กรมอุทยานฯ สั่งตรวจสอบคลิปต่างชาติจับ “ปลานกแก้ว” เร่งดำเนินคดีตามกฎหมาย
อธิบดี อส. สั่งตรวจสอบคลิปต่างชาติจับ “ปลานกแก้ว” อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี ล่าสุดทราบชื่อเรือลำก่อเหตุแล้ว เร่งดำเนินคดีตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ตามที่เพจ “หมอแล็บแพนด้า” ได้โพสต์ชายชาวต่างชาติได้มีการโพสต์คลิปวิดีโอในแอปพลิเคชัน TikTok ขณะกำลังจับ "ปลานกแก้ว" ซึ่งถูกระบุว่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยทางเพจได้ระบุข้อความว่า
“มีคนแจ้งเข้ามาเยอะเลยครับ ชาวต่างชาติโพสต์ติ๊กต็อกจับปลานกแก้วในบ้านเราเป็นพวงเลย เอาไงดี”
จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งทำการตรวจสอบทันที โดยผู้โพสต์ TikTok ใช้ชื่อบัญชี roslanofficial ช่องทาง ผ่าน https://www.tiktok.com/@roslanofficial จากการตรวจสอบพบคลิปชายหนุ่ม และกัปตันเรือ ยืนถือปลานกแก้ว 3 ตัว ปลาไม่ทราบชนิด 2 ตัว และใช้มีดแทงหัวปลาไหลทะเล 1 ตัว
โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี ได้ประสานเจ้าหน้าที่สำนักทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งที่ 10 กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง เข้าดำเนินการตรวจสอบพื้นที่บริเวณเกิดเหตุ จากการตรวจสอบพบพื้นที่เกิดเหตุอยู่บริเวณเกาะพีพีเล เขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี เจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการรวบรวมหลักฐานเปรียบเทียบพิกัดที่เกิดเหตุตามคลิปวิดีโอดังกล่าว ซึ่งทราบว่า เรือที่ก่อเหตุชื่อเรือ “เอวาริน” ขณะนี้อยู่ระหว่างติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย และกฏหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าว มีความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 19 (2) ฐานเก็บหา นำออกไป ทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตรายซึ่งทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือกระทำการอื่นใดอันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา 19 (3) ฐานล่อหรือนำสัตว์ป่าออกไปหรือกระทำให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ป่าด้วยประการใดๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา 19 (7) ฐานนำเครื่องมือสำหรับล่าสัตว์หรือจับสัตว์ หรืออาวุธใดๆ เข้าไปในอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา 20 ฐานบุคคลซึ่งเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้สั่งให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนด
และ มาตรา 40 ผู้ใดกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการไม่ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ ผู้นั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปนั้น
สำหรับ ปลานกแก้ว (Parrotfish) เป็นปลาทะเลขนาดกลางชนิดหนึ่ง มีเกล็ดขนาดใหญ่ จะงอยมีปากยืดหดได้ ปากคล้ายนกแก้ว (เป็นที่มาของชื่อปลานกแก้ว) เนื่องจากปลานกแก้วมีรูปร่าง ลักษณะ และสีสันสวยงาม จึงมีผู้นิยมจับมาดูเล่น และนำมาเป็นอาหาร ทำให้ประชากรปลานกแก้วลดลง ส่งผลกระทบระบบนิเวศน์โดยรวมของทะเลบริเวณนั้นก็จะเสียสมดุลไปอย่างมาก ปะการังตายมากขึ้น ฟื้นตัวช้า และเมื่อเกิดการฟอกสีเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ก็จะฟื้นตัวยากหรือตายไปอย่างถาวร
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์