ทำความรู้จัก สวนป่าระยะที่ 2-3 ในสวนสาธารณะเบญจกิติ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
จากแนวพระราชดำริ "ป่ารักน้ำ" ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมุ่งหวังให้ราษฎรตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ จึงก่อกำเนิด สวนเบญจกิติ มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2537
ทำหน้าที่เป็นสวนป่ากลางเมือง เชื่อมโยงกิจกรรมของคนทุกเพศทุกวัย ได้ใช้ประโยชน์อันนำไปสู่การมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อีกทั้ง ช่วงเย็นวานนี้ (3 ส.ค.65) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนป่า ระยะที่ 2-3 ณ สวนสาธารณะ “เบญจกิติ”
เพื่อสืบสาน ต่อยอด รักษา พระราชปณิธานและเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565
สำหรับสวนเบญจกิติ เป็นชื่อพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้แก่สวนสาธารณะแห่งนี้
ตั้งอยู่บนถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยกรมธนารักษ์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการพัฒนาที่ราชพัสดุซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของโรงงานยาสูบเนื้อที่ 450 ไร่ จัดสร้างสวนขนาดใหญ่ของกรุงเทพมหานคร เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 สวนน้ำ มีเนื้อที่ 130ไร่ โดยกรมธนารักษ์เป็นผู้รับผิดชอบจัดสร้าง เมื่อแล้วเสร็จ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนน้ำแห่งนี้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2547 และกรมธนารักษ์ส่งมอบพื้นที่ให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาและบริหารจัดการ ซึ่งภายในสวนน้ำ ประกอบด้วย บึงน้ำขนาดใหญ่ ที่มีทางเดินและทางจักรยานโดยรอบบึง มีพื้นที่พักผ่อนและออกกำลังที่ร่มรื่นด้วยสีเขียวจากแมกไม้นานาพันธุ์
จากความสำเร็จของสวนน้ำ กรมธนารักษ์เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพมหานคร จึงดำเนินการจัดสร้างสวนป่าที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และจะเป็นส่วนเติมเต็มสวนสาธารณะเบญจกิติ ทั้งหมดให้มีความสมบูรณ์ ทั้งป่าและ น้ำ ตามแนวพระราชดำริ “ป่ารักน้ำ” ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สำหรับพื้นที่ส่วนที่สอง กรมธนารักษ์ดำเนินการจัดสร้างสวนป่า เนื้อที่ 320 ไร่การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ตามการส่งมอบพื้นที่ของการยาสูบแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย ระยะที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 61 ไร่ กรมธนารักษ์ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2559 และส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาและบริหารจัดการ
ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมากรมธนารักษ์ กรมธนารักษ์กำหนดแผนการดำเนินโครงการจัดสร้างสวนป่า ระยะที่ 2-3 โดยรวมงานออกแบบงานรื้อถอน และการก่อสร้างสวนป่า ระยะที่ 2 และระยะที่ 3 เนื้อที่รวม 259 ไร่ ไว้ในคราวเดียวกัน เพื่อให้รูปแบบการจัดสร้างสวนมีความต่อเนื่องสอดคล้องกัน ซึ่งกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และการยาสูบแห่งประเทศไทยได้ปรับเผนการส่งมอบพื้นที่ให้สอดคล้องกับแผนการดำเนินโครงการของกรมธนารักษ์
แต่เนื่องจากการก่อสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ของการยาสูบแห่งประเทศไทยยังไม่แล้วเสร็จ และมีความจำเป็นต้องสงวนพื้นที่เดิมไว้ใช้เพื่อผลิตยาสูบ จึงทยอยส่งมอบพื้นที่พร้อมอาคารราชพัสดุให้กรมธนารักษ์เป็น 3 ระยะ
ในปี 2563 กรมธนารักษ์สำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำรายละเอียดการจ้างออกแบบผังแม่บทสวนป่า ระยะที่ 2-3 โดยวางแนวคิดการออกแบบพื้นที่ 259 ไร่ ให้เป็นสวนป่าเชิงนิเวศ มีพื้นที่สวนป่ามากที่สุด โดยให้เก็บรักษาตันไม้เดิมทั้งหมดไว้และปลูกต้นไม้เพิ่มในพื้นที่โครงการฯ การเก็บรักษาถนนเดิมในพื้นที่ไว้เพื่อไม่ให้กระทบรากต้นไม้
พร้อมทั้งให้ออกแบบปรับปรุงอาคารเดิมในพื้นที่จำนวน 4 หลัง ซึ่งเป็นอาคารโรงงานผลิตยาสูบและอาคารโกดังที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ใช้ประโยชน์ โดยให้ปรับปรุงเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่มีพื้นที่จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สำหรับอาคารโกดังเดิมจำนวน 3 หลัง วางแนวคิดให้เป็นอาคารกีฬา เพื่อเป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน
