เปิดเบื้องหลังย้ายเครื่องบิน "นกแอร์" ทำไมถึงใช้เวลานานถึง 5 วัน
เปิดเบื้องหลังย้ายเครื่องบิน "นกแอร์" จากหนึ่งในทีมงานเคลื่อนย้ายเครื่องบิน ทีเล่าถึงสาเหตุทำไมถึงใช้เวลานานถึง 5 วัน หรือการขอรับการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ในการกู้ภัยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงเรื่องมาตรฐานการดำเนินงานของสนามบิน
เฟซบุ๊กเพจ GATC Thailand ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานเคลื่อนย้ายเครื่องบินของสายการบิน "นกแอร์" เผยความคืบหน้าเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้องที่สนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย โดยสามารถเคลื่อนย้ายตัวเครื่องขึ้นมาบนทางวิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อเวลา 04.00 น. ที่ผ่านมา พร้อมเล่าประเด็นที่ประชาชนสงสัย เช่น ทำไมสนามบินถึงต้องใช้ระยะเวลานานถึง 5 วัน , ขอรับการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ในการกู้ภัยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นๆ รวมถึงเรื่องมาตรฐานการดำเนินงานของสนามบิน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ดึงเครื่องบิน "นกแอร์" ขึ้นรันเวย์ได้แล้ว เผย จนท. เร่งทำงานทั้งคืน
- เปิดไทม์ไลน์ “นกแอร์” กู้เครื่องบินไถลออกนอกรันเวย์ สนามบินเชียงราย
- นกแอร์ ยกเลิกเที่ยวบินเชียงรายหลังต่อเวลาปิด พร้อมเพิ่มไฟล์ทบินเชียงใหม่
จากกรณีการเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้อง (Disabled Aircraft Removal) ของสายการบินนกแอร์ เที่ยวบิน DD108 อากาศยาน B737-800 หมายเลขทะเบียน HS-DBR ประสบเหตุ อากาศยานออกนอกทางวิ่ง (Runway Excursion) ระหว่างทำการร่อนลงทางวิ่ง 03 ณ สนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2565 เวลา 21.06 น.
สำหรับเหตุการณ์นี้ มีการสอบถามเข้ามาเกี่ยวกับเรื่องความไม่พร้อมของผู้ดำเนินงานสนามบินในการบริหารจัดการเพื่อเคลื่อนย้ายอากาศยานลำดังกล่าวใน 3 ประเด็นหลัก กล่าวคือ
1. ทำไมสนามบินถึงต้องใช้ระยะเวลานานถึง 5 วันในการเคลื่อนย้าย
2. ทำไมสนามบินต้องขอรับการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ในการกู้ภัยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นๆ ทั้ง กรมท่าอากาศยาน กองทัพอากาศ การบินไทย สนามบินนานาชาติ ไม่มีอุปกรณ์เป็นของตนเอง
3. เรื่องมาตรฐานการดำเนินงานของสนามบินในเรื่องดังกล่าว
เรื่อง การเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้อง (Disabled Aircraft Removal) มาตรฐาน ICAO (International) ปฎิบัติและข้อกำหนดภาครัฐ กพท.ระบุไว้ว่า เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของสายการบินเกิดเหตุ โดยมีสนามบินให้การสนับสนุน แต่ในกรณีที่สายการบินไม่สามารถดำเนินการเคลื่อนย้ายได้ สนามบินจะเข้าดำเนินการเอง”หรือ ทำงานร่วมกันภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ
ซึ่งตรงนี้ กำหนดไว้ในแผนการเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้อง (Disabled Aircraft Removal) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคู่มือการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ (Aerodrome Manual) ที่ได้รับความเห็นชอบโดย กพท. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินพลเรือน (Regulator) ของประเทศไทย
และในส่วนของสายการบินนกแอร์ (ผู้ประกอบการสายการบินอื่นๆประเทศไทย) ต่างต้องมีแผนฉุกเฉินการเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้องที่สอดคล้องกับแผนฉุกเฉินของสนามบิน
