‘รัสเซีย’ เจอเงินเฟ้ออาหารหนัก แม้แต่ ‘เนย’ ยังถูกขโมยเหมือน ‘ทอง’

‘รัสเซีย’ เจอเงินเฟ้ออาหารหนัก แม้แต่ ‘เนย’ ยังถูกขโมยเหมือน ‘ทอง’

รัสเซียเจอวิกฤติเงินเฟ้อพุ่งต่อเนื่อง อาหารราคาแพงขึ้น แม้กระทั่ง "เนย" ยังถูกคนขโมยไม่ต่างจาก "ทอง" และแม้ทุกคนรู้ดีว่าเงินเฟ้อเป็นผลมาจากการทำสงครามของประเทศ แต่ก็ไม่มีใครกล้าปริปากวิจารณ์รัฐบาล และผู้นำของตนเอง

ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ภาพจากกล้องวงจรปิดของร้านขายอาหาร Dairy Place ในเมืองเยคาเตรินเบิร์กของรัสเซีย ถูกโจรทุบประตูเข้าไปปล้นของภายในร้าน โจรคนหนึ่งไปขโมยเงินจากเครื่องคิดเงิน อีกคนวิ่งไปขโมยเนย 20 กิโลกรัมจากตู้เย็น

เจ้าของร้านโพสต์ในเทเลแกรม ระบุว่า การปล้นครั้งเหมือนกับว่า "เนย" เป็น “ทอง

อย่างไรก็ตาม ร้าน Dairy Place ไม่ใช่เหยื่อรายเดียวที่ถูกปล้น แต่ยังมีอีกหลายร้านที่เผชิญเหตุการณ์นี้ ทำให้บางร้านค้าต้องล็อกสินค้าไว้กับชั้นจัดวางหรือล็อกตู้แช่ให้ดี

ข้อมูลจาก Rosstat ระบุ ปัจจุบันราคาเนยมาตรฐานที่ 200 กรัม มีมูลค่าราว 200 รูเบิล (ราว 66 บาท) เพิ่มขึ้น 30% จากเดือน ธ.ค. 2565

ชาวมอสโกคนหนึ่งบ่นกับซีเอ็นบีซีว่า ต้นทุนราคาอาหารเพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และแย่ลงทุกวันโดยเฉพาะในปีนี้ แต่ราคาอาหารบางอย่างก็ลดลงเช่นกัน เช่น บักวีต (buckwheat) แต่โดยรวมแล้วราคาอาหารอื่นๆแพงขึ้น ซึ่งเขาคาดว่าเพิ่มขึ้นราว 10-40% ต่อปี

เมื่อเดือนต.ค. อัตราเงินเฟ้อต่อปีของรัสเซียอยู่ที่ 8.5% ในเดือนต.ค. สูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางที่ระดับ 4% และทำให้แบงก์ชาติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 21% เมื่อเดือนก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าอาจปรับเพิ่มขึ้นอีกในเดือน ธ.ค.

อัตราดอกเบี้ยที่สูงนี้แทบไม่ส่งสัญญาณว่า ราคาสิ้นค้าจะมีท่าทีชะลอตัวลง โดยเฉพาะเงินเฟ้อของราคาอาหาร

ผลิตภัณฑ์นม น้ำมันดอกทานตะวัน และผัก (โดยเฉพาะมันฝรั่ง พุ่ง 74% ตั้งแต่ธ.ค.ปีก่อน) ก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่ราคาพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง เพราะมีอุปสงค์มากกว่าอุปทาน

แอนตัน บาร์บาชิน นักวิเคราะห์การเมืองชาวรัสเซียและบรรณาธิการของวารสาร Riddle กล่าวว่า ราคาสินค้าพุ่งสูงเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ชาวรัสเซียเกือบครึ่งใช้เงินที่หามาได้ไปกับการซื้ออาหาร พวกเขาจึงรู้สึกถึงเงินเฟ้อมากที่สุด

แลก “เนย” เพื่อเอา “ปืน”

แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในรัสเซีย และทั่วทั้งยุโรป ทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และราคาอาหารสูงขึ้นเป็นผลมาจากซัพพลายและแรงงานขาดแคลน ค่าจ้างสูงขึ้น มีการคว่ำบาตร และต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจเน้นสงครามของรัสเซีย นับตั้งแต่รุกรานยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. 2565 ซึ่งทำให้รัฐบาลเพิ่มค่าใช้จ่ายการทหารและการผลิตฮาร์ดแวร์ทางทหารภายในประเทศ มากกว่าให้ความสำคัญกับการผลิตภาคการเกษตร

