จะเป็นอย่างไรเมื่อถูกยาพิษ 'ไซยาไนด์' วิธีรับมือหากพลาดสัมผัส
จะเป็นอย่างไรเมื่อถูกยาพิษ 'ไซยาไนด์' วิธีรับมือหากพลาดสัมผัส จากกรณีเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว แอม ภรรยาของตำรวจระดับ รอง ผกก. ในพื้นที่ จ.ราชบุรี พร้อมของกลางขวดไซยาไนด์ คดีวางยาฆ่าเท้าแชร์-ชิงทรัพย์ จุดประเด็นการมีผู้เสียชีวิตในลักษณะใกล้เคียงกันอีก 6-7 ศพ
กรณีเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว แอม ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1285/2566 ลงวันที่ 25 เม.ย. 2566 ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนพร้อมของกลางขวด "ไซยาไนด์" ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่เชื่อได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของ น.ส.ศิริพร หรือก้อย เท้าแชร์ ชาวจังหวัดกาญจนบุรีที่เสียชีวิตโดยแม่และพี่สาวเชื่อว่าเป็นการฆาตกรรมนั้น
การเสียชีวิตของ น.ส.ศิริพร หรือก้อยนั้น ยังจุดประเด็นไปถึงเรื่องการมีผู้เสียชีวิตในลักษณะใกล้เคียงกับก้อย 6-7 ศพ ซึ่งมีอาการอยู่ดีๆหน้ามืด อาเจียนและเสียชีวิตเลย ซึ่งเรื่องนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเร่งตรวจสอบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- อัปเดต จับ 'สาว อ.' เมีย รอง ผกก.ราชบุรี คดีวางยาฆ่าชิงทรัพย์ ลุยสอบ 6 ศพ
- รวบ 'นางสาวแอม' เมีย รอง ผกก.ราชบุรี พร้อมของกลางขวดไซยาไนด์
รู้จักสารพิษ 'ไซยาไนด์' (Cyanide)
ไซยาไนด์ คือ สารเคมีอันตรายที่ออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจเข้าไปยับยั้งการทำงานของเซลล์จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เป็นสารเคมีที่มีพันธะคาร์บอนไนโตรเจน มักนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก สามารถปนเปื้อนได้ทั้งในอากาศ ดิน น้ำ และอาหาร
ไซยาไนด์ สามารถเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยพบในพืชบางชนิด อย่างอัลมอนด์ แอปเปิ้ล และยังเกิดได้จากกระบวนการเผาผลาญภายในร่างกายมนุษย์ อย่างไรก็ตามไซยาไนด์ปริมาณเพียงเล็กน้อยที่พบในพืชและกระบวนการเผาผลาญนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
'ไซยาไนด์' รูปแบบไหนอันตรายต่อชีวิต?
สารเคมีอันตรายชนิดนี้มีรูปแบบที่หลากหลายทั้งในรูปแบบของแข็ง ของเหลว และแก๊ส โดยแต่ละชนิดมีแหล่งที่มาและคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป ดังนี้
- Sodium cyanide (NaCN) เป็นของแข็งสีขาว อาจอยู่ในรูปแบบผลึก แท่ง หรือผง พบได้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ใช้ในการเคลือบเงาหรือเคลือบสีเหล็ก และเป็นส่วนประกอบในยาฆ่าแมลง สามารถเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัสบริเวณปากแผล การสูดดม หากรับประทานอาจเป็นพิษถึงตายได้
- Potassium cyanide (KCN) มีลักษณะเป็นก้อนผลึก หรือผงสีขาว เมื่อเป็นของเหลวจะใสไม่มีสี กลิ่นคล้ายแอลมอนด์ มักนำมาใช้ในการสกัดแร่ อย่างทองหรือเงิน และยังพบได้ในยาฆ่าแมลง เมื่อ Potassium cyanide เจอกับความร้อนจะทำให้เกิดควันพิษ หากได้รับเข้าสู่ร่างกายอาจรบกวนการทำงานของอวัยวะภายในจนเป็นอันตรายถึงชีวิต
- Hydrogen cyanide (HCN) อาจมาในรูปของของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี พบในควันจากท่อไอเสีย ควันบุหรี่ และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อสูดดมอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง รวมทั้งยังอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองตามผิวหนังและดวงตา
