เปิดเวิร์คช็อป “ตำรวจยุคใหม่" ทำสื่อให้โดนใจต้านภัยไซเบอร์
ผบ.ตร.เปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ ตำรวจยุคใหม่ ทำสื่อให้โดนใจ ต้านภัยไซเบอร์ ระดมสมองตำรวจทั่วประเทศต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
วันที่ 19 เมษายน 2566 ที่อาคารศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและสวัสดิการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดมสมองข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ ในการผลิตสื่อสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในหัวข้อ “ตำรวจยุคใหม่ ทำสื่อให้โดนใจ ต้านภัยไซเบอร์”โดยมีตำรวจ 141 นายจากทุกหน่วยมาร่วมประชุม
จากการที่ อาชญากรรมทางเทคโนโลยีเกิดขึ้นจำนวนมาก ตั้งแต่มีนาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน มีการแจ้งความแล้วกว่า 2 แสนคดี เกิดความเสียหายแก่ประชาชนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ผบ.ตร.จึงมีนโยบายให้เร่งเสริมสร้างให้ตระหนักรู้เท่าทันภัยไซเบอร์แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ให้สามารถป้องกันตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อภัยดังกล่าวได้ หรือที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเรียกว่า “วัคซีนไซเบอร์”
พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ ศูนย์ PCT และพล.ต.อ.สมพงษ์ ชิงดวง ในฐานะรอง ผอ.ศูนย์ PCT และหัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เล็งเห็นว่า การสร้างสื่อเพื่อเสริมสร้างการตระหนักรู้ (Awareness) หรือรู้เท่าทันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เกิดความรู้เท่าทันเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล (Digital Literacy) เป็นเรื่องจำเป็น ประกอบกับเทคนิคในการสื่อสารปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ตำรวจจึงต้องทำสื่อให้โดนใจประชาชน เพื่อ จึงได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ครั้งนี้ขึ้น
โดยมีวิทยากรหลากหลายท่านจากวงการโฆษณา มาร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ โดยใช้หัวข้อว่า “ตำรวจยุคใหม่ ทำสื่อให้โดนใจ ต้านภัยไซเบอร์”
นอกจากนี้ การประชุมครั้งนี้จะเพิ่มศักยภาพในการผลิตสื่อของตำรวจแล้ว ยังต้องการระดมสมอง ให้ตำรวจคิดแคมเปญในการสื่อสารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อต้านภัยไชเบอร์ ที่สามารถใช้ได้ทุกช่องทาง (Platform) และให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง (Impact) ก่อให้เกิดความสำเร็จในการรณรงค์ไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ หรือ สร้างวัคซีนไซเบอร์ให้กับประชาชนได้สัมฤทธิ์ผลต่อไป