ปิดช่องโหว่คดีแชร์ลูกโซ่ (Forex 3D) | ชณิสรา ดำคำ
คดี Forex 3D ไม่ใช่คดีแรกที่มีประชาชนจำนวนมากถูกฉ้อโกงและมีผู้มีหน้ามีตาในสังคมถูกดำเนินคดี คดีลักษณะนี้เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน
คดี Forex3D เป็นการฉ้อโกงประชาชนซึ่งมีกลไกคล้ายคลึงกับแชร์ลูกโซ่ที่พัฒนารูปแบบจากแชร์ลูกโซ่ดั้งเดิมมาสู่การหลอกลวงที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยอิงกับการลงทุนที่คนกำลังให้ความสนใจ เช่น การลงทุนในตลาดหุ้นไทย ตลาดแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ และตลาดสกุลเงินดิจิทัล
สำหรับคดี Forex 3D ที่ยังอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น เป็นการหลอกลวงเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาร่วมลงทุนซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินต่างประเทศ (Forex) ผ่านเว็บไซต์ www.forex-3D.com สร้างความเสียหายต่อประชาชนชนเป็นวงกว้างและยากต่อการตรวจสอบ โดยมีผู้หลงเชื่อตกเป็นผู้เสียหายราว 8,436 คน มีมูลค่าความเสียหายรวมจำนวนกว่า 2,000 ล้านบาท
รูปแบบของแชร์ลูกโซ่ในปัจจุบันมักเปิดเป็นบริษัทบังหน้า หรือมีการอ้างตนเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการลงทุนและเชิญชวนให้ลงทุนโดยการโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มสื่อโซเซียลมีเดีย สร้างภาพลักษณ์ให้ตนดูร่ำรวย ใช้ชีวิตหรูหรา อาศัยกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียง ดารา เน็ตไอดอล หรือแม้กระทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาสนับสนุนสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจ
ส่วนเงินที่ได้มาจากการหลอกลวงจะสูญเสียไปกับการซื้อทรัพย์สินเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ตนเอง และนำไปหมุนเวียนจ่ายเป็นผลตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนในชั้นแรกๆ ทำให้เงินของผู้เสียหายไม่สามารถตามคืนกลับมาได้ ซึ่งการกระทำเช่นนี้เข้าข่ายเป็นการฟอกเงินตามกฎหมายการฟอกเงินอีกด้วย
การกำกับดูแลแชร์ลูกโซ่มีกฎหมายหลักที่ใช้มานานกว่า 40 ปี คือ พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และอีกฉบับคือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหากเป็นกรณีที่มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมากและมีวงเงินความเสียหายตามเกณฑ์ที่กำหนดจะเป็นคดีพิเศษภายใต้ DSI นอกจากนี้ยังมีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่รับผิดชอบด้านการยึดและอายัดทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานที่ผู้เสียหายสามารถไปร้องเรียนได้ แต่ไม่มีอำนาจสอบสวน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การร้องทุกข์และดำเนินคดีล่าช้า เพราะก่อภาระต้นทุนด้านเวลาเพิ่มเติมแก่ผู้เสียหาย อีกทั้งผลจากความล่าช้าอาจส่งผลให้ผู้ฉ้อโกงไหวตัวทันว่าจะถูกดำเนินคดีจึงทำการโอนย้ายถ่ายเททรัพย์สินที่ได้จากการกระทำผิดออกนอกประเทศ
นอกจากความล่าช้าที่สร้างผลกระทบหลายทางแล้ว โอกาสที่เจ้าหน้าที่จะกวาดล้างแชร์ลูกโซ่ให้หมดไปนั้นยังเป็นไปได้ยาก ถึงแม้จะมีกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานแล้วก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแชร์ลูกโซ่เป็นคดีที่ต้องมีพยานหลักฐานถึงสามารถเอาผิดผู้ฉ้อโกงได้
หากยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นและไม่มีการร้องทุกข์เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใด ๆ ได้ และถึงแม้จะมีการดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว แต่กฎหมายกลับมีช่องโหว่ด้านบทลงโทษ ที่หากเทียบกับต้นทุนของการกระทำความผิดหรือบทลงโทษที่อาชญากรจะได้รับนั้นน้อยกว่าทรัพย์สินที่ได้จากการหลอกลวงหรือฉ้อโกงประชาชน
