จับตา‘นาโต้เอเชีย’ชนวนสร้างปมขัดแย้ง‘อินโด-แปซิฟิก’

จับตา‘นาโต้เอเชีย’ชนวนสร้างปมขัดแย้ง‘อินโด-แปซิฟิก’

จับตา‘นาโต้เอเชีย’ชนวนสร้างปมขัดแย้ง‘อินโด-แปซิฟิก’ ด้านจีนประกาศกร้าว พร้อมจะทำสงครามอย่างไม่ลังเลหากไต้หวัน ซึ่งจีนมองว่าส่วนหนึ่งของประเทศจีนยังคงยืนกรานประกาศอิสรภาพ

 รัฐบาลสหรัฐ ยืนยันต้องการค้ำจุนเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก พร้อมปฏิเสธไม่มีแผนจัดตั้ง ‘นาโต้เอเชีย’ หรือมีเจตนาสุมไฟขัดแย้งอินโด-แปซิฟิก  ขณะรมว.กลาโหมจีนประกาศกร้าวพร้อมทำสงครามทันทีหากไต้หวันยังยืนกรานประกาศอิสระภาพ

"ลอยด์ ออสติน" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ กล่าวปราศรัยบนเวที แชงกรีลา ไดอะล็อก(Shangri-La Dialogue )เมื่อวันเสาร์ (11 มิ.ย.)ซึ่งเป็นการประชุมด้านความมั่นคงระดับสูงของเอเชีย โดยยืนยันว่าสหรัฐต้องการค้ำจุนเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกทั้งยังไม่มีแผนจัดตั้ง ‘นาโต้เอเชีย’ หรือมีเจตนาสุมไฟขัดแย้งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

“เสาหลักจะอยู่ในช่องแคบไต้หวัน”ออสติน กล่าวซึ่งคำพูดนี้มีขึ้นท่ามกลางคำเตือนหลายต่อหลายรอบจากจีนเกี่ยวกับความร่วมมือทางทหารของสหรัฐและไต้หวัน ซึ่งทางการปักกิ่งมองว่าเป็นส่วนหนึ่งในดินแดนของจีน

 รัฐมตรีกลาโหมของสหรัฐ ย้ำว่านโยบายของวอชิงตันในเรื่องไต้หวันยังคงไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือสหรัฐยังคงยึดมั่นต่อนโยบายจีนเดียว คัดค้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพปัจจุบันแต่เพียงฝ่ายเดียว จึงไม่สนับสนุนการประกาศเอกราชของเกาะไต้หวัน แต่ออสติน ก็เน้นย้ำว่าสหรัฐจะเดินหน้าให้ความช่วยเหลือไต้หวันในการธำรงไว้ซึ่งแสนยานุภาพในการป้องกันตนเองอย่างเพียงพอด้วยเช่นกัน

"ท่ามกลางการบีบบังคับจากจีน การยั่วยุและการบั่นทอนเสถียรภาพผ่านความเคลื่อนไหวทางทหารใกล้ไต้หวัน สหรัฐ ยังคงมุ่งเน้นธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพ และสถานการณ์ที่เป็นอยู่ข้ามช่องแคบไต้หวัน ซึ่งดูเหมือนกำลังถูกคุกคามจากจีนซึ่งประเด็นนี้ไม่ได้อยู่ในความสนใจของรัฐบาลวอชิงตันเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นความกังวลของนานาชาติด้วย"รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ ระบุ

ทั้งนี้ สถานการณ์ในยูเครนกลายเป็นประเด็นหลักในที่ประชุมแชงกรีลา ไดอะล็อก โดย“เว่ย เฟิ่งเหอ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีนย้ำว่า จีนสนับสนุนการเจรจาสันติภาพและต่อต้านการจัดหาอาวุธ และการสร้างแรงกดดันในระดับสูงสุด พร้อมกับย้ำว่า จีนไม่ได้ให้การสนับสนุนใดๆ กับรัสเซีย