อีกทั้งกรมธนารักษ์ได้จัดจ้างบริษัท สถาปนิก ชุมชนและสิ่งแวดล้อมอาศรมศิลป์ จำกัด เพื่อดำเนินการออกแบบผังแม่บทและรายละเอียดโครงการจัดสร้างสวนป่าระยะที่ 2-3 โดยออกแบบผังแม่บทสวนป่า ระยะที่ 2-3 ภายใต้แนวคิดในการสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปลูกป่าในใจคน
ด้วยการเป็นสวนป่าสำหรับคนเมือง (Urban Forest) ที่เชื่อมโยงและเอื้อต่อการเข้ามาทำกิจกรรมและใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตของคนเมือง เป็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิต ที่สร้างความผูกพันและสำนึกรักในคุณค่าของป่าน้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม และสำนึกหวงแหนดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในการออกแบบเน้นให้มีพื้นที่สวนป่ามากที่สุด มีพื้นที่ป่าและพื้นที่น้ำร้อยละ 85 โดยปลูกต้นไม้เพิ่มในพื้นที่โครงการฯ กว่า 7,000 ต้น มีพรรณไม้ประมาณ 350 ชนิด ทั้งไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน และไม้น้ำ และเพื่อให้สวนป่าแห่งนี้สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองจึงได้ออกแบบให้มีบึงน้ำจำนวน 4 บึง สามารถกักเก็บน้ำได้ถึง 128,000 ลูกบาศก์เมตร ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครต่อไปในอนาคต
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในโครงการได้ใช้ระบบบำบัดน้ำแบบบึงประดิษฐ์ โดยใช้กระบวนการทางธรรมชาติของระบบรากพืชชุ่มน้ำ และได้ออกแบบบ่อดักตะกอน ซึ่งเป็นจุดแรกในการรับน้ำจากคลองไผ่สิงโต มีสารแขวนลอยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัด ช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำจากคลองไผ่สิงโต เพื่อนำมาใช้รดน้ำต้นไม้ในโครงการ
อีกทั้งมีเส้นทางเดิน ทางวิ่งทางจักรยาน ระยะทางรวม 4 กิโลเมตร มีทางเดินศึกษาธรรมชาติลัดเลาะไปตามต้นไม้ใหญ่และบึงน้ำ มีการออกแบบทางเดินลอยฟ้า (Sky walk) ความสูง 5-8 เมตร ที่สามารถมองเห็นมุมมองในระยะสูงเป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลท์ของสวนที่สามารถให้ทุกๆ คน เดินเชื่อมไปยังส่วนอื่น 1 ของพื้นที่สวนป่าได้ในส่วนของงานสถาปัตยกรรม
อาคารโรงงานผลิตยาสูบเดิม ให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต การเรียนรู้ที่หลากหลาย มีพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สำหรับอาคารโกดังเดิมจำนวน 3 หลัง ปรับปรุงเป็นอาคารกีฬา และเปิดพื้นที่กลางอาคารทั้ง 4 หลัง ให้โปร่งโล่งและปลูกต้นไม้เพิ่ม กลางอาคารโดยใช้แนวคิดออกแบบอาคารเขียว เป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน
กรมธนารักษ์ กำหนดกรอบระยะเวลาการก่อสร้างสวนป่า ระยะที่ 2-3 มีระยะเวลาการก่อสร้าง 16 เดือน เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถจัดงานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2564 โดยขอความร่วมมือจากกองทัพบกเป็นผู้รับดำเนินการก่อสร้างสวนป่า ระยะที่ 2-3 เนื้อที่ประมาณ 259 กองทัพบกแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 พื้นที่ เริ่มเข้าดำเนินการในพื้นที่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563
จากการดำเนินการก่อสร้างสวนป่า “เบญจกิติ” ระยะที่ 2-3 ที่ผ่านมาในเดือนธันวาคม 2564 กองทัพบกได้ก่อสร้างสวนป่า ระยะที่ 2-3 แล้วเสร็จไปบางส่วนแล้ว เนื้อที่ประมาณ 160 ไร่ และกรมธนารักษ์ได้อนุญาตให้กรุงเทพมหานครใช้ที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวเพื่อดูแลบำรุงรักษา สำหรับพื้นที่สวนป่า ระยะที่ 2-3
ในส่วนที่เหลือ 103 ไร่ ซึ่งเป็นงานก่อสร้างสวนบางส่วน การก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าเชื่อมกับสะพานลอยข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร ซึ่งเป็นการเชื่อมสวนป่ากับสะพานเขียวให้ประชาชนสามารถสัญจรไปสวนลุมพินีได้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น และมีงานปรับปรุงอาคารเดิมจำนวน 4 หลัง
ขณะนี้กองทัพบกก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ เนื้อที่ 259 ไร่ พร้อมส่งมอบพื้นที่สวนดังกล่าวให้กรมธนารักษ์ โดยสวนป่าแห่งนี้เป็นสวนที่แสดงให้เห็นถึงการน้อมนำพระราชดำริมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับปวงชนชาวไทยที่สร้างการตระหนักรู้ถึงการอยู่ร่วมกันระหว่าง คน สัตว์ ป่า ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน
เพื่อสวนแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมแสดงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ที่จะมาถึงนี้