ทำให้ผู้ฉ้อโกงอาจไม่เกรงกลัวต่อโทษที่จะได้รับ เช่น คดีแชร์ชม้อย หรือ คดีนางชม้อย ทิพย์โส มีมูลค่าความเสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท แม้จะถูกตัดสินจำคุกแสนกว่าปี แต่ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้กระทำผิดรับโทษสูงสุดได้ 20 ปี และท้ายที่สุดนางชม้อยกลับถูกจำคุก 7 ปี 11 เดือน 5 วัน จึงเป็นที่ปรากฎว่าบางคดีแชร์ลูกโซ่มีกลุ่มคนกลุ่มเดิมเป็นผู้ฉ้อโกง หรืออาจเป็นผู้เสียหายในคดีก่อนที่ผันตัวมาเป็นผู้ฉ้อโกงเสียเองเพราะต้องการเงินที่สูญเสียคืน
อีกทั้งปัจจุบันยังพบว่ากลุ่มผู้เสียหายไม่ใช่กลุ่มผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เป็นกลุ่มชนชั้นกลางที่รายได้ไม่พอกับรายจ่ายและต้องการหารายได้เพิ่ม รวมทั้งกลุ่มที่มีฐานะดีที่ต้องการความมั่งคั่ง ต้องการหาประโยชน์จากการเก็งกำไรในระยะสั้นแม้รู้ว่าเสี่ยงถูกหลอกลวงก็ตาม
แชร์ลูกโซ่ถือว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เงินไหลออกนอกระบบ สร้างปัญหาหนี้สิน และสร้างพฤติกรรมเลียนแบบหวังรวยลัดโดยสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ดังนั้น
ปัญหาแชร์ลูกโซ่ ควรมีการดำเนินการทั้งการป้องกันและการปรามปราบ ดังนี้
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันทำงานเชิงรุก (ป้องกัน) มากกว่าเชิงรับ (ปราบปราม) โดย ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต้องให้ความร่วมมืออย่างเข้มงวดในการรายงานธุรกรรมทางการเงินที่ต้องสงสัยให้กับสำนักงาน ปปง. ภายใต้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเพื่อเร่งดำเนินการตรวจสอบและระงับเหตุก่อนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง อีกหน่วยงานคือ สำนักงาน กลต. ควรสอดส่องการใช้การสร้างกลุ่มเพื่อชี้ชวนการลงทุนในแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดีย โดยไม่ได้รับใบอนุญาตที่ปรึกษาการลงทุนจาก กลต. ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการใช้ช่องทางนี้อย่างแพร่หลายโดยผิดกฎหมาย
- ควรกำหนดให้มีหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการรับเรื่องร้องเรียนแล้วส่งต่อเรื่องไปยังหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีเพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างมีระบบ รวดเร็ว และสอดคล้องกับรูปแบบกลโกงที่เปลี่ยนไป เพื่อลดภาระต้นทุนการร้องทุกข์ของผู้เสียหาย จากการที่มีหลายหน่วยงานรับผิดชอบและทำงานแบบแยกส่วน
- ทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์และทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการทบทวนและประเมินผลสัมฤทธิ์ของพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 โดยเฉพาะในเรื่องอัตราโทษว่ายังมีความคุ้มค่ากับภาระที่เกิดขึ้นแก่รัฐในดำเนินติดตามคดีและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ เนื่องจากกฎหมายบังคับใช้มาเป็นระยะเวลาเกือบ 40 ปี
ประการสุดท้าย คือ การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจประชาชนเกี่ยวกับกลโกงแชร์ลูกโซ่และผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันป้องกันการตกเป็นเหยื่อ หรือแม้กระทั่งการเป็นผู้ฉ้อโกงเสียเอง
คอลัมน์ วาระทีดีอาร์ไอ
ชณิสรา ดำคำ นักวิจัย
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
[email protected]