เป้าปีใหม่ - ทำอย่างไรให้ผ่านพ้นเดือนกุมภาพันธ์ | พสุ เดชะรินทร์

เป้าปีใหม่ - ทำอย่างไรให้ผ่านพ้นเดือนกุมภาพันธ์ | พสุ เดชะรินทร์

เมื่อปฎิทินย่างเข้าสู่ปีใหม่ก็มักจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับหลายๆ คนที่จะตั้งเป้าหมาย และทำในสิ่งใหม่ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า New Year Resolution

อย่างไรก็ดี งานวิจัยระบุตรงกันว่าสิ่งที่อยากจะทำในปีใหม่ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า New Year Resolution นั้น ส่วนใหญ่มักจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจ พบว่า 80% ของคนส่วนมากจะเลิกในสิ่งที่ได้ตั้งใจไว้ ภายในเดือนกุมภาพันธ์

คำถามคือ ทำไมในเมื่อตั้งเป้าหมาย มีความหวัง ความฝัน ตั้งใจและตั้งมั่นที่จะทำสิ่งใหม่ๆ สิ่งที่ดีตอนสิ้นปี ส่วนใหญ่แล้วถึงมักจะไม่ค่อยสำเร็จตามที่หวัง?

ถ้ามองในมุมของการบริหาร สิ่งที่เรียกว่า New Year Resolution นั้นก็เปรียบเสมือนการบริหารการเปลี่ยนแปลง เพราะสิ่งดีๆ ใหม่ๆ ที่ตั้งใจไว้นั้น ยากที่จะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง และการเปลี่ยนแปลงที่ยากที่สุดคือการเปลี่ยนตนเอง 

เป้าปีใหม่ - ทำอย่างไรให้ผ่านพ้นเดือนกุมภาพันธ์ | พสุ เดชะรินทร์

  • มีคำแนะนำที่รวบรวมจากผู้เชี่ยวชาญว่าจะทำให้ความหวัง ความตั้งใจในปีใหม่นั้นประสบความสำเร็จได้ด้วยแนวทาง 5 ประการด้วยกัน

ประการแรก

ควรจะเริ่มจากการถามตนเองก่อนว่า เป้าหมายและสิ่งที่จะทำนั้น จะทำไปเพื่ออะไร? ไม่ใช่ว่าเห็นคนอื่นทำก็ทำตาม จะเริ่มเปลี่ยนแปลงนั้นก็ควรจะต้องเริ่มจากรู้จักตั้งคำถามให้กับตนเองก่อนว่า “ทำไปทำไม?” 

นอกจากนี้ยังมีคำถามอื่นๆ อีกที่สามารถถามตนเองได้ก่อนที่จะตั้งเป้าหมายของปีใหม่ อาทิเช่น “จะใช้เวลาที่มีอยู่ทำอะไรดี?” หรือ “อะไรคือกิจกรรมที่ทำน้อยแล้วได้มาก? (ตามหลัก 80/20)” หรือ “อะไรคือสิ่งที่ควรจะลด ละ เลิก ในปีใหม่นี้?” หรือ “อะไรคือสิ่งที่คาดหวังเกี่ยวกับอนาคตของตนเอง และควรจะต้องทำอะไรในระยะสั้นเพื่อไปถึงภาพดังกล่าว?”

การเริ่มต้นปีใหม่จากการตั้งคำถามตนเอง จะเป็นการเริ่มต้นกระบวนการคิดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าปีใหม่นี้ ควรจะต้องทำอะไรใหม่ และเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับตนเองจริงๆ ไม่ใช่เห็นผู้อื่นทำ ก็เลยทำตาม

เป้าปีใหม่ - ทำอย่างไรให้ผ่านพ้นเดือนกุมภาพันธ์ | พสุ เดชะรินทร์

ประการที่สอง

อย่าตั้งเป้าในปีใหม่ที่สูงและท้าทายเกินไป อย่าลืมว่าเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายนั้น จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

ดังนั้น ยิ่งเป้าท้าทายมาก การเปลี่ยนแปลงก็อาจจะต้องมากไปด้วย เป้าสำหรับปีใหม่ควรจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และเป็นเป้าที่นำไปสู่การค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

ประการที่สาม

เป้าและสิ่งที่จะทำ ควรจะต้องสร้างความตื่นเต้น สนุกสนาน หรือ ถ้าทำสำเร็จแล้ว จะเห็นถึงประโยชน์หรือผลกระทบที่ชัดเจน ความยากคือการทำสิ่งที่ดีแต่ไม่ชอบให้น่าสนุก เนื่องจากปัญหาโลกแตกในชีวิตทั่วไปคือ สิ่งที่ไม่ดีนั้นทำง่ายและน่าทำกว่าสิ่งที่ดี 

เช่น ถ้าต้องเลือกระหว่างผักกับขนม ก็จะเลือกขนมทั้งๆ ทราบว่าอะไรคือสิ่งที่ดีกับร่างกาย ดังนั้นถ้าตั้งเป้าที่จะทำสิ่งที่ดี (แต่ไม่อยากทำ) ก็ต้องทำให้เกิดความรู้สึกถึงความสนุกที่จะเกิดขึ้น

ประการที่สี่

เป้าและสิ่งจะทำนั้น ควรจะอยู่บนพื้นฐานในสิ่งที่สามารถทำได้ หรือมีความถนัด หรือเป็นจุดแข็งของตนเอง เช่น ไม่ใช่คนร้องเพลงเพี้ยนตั้งแต่เกิดจะตั้งเป้าว่าจะร้องเพลงเพราะถึงขั้นไปประกวด

หรือ ถ้าตั้งเป้าในการออกกำลังกาย แต่คนไม่ชอบออกกำลังกายคนเดียว ก็ต้องเลือกออกกำลังกายที่ได้เจอบุคคลอื่น หรือเลือกกีฬาที่เล่นเป็นทีม เป็นต้น ง่ายๆ คือต้องรู้จักตนเอง และรู้จักประมาณตนด้วย

ประการที่ห้า

จะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ และทำให้พฤติกรรมนั้นอยู่ต่อไป จะต้องทำให้พฤติกรรมดังกล่าวเป็นกิจวัตรประจำหรือ (routines) จนกระทั่งทำให้เกิดความคุ้นเคยและเคยชิน ก็จะทำให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็จะคงอยู่ไปเรื่อยๆ

มิฉะนั้นพอเปลี่ยนแปลงได้หน่อยก็จะเลิกไป เหมือนกับออกกำลังกายได้เพียงแค่เดือนมกราคม แต่พอไม่ทำให้เป็นกิจวัตรและความเคยชิน พอเดือนกุมภาพันธ์ ก็จะหายไป

ถ้านำแนวทางต่างๆ ข้างต้นมาปรับใช้ เป้าและสิ่งที่จะทำในปีใหม่นั้น ควรจะอยู่ได้นานกว่าเดือนกุมภาพันธ์และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ต้องการจริงๆ ได้