เช็กเลย มาตรการ ตร. "ห้ามชุมนุม" หลังประกาศราชกิจจาฯ ตาม พรก.ฉุกเฉิน

เช็กเลย มาตรการ ตร. "ห้ามชุมนุม" หลังประกาศราชกิจจาฯ ตาม พรก.ฉุกเฉิน

ตรวจสอบอัปเดต เช็กเลย มาตรการ ตร. "ห้ามชุมนุม" หลังประกาศราชกิจจาฯ ตามคำสั่ง พรก.ฉุกเฉิน ล่าสุด

 มาตรการ "ห้ามชุมนุม" หลังประกาศราชกิจจาฯ ตาม พรก.ฉุกเฉิน ด้าน ผบ.ตร. กำชับหน่วยงานในสังกัด ดำเนินการมาตรการคุ้มครองประชาชน-อำนวยความสะดวก และให้ตรวจสอบกิจกรรมรวมตัว เสี่ยงแพร่โรค เว้นแต่ได้รับอนุญาตแต่ละกรณี และกำชับตร.ทุกนายห้ามเกี่ยวข้อง กระทำผิดทุกรูปแบบ หากพื้นที่ใดละเลย-หย่อนยาน เอาผิดทางวินัยและอาญาไม่มีข้อยกเว้น

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีตามคําสั่งของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคงที่ 7/2565 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 เรื่อง การปฏิบัติตามข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 13) และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 เรื่อง ห้ามการชุมนุม การทํากิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ฉบับที่ 15)

โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สํานักงานตํารวจแห่งชาติ (ศปม.ตร.) เป็นหน่วยปฏิบัติหลักในการกําหนดมาตรการคุ้มครองประชาชน อํานวยความสะดวก ดูแลการชุมนุม และกําหนดมาตรการที่จําเป็นเหมาะสมและให้เป็นไปตามกฎหมาย ในการตรวจสอบ ระงับยับยั้งหรือยุติการชุมนุม การทํากิจกรรม หรือการมั่วสุม ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิค-19) และให้ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติพิจารณาความเหมาะสมของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง นั้น

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดและมอบหมายผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงโดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงไปกำกับดูแล พร้อมกำชับการปฏิบัติของทุกหน่วยในสังกัดที่เกี่ยวข้อง

โดยมีวิทยุสั่งการด่วนที่สุดแจ้งกำชับทุกหน่วยให้ความสำคัญในการตรวจสอบกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค กิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่อาจเกิดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสและสามารถแพร่โรคได้ที่ยังคงจำเป็นต้องห้ามดำเนินการและห้ามจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้น เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายที่จะพิจารณาในแต่ละกรณี รวมถึงการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพของประชาชนที่ย่อมกระทำได้ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายโดยให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุมรวมทั้งหน้าที่ของผู้จัดและผู้ชุมนุมตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาใช้โดยอนุโลม พร้อมให้ตรวจสอบการมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคหรือการกระทำอันเป็นการฉวยโอกาสซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนหรือการกลั่นแกล้งเพื่อแพร่โรค ณ ที่ใดๆ ทั่วราชอาณาจักร

อีกทั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งมอบหมายผู้รับผิดชอบให้มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

1. มอบหมาย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 - 9 ในฐานะผู้รับผิดชอบ ส่วนปฏิบัติการแต่ละพื้นที่ภายใต้บังคับบัญชาของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
- ออกแผนดูแลการชุมนุมการทำกิจกรรมหรือการมั่วสุม
- แผนการป้องกันสถานที่สำคัญ โดยกำหนดมาตรการคุ้มครองประชาชน อำนวยความสะดวก ดูแลการชุมนุม
- กำหนดมาตรการที่จำเป็นเหมาะสมและให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลอดจนการนำเครื่องมือควบคุมฝูงชน มาใช้เพื่อตรวจสอบ ระงับยับยั้ง หรือยุติการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม กรณีการชุมนุมตั้งแต่ 1 ส.ค. 65 ให้นำหลักเกณฑ์การจัดและการแจ้งการชุมนุม หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุม ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ มาใช้โดยอนุโลม

2. ให้ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ควบคุม กำกับดูแล การปฏิบัติในภาพรวม ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยให้พิจารณามาตรการและเร่งรัด การปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการก่อความ เดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

รองโฆษก ตร. กล่าวว่า หากมีการฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามประกาศ คำสั่ง ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวข้างต้นก็จะมีโทษตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 18

  • จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ
  • ปรับไม่เกิน 40,000 บาท
  • หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

อีกทั้ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กำชับให้ทุกหน่วยในพื้นที่เกี่ยวข้องประสานงานกับหน่วยร่วมปฏิบัติในพื้นที่ ออกตรวจสอบสถานประกอบการ แหล่งมั่วสุม หรือสถานที่มีประชาชนแออัดจำนวนมาก หากพบการฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเด็ดขาด 

นอกจากนี้ กำชับตำรวจทุกนายห้ามมีส่วนข้องเกี่ยวกับการกระทำความผิดทุกรูปแบบไม่ว่าจะโดยตรง หรือทางอ้อม หากตรวจสอบพบว่าพื้นที่ใดปล่อยปละละเลย หรือหย่อนยานจะพิจารณาดำเนินการทั้งทางวินัยและทางอาญากับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับต่อไปไม่มีข้อยกเว้น 

ขอฝากประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน สถานประกอบการ ปฏิบัติตามคำสั่ง ประกาศ ข้อกำหนด ตามที่ ศบค. คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่ได้ประกาศออกมา และติดตามข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส

นอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง