เปิด!มติครม.เซ็นตั้งนายทหารประจำ 'อินโด-แปซิฟิก'10ปี เส้นทาง ’นาโต้2’?
ครม.เห็นชอบร่าง MOU กระทรวงกลาโหมไทย – อเมริกา จัดนายทหารระดับสูงติดต่อระหว่างกองกำลังสองประเทศ ในภาคพื้นอินโด- แปซิฟิก ผบ.สส.ไทย และผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิกเตรียมลงนามภายในเดือน ส.ค.นี้ มีผลนับตั้งแต่การลงนามเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆนี้มีมติเห็นชอบ ร่างบันทึกความตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยการจัดนายทหารติดต่อของกองทัพไทยประจำกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของร่างบันทึกความตกลงฯ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสาระสำคัญให้กระทรวงกลาโหม พิจารณาดำเนินการได้ตามความเหมาะสม รวมทั้งให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ร่วมลงนามในร่างบันทึกความตกลงฯ โดยให้กระทรวงการต่างประเทศ จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ร่วมลงนามในร่างบันทึกความตกลงฯ ตามที่กระทรวงกลาโหม เสนอ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก มีกำหนดลงนามร่วมกันในร่างบันทึกความตกลงฯ ในเดือนสิงหาคม 2565
สำหรับสาระสำคัญของเรื่องนี้ สหรัฐอเมริกาได้เสนอร่างบันทึกความตกลงฯ ให้ฝ่ายไทย (กองบัญชาการกองทัพไทย: บก.กองทัพไทย) พิจารณาในการประชุมความร่วมมือทางทหารระหว่างไทย - สหรัฐอเมริกา ระดับฝ่ายเสนาธิการอาวุโส (Thai - American Consultation Senior Staff Talks: THAI TAC SST) ครั้งที่ 21 ระหว่างวันที่ 12 - 17 สิงหาคม 2562 ณ มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเอกสารที่กำหนดรายละเอียดในการส่งนายทหารติดต่อของกองทัพไทยไปปฏิบัติหน้าที่ ณ กองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก (ณ มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา) โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมพิจารณาปรับแก้ถ้อยคำจนได้ข้อยุติแล้ว
กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบต่อร่างบันทึกความตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา ว่าด้วยการจัดนายทหารติดต่อของกองทัพไทยประจำกองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก (ร่างบันทึกความตกลงฯ)
ซึ่งเป็นเอกสารที่กำหนดรายละเอียดในการส่งนายทหารติดต่อของกองทัพไทย (ข้าราชการทหารหรือพนักงานพลเรือนของกองทัพไทยผู้ซึ่งจะได้รับอนุมัติหรือการรับรองจาก กห. สหรัฐอเมริกาโดยได้รับมอบอำนาจจาก กห. ให้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนอย่างเป็นทางการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแผนงาน โครงการ หรือเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลของคู่ภาคี) ไปปฏิบัติหน้าที่ ณ กองกำลังสหรัฐอเมริกา ภาคพื้นอินโด – แปซิฟิก
ซึ่งมีรายละเอียด เช่น 1.หน้าที่และการปฏิบัติของนายทหารติดต่อ: จะต้องปฏิบัติตามนโยบาย ระเบียบปฏิบัติ กฎหมาย และข้อบังคับทั้งปวงของรัฐบาลภาคีสหรัฐอเมริกา และจะไม่เผยแพร่หรือเปิดเผยข้อมูลที่นายทหารติดต่อเข้าถึงได้ต่อบุคคล บริษัท องค์กร หรือรัฐบาล อื่นใดโดยไม่ได้รับการอนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจากภาคีเจ้าภาพก่อน
2.ข้อตกลงทางการเงิน : กห. จะรับผิดชอบต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นของนายทหารติดต่อ เช่น ค่าตอบแทนและค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเดินทาง ค่าครองชีพที่เกิดขึ้นทั้งหมด
3. การระงับข้อพิพาท : จะได้รับการแก้ไขผ่านการหารือระหว่างคู่ภาคีเท่านั้นและจะไม่ถูกนำไปอ้างถึงต่อบุคคล ศาลภายในประเทศและศาลระหว่างประเทศหรือเวทีรูปแบบอื่นใดเพื่อการยุติข้อขัดแย้งนั้น
และ 4. การมีผลบังคับใช้และการสิ้นสุด: ตั้งแต่วันที่ลงนามเป็นระยะเวลา 10 ปี