ผู้บริโภคเดินหน้าค้านดีลทรู-ดีแทค ชี้หลังควบรวม “คนจน ชายขอบ จะถูกทิ้ง”

ผู้บริโภคเดินหน้าค้านดีลทรู-ดีแทค  ชี้หลังควบรวม “คนจน ชายขอบ จะถูกทิ้ง”

สภาผู้บริโภค ชี้ หลังควบรวม “คนจน คนชายขอบ จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” ระบุ จะเดินหน้าค้านควบรวมจะเข้มข้นจนถึง 20 ต.ค.65  

จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีวาระในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ในวันนี้ (12 ตุลาคม 2565) และเมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติให้เลื่อนการลงมติออกไป

โดยให้เหตุผลว่า ต้องรอข้อมูลใหม่เพิ่มเติม จากบริษัท SCF Associates ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยต่างประเทศที่บอร์ด กสทช. จ้างให้ศึกษาผลกระทบต่อผู้บริโภคจากการควบรวมกิจการบริการโทรศัพท์มือถือ โดยจะมีการนัดประชุมเป็นวาระพิเศษเพื่อตัดสินในเรื่องดังกล่าววันที่ 20 ตุลาคม 2565 นั้น

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า ผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศได้ชี้ว่าหลังการควบรวม กลุ่มคนจน และคนชายขอบจะถูกมองข้ามในการบริการที่ไม่ทั่วถึง ทั้งนี้เพราะการบริการจะเน้นไปในกลุ่มคนรวยในเมือง หรือชุมชนหนาแน่นที่จะสร้างกำไรได้มากกว่า จึงแสดงความมุ่งมั่นร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ จะไม่ยอมรับพิจารณาเงื่อนไข 14 ข้อ และค้านการควบรวมที่ กสทช. ได้เลื่อนการพิจารณาลงมติออกไปถึงวันที่ 20 ตุลาคม นี้

การตื่นตัวของผู้บริโภคทั่วประเทศที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการควบรวมครั้งนี้ทำให้ กสทช. ต้องพิจารณารายงานการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศอย่างรอบคอบก่อนมีมติ อีกประการหนึ่ง การมีมติเลื่อนในครั้งนี้ทำให้เห็นว่าคณะกรรมการ กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวม ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้ กสทช. ใช้อำนาจของตัวเองเต็มที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชน

นอกจากนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอให้ทั้งทรู และ ดีแทค เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการของทั้งสองค่ายด้วย เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นผู้ให้บริการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการในประเด็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคม รวมถึงการที่ กสทช. กำลังตัดสินใจจะทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าอินเทอร์เน็ต และค่าโทรศัพท์แพงขึ้นจากการควบรวมกิจการโทรคมนาคม แต่กลับไม่มีการรับฟังความคิดเห็นผู้บริโภคเลย ดังนั้น จึงอยากให้ กสทช. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นกรณีพิเศษด้วย

“ผู้บริโภคยืนยันว่าเราไม่อนุญาตควบรวมกิจการโทรคมนาคม เพราะกระทบกับทั้งกระเป๋าสตางค์ผู้บริโภคและภาพรวม GDP ของประเทศ ประกอบกับที่อนุฯ กสทช. ที่ตั้งขึ้นมาเองเพื่อศึกษาผลกระทบการควบรวมดีลนี้ก็ระบุชัดว่ากระทบประชาชน และเสี่ยงผูกขาดตลาด” สารี กล่าว

สอดคล้องกับ สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค ที่แสดงความเห็นว่า กสทช. ควรมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จากการควบรวมกิจการทรู และดีแทค รวมถึงการควบรวมกิจการเดียวกันในกรณีอื่นๆ เนื่องจากการควบรวมจะเป็นการลดทางเลือก และกระทบต่อประโยชน์ผู้บริโภคโดยตรง

ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค ย้ำถึงการทำงานของ กสทช. ว่า ควรยึดหลักการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง เนื่องจากจะเป็นการป้องกันการคัดค้านจากผู้บริโภคในระยะยาว แต่หากยืนตรงข้ามกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กลับจะยิ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นต่อตลาดโทรคมนาคมในอนาคต พร้อมย้ำว่า กสทช. ควรพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นเจตจำนงของการมี กสทช. ในปัจจุบัน

