'สิทธิบัตรทอง' ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กทม. ส่งยาถึงบ้านฟรี ผ่าน 4 แอปฯ

'สิทธิบัตรทอง' ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กทม. ส่งยาถึงบ้านฟรี ผ่าน 4 แอปฯ

ผู้ป่วยโควิด-19 "สิทธิบัตรทอง" สามารถพบแพทย์ผ่านระบบ Telemedicine ส่งยาฟรีถึงบ้าน ผ่าน 4 แอปพลิเคชัน เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังจากเทศกาลสงกรานต์ พบว่ามีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมระบบการรักษาพยาบาลไว้รองรับผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นยา เวชภัณฑ์ รวมถึงเตียงรองรับไว้อย่างเพียงพอ โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกับ 4 ผู้ให้บริการด้านสุขภาพดิจิทัล ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผ่านบริการการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) พร้อมบริการจัดส่งยาถึงบ้าน เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไว้ให้บริการผู้ป่วย ดังนี้

เมื่อตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด พบติดเชื้อโควิด-19  ให้ดำเนินการดังนี้

1.สามารถเลือกลงทะเบียน เพื่อพบแพทย์ผ่านออนไลน์ ซักถามและจ่ายยาตามอาการ (หากเข้าเกณฑ์ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือยาโมลนูพิราเวียร์ตามดุลยพินิจของแพทย์) พร้อมจัดส่งถึงบ้าน ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือเลือกบริการทางแอปพลิเคชันอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้ 

  • แอป Totale Telemed (โททอลเล่ เทเลเมด) โดย บริษัท โททอลเล่เทเลเมด รับผู้ป่วยโควิด-19 ทุกประเภท เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี, ผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน, โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน และหญิงตั้งครรภ์) สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @totale หรือสายด่วน 0620462944, 0618019577
  • แอปพลิเคชัน MorDee (หมอดี) ให้บริการโดย บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด รับผู้ป่วยโควิด-19 เฉพาะกลุ่มสีเขียว (ไม่รับกลุ่ม 608)  สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @mordeeapp
  • แอปพลิเคชัน Clicknic (คลิกนิก) ให้บริการโดย บริษัท คลิกนิก เฮลท์ จำกัด รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว (ไม่รับกลุ่ม 608) สอบถามเพิ่มเติม Line ID : @clicknic
  • แอปพลิเคชัน Saluber MD (ซาลูเบอร์ เอ็ม ดี) โดยสุขสบายคลินิกเวชกรรม) รับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว (ไม่รับกลุ่ม 608) สอบถามเพิ่มเติม Add Line  : @SOOKSABAICLINIC หรือ โทรติดต่อ สุขสบายคลินิกเวชกรรม 02-065-3344 หรือ 095-575-5901

2. รอเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อยืนยันตัวตนเข้ารับบริการ คัดกรอง ประเมินอาการเบื้องต้น และปรึกษาแพทย์ออนไลน์ ให้คำแนะนำการดูแลตัวเอง

3. จัดส่งยาตามความจำเป็นให้กับผู้ป่วย โดยบางรายอาจได้รับยาฟาวิพิราเวียร์หรือยาโมลนูพิราเวียร์ขึ้นอยู่กับอาการและดุลยพินิจของแพทย์

4. เมื่อรับการดูแลครบ 48 ชั่วโมงแล้ว เจ้าหน้าที่จะพูดคุยกับผู้ป่วยอีกครั้งเพื่อสอบถามอาการ และแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเองให้ครบ 7+3 วันตามแนวทางกระทรวงสาธารณสุข เมื่อผู้ป่วยดีขึ้นแล้วก็จะออกจากระบบการดูแลได้  หากในระหว่างนี้ผู้ติดเชื้อมีอาการเพิ่มมากขึ้นก็จะส่งข้อมูลต่อให้กับ สปสช.เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป

 

สำหรับ กรณีคนพิการ รับดูแลคนพิการที่สามารถใช้การสื่อสารทางออนไลน์ได้ และไม่มีอัตราเสี่ยงต่อตัวผู้ป่วยเอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

“จากรายงานผู้ป่วยโควิดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลระยะนี้ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง เนื่องจากได้รับวัคซีนหรือเคยติดเชื้อมาแล้ว ทำให้ยังมีภูมิคุ้มกันป้องกันอาการหนัก ขอย้ำให้กลุ่มเสี่ยงเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่สถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็ว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง” นางสาวรัชดา กล่าว