“อะไรคือมูลเหตุของวิกฤตครั้งนี้ ใครบงการอยู่เบื้องหลัง ใครเสียมากที่สุด และใครได้ประโยชน์สูงสุด ใครส่งเสริมสันติภาพและใครเป็นผู้สาดน้ำมันเข้ากองเพลิง ผมคิดว่าทุกคนรู้คำตอบดีอยู่แล้ว”เว่ย กล่าว

 เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา “ลิซ ทรัสส์” รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร เคยระบุว่า ระเบียบโลกที่สร้างขึ้นมาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเย็นไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นชาติตะวันตกจึงต้องการ “นาโต้โลก” เพื่อเสาะหาภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ และจากนั้นก็เริ่มมีการพูดถึงประเด็นการจัดตั้งพันธมิตรนาโต้ 2 ของสหรัฐสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อวันศุกร์ (10 มิ.ย.) ออสติน ได้พบปะกับเว่ย ที่บอกกับ ออสติน ว่ารัฐบาลจีนจะสู้จนหมดหน้าตักเพื่อขัดขวางไต้หวันแยกตัวจากจีน

ก่อนหน้านั้น 2 วัน จีนเพิ่งแถลงประณามอย่างรุนแรงต่อกรณีที่สหรัฐอนุมัติข้อตกลงขายอาวุธคิดเป็นมูลค่า 120 ล้านดอลลาร์แก่ไต้หวัน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว 

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่า การขายอาวุธละเมิดหลักการจีนเดียวอย่างรุนแรง บ่อนทำลายอำนาจอธิปไตยและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของจีน และทำร้ายความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอย่างรุนแรง รวมถึงสันติภาพและเสถียรภาพข้ามช่องแคบไต้หวัน

เว่ย บอกด้วยว่า"ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศไม่อาจดีขึ้นได้หากสหรัฐไม่เลิกพฤติกรรมดังกล่าวแต่หากสหรัฐต้องการเผชิญหน้า เราก็พร้อมต่อสู้จนถึงที่สุด แต่ทางที่ดีกองทัพของทั้งสองฝ่ายควรพยายามทำสิ่งที่เป็นบวกเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น"

เว่ย ยังกล่าวเสริมว่า ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของประธานาธิบดีไบเดน จะนำไปสู่ความขัดแย้งและการเผชิญหน้า

ทั้งยังกล่าวด้วยว่าจีนจะทำสงครามอย่าง “ไม่ลังเล” หากไต้หวัน ซึ่งจีนมองว่าส่วนหนึ่งของประเทศ “ประกาศอิสรภาพ”

 "หากใครก็ตามกล้าที่จะแยกไต้หวันออกจากจีน กองทัพจีนจะไม่ลังเลอย่างแน่นอนที่จะเริ่มต้นทำสงครามไม่ว่าจะต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม และจีนพร้อมจะทำลายแผนเพื่อการเป็นอิสรภาพของไต้หวันให้ย่อยยับ และค้ำจุนไว้ซึ่งการรวมตัวกันของแผ่นดินแม่อย่างกล้าหาญ ไต้หวันคือไต้หวันของจีน และการใช้ไต้หวันเพื่อยับยั้งจีนไม่มีทางเป็นจริงได้"เว่ย กล่าว

เมื่อเดือนที่แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐประกาศว่าสหรัฐจะเข้าไปเกี่ยวข้องทางทหารหากเกิดความขัดแย้งใดๆ ระหว่างจีนกับไต้หวัน ซึ่งคำพูดนี้ดูเหมือนการละทิ้งนโยบายความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ที่สหรัฐใช้มาอย่างยาวนาน ในเรื่องเกี่ยวกับเกาะแห่งนี้และในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและปักกิ่ง

แต่ออสติน และแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐก็ออกมาแก้ถ้อยแถลงของไบเดนด้วยการประกาศว่า สหรัฐยังคงยืนหยัดในนโยบายจีนเดียว ซึ่งถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้การยอมรับแต่ไม่รับรองในอำนาจอธิปไตยของไต้หวัน