ายออก ต้องไปสู้กันในศาล ทำให้โครงการสำคัญๆหลายโครงการต้องล่าช้าออกไป ทำไม่ได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของรัฐ
ในทางการเงินความล่าช้านั้นถือเป็นราคา เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรต้องเสีย แต่กลับต้องเสียเพราะรัฐไปติดกับกับตัวหนังสือกฎระเบียบที่บ่อยครั้งก็ล้าสมัยเกิน จนบางครั้งราคาที่ต้องจ่ายนั้นมากจนกระทั่งทำให้โครงการมีความคุ้มค่าหรือความคุ้มทุนต่ำลงไปมากสุดๆอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
ผมจึงเอามาเป็นข้อคิด เสนอให้ประเทศไทยจัดระบบจ่ายค่าเวนคืนให้เป็นธรรมกับเจ้าของที่/เจ้าของบ้านที่ต้องเสียสละถูกย้ายออกเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ให้ได้รับค่าชดเชยที่คุ้มจนหลายคนอยากให้รัฐมาเวนคืนที่ของตนบ้าง แบบที่ศาสตราจารย์ฝรั่งเศสได้ลุกขึ้นมาเขย่ามือลูกศิษย์คนไทยดังที่ได้เล่ามา และจะรีบย้ายออกไปในเร็ววันเพื่อที่จะได้เงินชดเชยมาเป็นกำไรเร็วๆ ความล่าช้าที่ทำให้โครงการพัฒนาของรัฐไม่คุ้มค่าตามที่วางแผนไว้แต่ต้นก็จะไม่เกิดขึ้น
วันนี้ขอเสนอดูสองข้อครับ ข้อแรกทำได้ทันที ส่วนข้อที่สองคงต้องใช้เวลานิด ว่าไทยเราจะทำไหมและทำได้จริงไหม