นักวิชาการ ชี้ควบทรู-ดีแทค ‘กสทช.’ ต้องยึดประกาศปี 61 สร้างประโยชน์สูงสุด

นักวิชาการ ชี้ควบทรู-ดีแทค ‘กสทช.’ ต้องยึดประกาศปี 61 สร้างประโยชน์สูงสุด

"นักวิชาการด้านกฎหมาย" ชี้ปมควบรวมทรู-ดีแทค ‘กสทช.’ ต้องยึดประกาศปี 2561 กสทช.มีหน้าที่แค้รับทราบ -สร้างประโยชน์สูงสุด

ดร. รุจิระ  บุนนาค อาจารย์พิเศษ นักวิชาการ และนักกฎหมาย  กล่าวถึงกรณีการควบรวมธุรกิจของทรู-ดีแทค ที่ล่าสุดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เลื่อนลงมติออกไปเป็นวันที่ 20 ต.ค.65 ในมุมมองของนักกฎหมายว่า การควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทคเป็นไปตามประกาศ กสทช. พ.ศ. 2561 อย่างชัดเจน คือเป็นการที่สองบริษัทควบรวมกันและเกิดเป็นบริษัทใหม่ (A+B=C) ซึ่งเป็นกรณีที่เรียกว่า Amalgamation  ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าไปมีอำนาจ Take Over หรือควบคุมในผู้รับใบอนุญาตอีกฝ่าย แต่เป็นการควบรวมกันและเกิดเป็นบริษัทใหม่  ตามประกาศจึงไม่ได้กำหนดให้ กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาต แต่ยังคงมีอำนาจในการกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นกรณีแบบเดียวกับการควบรวม TOT และ CAT เป็น NT หรือ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) แต่จะแตกต่างจากการกรณีเอไอเอสเข้าซื้อกิจการ 3BB  ที่เป็นไปตามประกาศ พ.ศ. 2549 เป็นกรณีแบบการเข้าซื้อหรือถือหุ้นของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น โดยถือว่าเป็นกรณีที่แตกต่างกับการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคอย่างสิ้นเชิง จึงไม่สามารถนำกรณีเอไอเอสเข้าซื้อกิจการ 3BB  มาเปรียบเทียบกันได้
 

“การควบรวมทรูและดีแทค ต้องยึดตามประกาศของกสทช. ปี 2561 ที่ระบุไว้ชัดเจนว่ากสทช.ไม่มีอำนาจพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตการรวบกิจการ แต่มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ สอดคล้องกับผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่กสทช.ได้ให้ศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ และข้อสรุปของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นองค์กรที่ให้ความเห็นและให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานทางราชการ ทั้งสองหน่วยงานมีบทสรุปที่สอดคล้องกันว่า กสทช. ต้องพิจารณาตามประกาศของ กสทช. พ.ศ. 2561 ดังนั้น กสทช.จึงมีหน้าที่รับทราบเพียงเท่านั้น แต่ไม่ได้มีอำนาจว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตควบรวม” 
 

ดร. รุจิระ ยังกล่าวต่อว่า  ตามประกาศมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ปี 2561 ในข้อ 5 ได้ระบุชัดเจนว่าผู้รับใบอนุญาต หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะทำการรวมธุรกิจกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นต้องรายงานต่อเลขาธิการ กสทช. ไม่น้อยกว่า 90 วันก่อนก่อนการดำเนินการ ซึ่งในส่วนนี้ทางทรูและดีแทคก็ได้ดำเนินการตามขั้นตอนแล้ว ในขณะเดียวกันหากผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องราคาค่าบริการว่าจะสูงขึ้นหรือไม่หลังจากควบรวมกิจการ ในส่วนนี้ตามประกาศข้อ 12 ที่ระบุว่า หากการรวมธุรกิจตามข้อ 5 ส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีดัชนี HHI มากกว่า 2,500 และเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 ทางกสทช.สามารถพิจารณากำหนดเงื่อนไขหรือมาตราการเฉพาะมาบังคับใช้ เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการคุมครองผู้บริโภค ด้วยการควบคุมราคาค่าบริการ และที่ผ่านมาค่าบริการโทรศัพท์มือถือได้ลดลงมาตลอด เมื่อเปรียบกับสินค้าอื่น ๆ ที่ราคาสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงของภาวะเงินเฟ้อ และจะเห็นได้ว่าราคาของผู้ให้บริการยังห่างจากเพดานราคาที่กสทช.กำหนดไว้ 10% ซึ่งในกรณีหากราคาสูงกว่าที่กำหนด กสทช. ต้องพิจารณารับผิดชอบดำเนินการเพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุดต่อไป
 
"ดังนั้นการควบรวม ทรู-ดีแทค จึงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีหากกสทช.ใช้อำนาจเกินกฎหมายในการพิจารณา ประเด็นสำคัญคือ คณะกรรมการ กสทช.ถือเป็น เจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ จึงถูกควบคุมโดยกฎหมายนี้ ตามมาตรา 172 ที่ระบุว่า เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติ อย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวังโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้อาจจะรวมไปถึงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่ได้กำหนดความผิดไว้เช่นกันด้วย อย่างไรก็ตามบอร์ด กสทช. ชุดนี้ แตกต่างกับที่ผ่านมา ตรงที่ไม่มีนักกฎหมาย ถูกเลือกเข้ามาเป็น บอร์ด กสทช. เลย จึงไม่มีผู้ที่คอยชี้นำแนวทางที่ถูกต้องตามหลักกฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องควบรวมนี้ ที่การพิจารณาประเด็นด้านข้อกฎหมายซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญมาก” ดร. รุจิระ กล่าว