ชม "ฝนดาวตกเจมินิดส์" คืนวันที่ 14 ธันวาคม 2565
NARIT ชวนชม "ฝนดาวตกเจมินิดส์" คืนวันที่ 14 ธันวาคม 2565 อัตราการตกสูงสุดประมาณ 150 ดวง/ชั่วโมง พร้อมเช็กช่องทางลงทะเบียน “โต้ลมห่มหนาว นอนนับฝนดาวตกเจมินิดส์" ได้ที่นี่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า ชวนมา โต้ลมห่มหนาว นอนนับ "ฝนดาวตกเจมินิดส์" คืน 14 ธ.ค. นี้ ในเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ณ อ่างเก็บน้ำห้วยลาน ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมชมวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจ อาทิ ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวอังคาร กาแล็กซี เนบิวลา และกระจุกดาว ฯลฯผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากชนิด
NARIT ร่วมกับ เทศบาลตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ จัดกิจกรรมสังเกตปรากฏการณ์ ฝนดาวตกเจมินิดส์ “โต้ลมห่มหนาว นอนนับฝนดาวตกเจมินิดส์” คืนวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ใช้พื้นที่บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำห้วยลานที่ค่อนข้างมืด ปราศจากแสงไฟรบกวน เหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง
ภายในงานมีกิจกรรมดาราศาสตร์ที่น่าสนใจ ได้แก่ บรรยายการดูดาวเบื้องต้น แนะนำวัตถุท้องฟ้าและกลุ่มดาวฤดูหนาว แนะเทคนิคการถ่ายภาพฝนดาวตก ชมวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ และนอนนับฝนดาวตก เป็นต้น เริ่มตั้งแต่เวลา 17:00-23:00 น.
ลงทะเบียนออนไลน์กิจกรรม โต้ลม ห่มหนาว นอนนับดาว ฝนดาวตกเจมินิดส์ 2565 (คลิกที่นี่)
ผู้สนใจร่วมกิจกรรมในภูมิภาคอื่นสามารถเข้าร่วมได้ที่
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โทร. 086-4291489
- หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา (มีพื้นที่สำหรับกางเต็นท์ฟรี) โทร. 084-0882264
การเตรียมความพร้อมชมฝนดาวตก
- เสื้อกันหนาว ถุงมือ กางเกงขายาว
- เสื่อ
- ยากันยุง
- ไฟฉายสีแดง
- เบาะรองนั่ง
อุปกรณ์ที่จำเป็น สำหรับถ่ายภาพฝนดาวตก
- เลนส์ไวแสง มุมกว้าง
- กล้องดิจิทัล
- สายลั่นชัตเตอร์
- ขาตั้งกล้อง
ปรากฏการณ์ "ฝนดาวตกเจมินิดส์" ในครั้งนี้ สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ไม่จำเป็นต้องมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ควรเลือกสถานที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงไฟรบกวน แนะนำให้นอนชม เนื่องจากฝนดาวตกกระจายทั่วท้องฟ้า
เรามาทำความรู้จักกับ "ฝนดาวตกเจมินิดส์" กันอีกสักหน่อย
สำหรับ "ฝนดาวตกเจมินิดส์" มีจุดเด่นคือ ความเร็วของดาวตกไม่มากนัก ประกอบกับมีอัตราตกค่อนข้างมากจึงสังเกตได้ง่าย สามารถมองเห็นได้รอบทิศ ถือเป็นโอกาสดีในการติดตามชมฝนดาวตก
ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ มักเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 4-20 ธันวาคมของทุกปี มีศูนย์กลางกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ปีนี้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดในคืนวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ประมาณ 150 ดวงต่อชั่วโมง คืนดังกล่าวกลุ่มดาวคนคู่จะปรากฏขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเวลาประมาณ 20:00 น. สามารถสังเกตได้จนถึงเวลาประมาณ 23:00 น. หลังช่วงเวลาดังกล่าวยังคงสามารถชมฝนดาวตกได้ แต่จะมีแสงจันทร์ข้างแรม 6 ค่ำรบกวน
ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากโลกเคลื่อนที่ตัดผ่านสายธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ที่หลงเหลือทิ้งไว้ขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว แรงดึงดูดของโลกจะดึงฝุ่นและหินเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ เกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟขนาดใหญ่เรียกว่า Fireball