โดยในแผนเคลื่อนย้ายฯ ระบุว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์อากาศยานขัดข้องให้การบินไทยเป็นผู้ดำเนินการเข้ามาเคลื่อนย้าย
เนื่องจากการบินไทยเป็นผู้ประกอบการที่มีขีคความสามารถ มีอุปกรณ์ ความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ เพียงรายเดียวในประเทศไทยและต่างประเทศก็เคยมาขอให้ไปช่วย
ดังนั้น การบินไทยต้องจัดส่งเจ้าหน้าทีมเคลื่อนย้ายและวัสดุ อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจากศูนย์กลางคือ กทม. เดินทางเข้ามาดำเนินการ จึงเป็นที่มาว่าทำไม การบินไทยจึงต้องส่งเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์สนับสนุนที่เกี่ยวข้องในส่วนของการบินไทยเดินทางมาที่สนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย
สำหรับประเภทอุปกรณ์หลัก อุปกรณ์เสริมในการดำเนินเคลื่อนย้าย ขึ้นอยู่กับลักษณะท่าทางของอากาศยาน เช่น ล้อหน้าจมดินมั้ย ยางแตกมั้ย ออกไปไกลจากทางวิ่งกี่เมตร น้ำหนักของอากาศยานเป็นจำนวนเท่าไร
โดยในกรณีนี้ อากาศยานตกลงด้านข้างทางวิ่งและจมดิน จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์แผ่นปูพื้นทางชั่วคราวที่สามารถรับน้ำหนักอากาศยานได้
สำหรับวัสดุอุปกรณ์อื่นๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ ทั้ง กรมท่าอากาศยาน กองบิน 41 ทหารอากาศ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงราย เป็นข้อมูลที่สนามบินได้จัดทำรายชื่อหน่วยงาน จำนวนวัสดุอุปกรณ์กับหน่วยงานนั้น ในแผนเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้องของสนามบิน อยู่แล้ว
ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท.เท่านั้น แต่ทุกสนามบินในประเทศไทยจำนวน 39 แห่ง ทั้งของ ทอท. (6 แห่ง) กรมท่าอากาศยาน (29 แห่ง) บางกอกแอร์เวย์ ( 3 แห่ง) และอู่ตะเภา ต่างดำเนินการเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ จะต้องติดต่อหน่วยงานใด ประเภทอุปกรณ์อะไร จำนวนเท่าไร การขนส่งด้วยวิธีการใด ระยะเวลาในการเดินทางมาเมื่อไร ซึ่งรายละเอียดต่างหากที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการฟื้นฟูหรือเคลื่อนย้ายอากาศยานเพื่อให้สนามบินกลับมาเป็นบริการให้เร็วที่สุด
สำหรับสถานการณ์เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2565 ในช่วงบ่ายๆ ขณะที่เตรียมลากจูงอากาศยานลำดังกล่าวขึ้นมาบนทางวิ่ง เกิดปัญหาข้อขัดข้องทางเทคนิค ประกอบกับสภาพแวดล้อมระหว่างลากจูงอากาศยาน ทำให้ทางทีมงานต้องปรับแผนการดำเนินการใหม่ทั้งหมด
และได้มีการประชุมฯ ร่วมกันในเวลา 21.00 น.เพื่อประเมินสถานการณ์และสรุปว่า ต้องประกาศขยายระยะเวลาปิดทางวิ่งออกไปอีก 2 วัน คือ วันที่ 4-5 ส.ค.2565 (เปิดวันเสาร์ที่ 6 ส.ค.2565 เวลา 06.00 น.)
สำหรับ สาเหตุหลักสำคัญ ในการประกาศขยายระยะเวลา คือ การแจ้งให้ผู้ประกอบการสายการบินได้มีการวางแผนล่วงหน้าในการจัดตารางเที่ยวบิน และสื่อสารแจ้งผู้โดยสารล่วงหน้าในการตัดสินเดินทางโดยเร็วที่สุด พร้อมการอำนวยความสะดวกของผู้โดยสาร ซึ่งหากเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้องได้ก่อนเวลา สนามบินก็พร้อมที่จะกลับมาเปิดให้บริการทันที ก่อนเวลาที่ประกาศไว้
อย่างไรก็ตาม หากทุกสนามบินในประเทศไทยทั้ง 39 แห่ง ต้องจัดให้มีอุปกรณ์กู้ภัย เคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้องประจำทุกสนามบิน เพื่อใช้เตรียมไว้สำหรับรอเคลื่อนย้ายอากาศยานขัดข้องที่เกิดจากอุบัติเหตุ อุบัติการณ์รุนแรง คงต้องใช้งบประมาณมากมายมหาศาล รวมทั้งมีตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายนี้ มีจำนวนไม่มากในประเทศไทย
ข้อมูลจากเพจ GATC Thailand