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจรัสเซียดีกว่าที่คาดไว้นับตั้งแต่เริ่มสงคราม ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่า เศรษฐกิจรัสเซียอาจโต 3.6% ในปีนี้

ขณะที่ผู้นำของรัสเซียก็พยายามหลบเลี่ยงคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องสินค้าราคาสูงขึ้น โดยหันไปโทษว่า ประเทศที่ไม่เป็นมิตร (พันธมิตรของยูเครน) สร้างความขัดแย้ง ดำเนินการคว่ำบาตร และโทษการขาดแคลนด้านซัพพลาย

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ยังปฏิเสธด้วยว่ารัสเซียไม่ได้ แลก “เนย” เพื่อให้ได้ “ปืน” ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบเกี่ยวกับการใช้งบประมาณของรัฐบาลว่าให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายภาคส่วนอื่นๆในประเทศหรือกลาโหมมากกว่ากัน และข้อความดังกล่าวเป็นการปฏิเสธว่า “รัสเซียไม่ได้สูญเสียการใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อหันไปทุ่มงบด้านกลาโหม”

ปูติน กล่าวในการประชุมเต็ม Valdai Discussion Club เมื่อเดือนต.ค. ว่า

"การบอกว่าเราใช้เงินจำนวนมากไปซื้อปืนจนลืมซื้อเนยนั้นไม่เป็นความจริง ผมขอเน้นย้ำว่า แผนการพัฒนาและการบรรลุวัตถุประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ที่ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ทั้งหมด รวมถึงความมุ่งมั่นทางสังคมทั้งหมดที่รัฐให้กับประชาชนนั้น ล้วนได้รับการดำเนินการอย่างเต็มที่”

ไม่กล้าปริปากวิจารณ์ปูติน

ขณะที่ประชาชนรับรู้ว่าเงินเฟ้อเกี่ยวข้องกับสงคราม แต่การวิจารณ์สงครามอย่างเปิดเผยถือเป็นการกระทำที่สร้างความเสี่ยง เพราะรัฐบาลอาจมองว่าเป็นการทำให้กองทัพ “เสื่อมเสียชื่อเสียง” และอาจถูกจำคุกสูงถึง 5 ปี

นายสตานิสราฟ ชาวรัสเซียที่ประสงค์เผยเพียงนามสกุล บอกว่า ตนทราบดีว่าราคาสินค้าสูงขึ้นเกี่ยวข้องกับสงคราม แต่เขาไม่ค่อยพูดเรื่องนี้กับใคร เพราะอันตรายที่จะพูดความจริงในรัสเซีย

“คนฉลาดรู้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจ แต่คนส่วนใหญ่โทษชาติที่ไม่เป็นมิตร ซึ่งเป็นคำเรียกที่ใช้ในร่างกฎหมายหรือใช้ในโฆษณาชวนเชื่อ”

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเครมลิมก็พยายามสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่า ตนกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาขาดแคลนสินค้าอยู่

เมื่อปีก่อน เกิดการขาดแคลนไข่ ทำให้ราคาพุ่งมากกว่า 40% จนทำให้รัฐบาลต้องยกเลิกภาษีนำเข้าไข่ และประกาศว่าจะซื้อไข่จากประเทศที่เป็นมิตร จากนั้นในไตรมาสแรก รัสเซียก็นำเข้าไข่ 235 ล้านฟองมาจากเบลารุส อาเซอร์ไบจาน และตุรกี

ขณะที่เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศว่าจะจับตาราคาเนย และจะสนับสนุนการเพิ่มการผลิตอย่างเป็นระบบ เนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมยังคงตอบสนองความต้องการได้ไม่มาก

บาร์บาชิน นักวิเคราะห์ที่ไม่ได้อยู่ในรัสเซียนานแล้ว ย้ำว่า โฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียทำให้ไม่พบสัญญาณความไม่พอใจของประชาชน ต่อการจัดการเงินเฟ้อของรัฐบาลหรือของปธน. และว่า จนถึงขณะนี้การโฆษณาชวนเชื่อ ได้ช่วยระงับความไม่พอใจของสาธารณชน และชาวรัสเซียบางคนคิดแค่ว่า “นี่คือสงคราม และสงครามมีต้นทุนสูง" 

"แต่เศรษฐกิจรัสเซียกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เราอาจได้เห็นผู้คนที่อยากให้สงครามยุติมากขึ้น”

 

อ้างอิง: CNBC