- Cyanogen chloride (CNCl) มีลักษณะเป็นของเหลว หรือแก๊สที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน และเป็นพิษอย่างรุนแรงเมื่อเผาไหม้ อาจทำให้ระคายเคืองเมื่อสูดดม
ไซยาไนด์ อาจทำให้เกิดอาการ
ไซยาไนด์ สามารเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี ในเบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการ เช่น
- ระคายเคืองบริเวณที่สัมผัสอย่างผิวหนังหรือดวงตา
- ร่างกายอ่อนแรง
- เวียนศีรษะ
- คลื่นไส้
- หายใจติดขัด
- หมดสติ
- หัวใจหยุดเต้น เป็นต้น
โดยความรุนแรงของอาการนั้นอาจขึ้นอยู่กับชนิดของไซยาไนด์ ปริมาณ และระยะเวลาในการได้รับ
ผลกระทบจากการได้รับไซยาไนด์อาจแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้
1. ภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์แบบเฉียบพลัน เป็นอาการที่พบได้ยาก เกิดขึ้นในทันที อาจทำให้เกิดอาการ เช่น หายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ ภาวะหัวใจหยุดเต้น สมองบวม ชัก และหมดสติ เป็นต้น
2. ภาวะเป็นพิษจากไซยาไนด์แบบเรื้อรัง เกิดจากการได้รับไซยาไนด์ปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ในเบื้องต้นอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่นแดง และอาจมีอาการอื่นๆเกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า เป็นต้น
นอกจากนี้ หากไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน อาจทำให้หัวใจเต้นช้าหรือเต้นผิดปกติ ผิวหนังบริเวณใบหน้าและแขนขากลายเป็นสีม่วง โคม่า และเสียชีวิตในที่สุด
วิธีรับมือหากพลาดสัมผัสไซยาไนด์
ไซยาไนด์เป็นสารเคมีอันตราย หากสัมผัสกับสารชนิดนี้ควรรีบลดปริมาณสารดังกล่าวให้ได้มากที่สุด ซึ่งอาจทำได้ ดังนี้
- การสัมผัสไซยาไนด์ทางผิวหนัง
- ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออกด้วยการใช้กรรไกรตัดเสื้อผ้าออกเป็นชิ้นๆและนำออกจากลำตัว โดยวิธีนี้จะช่วยให้เสื้อผ้าที่ปนเปื้อนไม่ไปสัมผัสกับผิวหนังส่วนอื่น เช่น ศีรษะ
- ไม่ควรให้ผู้อื่นสัมผัสร่างกายหรือเสื้อผ้าโดยตรงเพราะอาจได้รับพิษไปด้วย
- ทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด ก่อนรีบนำส่งโรงพยาบาล
- การสูดดมและรับประทานไซยาไนด์
- หากสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อนควรออกจากพื้นที่บริเวณนั้น
- หากไม่สามารถออกจากสถานที่ได้ควรก้มต่ำลงบนพื้น
- ในกรณีที่ผู้ป่วยหายใจลำบากหรือหยุดหายใจ ต้องทำ CPR เพื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นและรีบนำตัวส่งโรงพยาบาล
- ห้ามใช้วิธีเป่าปากหรือวิธีผายปอดเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับพิษ
- การสัมผัสไซยาไนด์ทางดวงตา
- ควรถอดแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ออก
- ให้ใช้น้ำสะอาดล้างตาต่อเนื่องกันอย่างน้อย 10 นาที และไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจ
ไซยาไนด์ มักใช้กินเพื่อฆ่าตัวตาย จากข่าวที่มีนักโทษพยายามจะระเบิดเรือนจำกลาง จังหวัดขอนแก่นแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกลืนยาพิษ ซึ่งตอนแรกคาดกันว่าเป็นไซยาไนด์ที่มีการซุกซ่อนไว้ หลังจากที่แพทย์ช่วยชีวิตได้ทัน จึงมีการพิสูจน์ปรากฎว่าเป็นเพียงว่านชนิดหนึ่งเท่านั้น เพราะถ้าเป็นไซยาไนด์จริงแม้เพียงเล็กน้อยก็ถึงแก่ชีวิตได้