กมธ.ปภ.ปิดจ็อบ ตรวจสอบเข้ม ความปลอดภัยทางถนน ฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จัดซื้อจัดจ้าง
กมธ.ปภ.สภาฯ ปิดจ็อบ ประชุมนัดสุดท้าย "ยุทธพงศ์" ระบุ 8 สัปดาห์ ติดตามตรวจสอบเข้มข้น คุ้มค่าภาษีประชาชน ทั้งแผนรับมือเทศกาลสงกรานต์ 66 ความปลอดภัยบนถนน ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ภาคเหนือ โครงการจัดซื้อจัดจ้างกระทรวงดีอีเอส
การประชุมคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย(กมธ.ปภ.) สภาผู้แทนราษฎร วันนี้(14มี.ค.66) โดยมีนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ประธาน กมธ.ปภ.ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้สรุปการทำหน้าที่ของ กมธ.เป็นสัปดาห์สุดท้ายว่า ตลอดระยะเวลา 8 สัปดาห์ กมธ.ปภ. เชื่อมั่นว่าได้ทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ การทำงานของหน่วยงานราชที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในทุกๆ มิติ ทั้งการลงพื้นที่ และให้เข้ามาชี้แจง ตอบข้อซักถาม กมธ.
โดยเฉพาะการติดตามความคืบหน้าเรื่องความปลอดภัยทางถนน การเตรียมความพร้อมในเรื่องมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วันอันตราย ปี 2566 นี้ จากหน่วยงานที่เกี่่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจทางหลวง ตำรวจปราบปรามยาเสพติด กรมทางหลวง ฝ่ายความมั่นคง เข้าชี้แจงต่อคณะ กมธ.ปภ. เรื่องความพร้อมและมาตรการที่เตรียมไว้ ประกอบด้วย
1.ประสานงานร่วมกันเพื่อลดการก่อสร้าง การซ่อมบำรุง ในเส้นทางสายมิตรภาพ เพื่อให้ลดความหนาแน่น และการระบายรถรวดเร็วยิ่งขึ้นในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์
2.เตรียมความพร้อมเปิดช่องทางพิเศษ โดยทำการประสานร่วมกับกรมทางหลวง ในช่วงก่อน 7 วันเทศกาลและในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์
3.กำหนดห้ามรถบรรทุก รถขนส่งขนาดใหญ่ เดินทางในช่วงเวลาที่การจราจรหนาแน่น และให้มีการลงทะเบียนแจ้งการเดินทางล่วงหน้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อวางแผนการเดินทางและหลีกเลี่ยงเส้นทางที่หนาแน่น เพื่อให้การจราจรเดินทางสะดวกขึ้น
ทั้งนี้ กมธ.ปภ.ยังมีความห่วงใยเรื่องการตั้งด่านตรวจจับยาเสพติดและด่านตรวจจับ เพราะที่ผ่านมามีข้อร้องเรียนจากประชาชนภาคอีสานโดยเฉพาะด่าน อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นด่านถาวร มีการตรวจค้นยาเสพติดกับรถที่เดินทางผ่านไปมา เป็นเหตุให้การจราจรติดขัดเลยมาและพบว่ามีการเรียกรับเงิน ดังนั้น กมธ.จึงมีข้อเสนอต่อหน่วยงาน ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้ชัดเจนโดยวางแผนการดำเนินการตั้งแต่วันนี้ ใช้สายข่าวและประสานงานร่วมกัน ตรวจจับรถต้องสงสัยเพื่อให้เกิดการล็อกเป้าหมายผู้ค้ายาที่แม่นยำ ไม่ใช่การตั้งด่านสุ่มตรวจรถที่เดินทาง จนทำให้ประชาชนเดือดร้อนอย่างที่เป็นอยู่
“การวางแผนบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชนในช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ ถือเป็นหน้าที่ของ กมธ.ปภ. เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องเตรียมการล่วงหน้า และต้องโปร่งใส ไม่ใช่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางของพี่น้องประชาชน” นายยุทธพงศ์กล่าวและว่า
ก่อนหน้านี้ กมธ.ปภ.ได้ไปติดตามการบริหารจัดการแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือ ณ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า ภาคเหนือ) จ.เชียงใหม่ โดยเน้นย้ำ การบูรณาการการเฝ้าระวังร่วมกันอย่างเข้มข้นของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีและอากาศยานมาช่วยเสริมภารกิจดับไฟป่า ทำให้สามารถปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการเตรียมความพร้อมทั้งในด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ และกำลังพลเพื่อเข้าควบคุมและดับไฟป่าได้อย่างทันท่วงที พร้อมขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ให้ร่วมกันหยุดการเผาเพื่อลดผลกระทบทั้งต่อสุขภาพอนามัย และผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่เอง
นายยุทธพงศ์ ระบุด้วยว่า ในการทำงานของ กมธ.ปภ.ยังได้พิจารณา การตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการจัดซื้อจัดจ้างของกรมอุตุนิยมวิทยา และการบริหารงานบุคคลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยตั้งข้อสังเกตหลายเรื่อง เช่น การทำงานที่ผิดพลาดและคลาดเคลื่อนในการพยากรณ์อากาศ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเบื้องต้น หรือการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรที่ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ ให้เหมาะสมกับตำแหน่งและหน้าที่ ทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานมีปัญหา
อีกทั้ง โครงการจัดซื้อจัดจ้างของกรมอุตุนิยมวิทยา มีโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ งบลงทุน ซึ่งเป็นงบผูกพัน ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด 2 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจวัดข้อมูลอุตุนิยมวิทยาระดับอำเภอให้เป็นระบบอัตโนมัติ งบประมาณ 615 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงระบบตรวจวัดน้ำอัตโนมัติเพื่อการพยากรณ์อุทกและเตือนภัย งบประมาณกว่า 110 ล้านบาท เป็นโครงการของปีงบประมาณ พ.ศ.2565
แม้ทางกรมอุตุนิยมวิทยาได้ติดตามและเร่งรัด การดำเนินโครงการดังกล่าวมาตลอด แต่ยังคงมีความล่าช้าของโครงการ เป็นเหตุอันเชื่อได้ว่า เกิดจากการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทางกระทรวงจึงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อทราบถึงปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งเร่งรัดให้โครงการดำเนินไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