“อยากเชิญชวนผู้ใช้บริการมือถือทุกคน ให้ออกมาร่วมแสดงพลัง และแสดงความเห็นต่อการควบรวมดังกล่าว เพราะจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง ทั้งยังส่งผลต่อสิทธิในการเลือกซื้อสินค้า และบริการ รายจ่าย และประโยชน์อื่นๆ ที่ผู้บริโภคจะได้รับอีกด้วย” สุภิญญา กล่าว

ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การที่ กสทช. แถลงว่าจะเลื่อนมติการพิจารณาดีลควบรวมถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงการใช้เวลาในการพิจารณา และการรวบรวมข้อมูลจากผลการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคก่อนตัดสินใจดำเนินการหรือไม่ เนื่องจากมีข้อมูลใหม่ๆ ว่า จะมีผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม หากมีการควบรวบระหว่างทรู-ดีแทค และเป็นการยืนยันว่า กสทช. มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจประเด็นดังกล่าว

“ขณะนี้ กสทช. ยังไม่เคยมีการเปิดเผยเงินงบประมาณในการว่าจ้างที่ปรึกษาต่างๆ ซึ่ง กสทช. จำเป็นต้องมีการตอบคำถามของสังคมในตอนนี้ เช่น การถือหุ้นของที่ปรึกษา เพื่อสร้างความโปร่งใส เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีการกำกับดูแลโดยสาธารณะ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเปิดเผยกับประชาชนและผู้บริโภค” ศิริกัญญา ระบุ

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังได้หาพันธมิตรเพื่อช่วยคัดค้านการควบรวมกิจการดังกล่าว โดยได้แจ้งไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อประเทศนอร์เวย์ว่าบริษัทเทเลนอร์ (Telenor Group) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค อาจมีการกระทำที่ขัดหลักธรรมาภิบาลของการทำธุรกิจในประเทศนอร์เวย์ เพื่อสร้างแรงกดดัน และช่วยกำกับให้มีทิศทางที่ถูกต้อง และเพื่อที่ กสทช. จะไม่ตัดสินใจอนุญาตการควบรวมกิจการ

ขณะที่ กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า เมื่อทราบว่าจะมีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรู และดีแทคที่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค ทำให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคทั่วประเทศติดตาม และออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งหนึ่งที่ทำในฐานะพลเมือง ในฐานะเจ้าของภาษีซึ่ง กสทช. เองได้รับคือ การร่วมมือกับเว็บไซต์ Change.org ชวนผู้บริโภคลงชื่อค้านการควบรวมดังกล่าว โดยมองว่าผู้บริโภคทุกคนเป็นพลเมืองในประเทศนี้ เป็นเจ้าของภาษีที่ กสทช. ได้รับเงินเดือนผ่านการจ่ายภาษีของประชาชน

กชนุช กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ไปยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่าน ให้ กสทช. พิทักษ์ประโยชน์ของผู้บริโภคด้วยการไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ แต่สุดท้ายพบว่า กสทช. ได้ใช้เล่ห์กลทางกฎหมายต่างๆ เช่น การบอกว่าตัวเองไม่มีอำนาจในการพิจารณา แต่ทั้งศาลปกครอง และคณะกรรมการกฤษฎีการะบุออกมาแล้วว่า กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ

“อยากเรียกร้อง กสทช. ในฐานะผู้บริโภคว่า ผู้บริโภคคือ เจ้าของคลื่นความถี่ และคลื่นความถี่ยังเป็นสาธารณะสมบัติของประเทศชาติ และเงินทุกบาทที่เราเสียภาษีไปก็ควรถูกใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุดโดยคำนึงถึงประชาชนเจ้าของประเทศ” กชนุช กล่าวและว่า ทั้งนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การยื้อเวลาการพิจารณาออกไปเป็นวันที่ 20 ตุลาคม อาจหมายถึงการซื้อเวลาหรือไม่ ซึ่งอาจมีการตัดสินใจพิจารณาควบรวมกิจการช่วงวันหยุด ดังนั้น ในระหว่างนี้ผู้บริโภคจะรวมพลัง ร่วมไม้ร่วมมือจับตา และเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการครั้งนี้ต่อไป และขอให้ กสทช. ทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อประชาชน นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายผู้บริโภคจากทั่วประเทศ เข้ารับฟังการแถลงข่าว และร่วมแสดงจุดยืนที่จะคัดค้านการควบรวมครั้งนี้อย่างถึงที่สุด"

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์