'พิทักษ์เดช'นำชาวอ.หัวไทรสร้างทำนบชั่วคราวสูบน้ำช่วยเกษตรกรสู้ภัยแล้ง

'พิทักษ์เดช'นำชาวอ.หัวไทรสร้างทำนบชั่วคราวสูบน้ำช่วยเกษตรกรสู้ภัยแล้ง

'พิทักษ์เดช'นำชาวบ้านอ.หัวไทรสร้างทำนบชั่วคราวสูบน้ำช่วยเหลือเกษตรกรประสบภัยแล้ง - เผยเตรียมเสนอทำแก้มลิงแก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน พร้อมยกข้อเสนอของ กกร. ให้รัฐบาลดูแลเกษตรกรให้ผ่านวิกฤตเอลนีโญ่

นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่พร้อมนายประสาน ชูเรืองสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาพังไกร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช นำชาวบ้านสร้างทำนบชั่วคราวในการสูบน้ำให้แก่เกษตรกรผู้ทำนาในพื้นที่อำเภอหัวไทร ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่ประชาชนในอำเภอหัวไทร จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนาข้าว สวนปาล์มน้ำมัน เป็นต้น อีกทั้งนายพิทักษ์เดช ได้ประสานสำนักชลประทานที่ ๑๕ เพื่อขออนุมัติเครื่องสูบน้ำพร้อมเชื้อเพลิง เดินหน้าแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรอำเภอหัวไทรด้วย 

โดยนายพิทักษ์เดช ระบุว่า ขณะนี้ในพื้นที่ของประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง อันเนื่องมาจาก มีปริมาณฝนที่ตกน้อยในหลายพื้นที่และแหล่งน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำอย่างจำกัด รวมทั้ง ปรากฏการณ์ เอลนีโญ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ส่งผลทำให้สภาพอากาศแปรปรวน แหล่งน้ำตามธรรมชาติแห้งขอด รวมทั้ง แมลงศัตรูพืชมีโอกาสทำร้ายพืชผลของเกษตรกรมากขึ้น ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นลูกโซ่ ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่อำเภอหัวไทร จะมีการปลูกข้าว และปลูกปาล์มน้ำมันเป็นจำนวนมาก 
 

ทั้งนี้เมื่อเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ขึ้นมาแล้ว ทำให้ข้าวกล้าเติบโตได้ไม่เต็มที่ ปาล์มน้ำมันก็ไม่ได้น้ำมันตามที่ตลาดต้องการ ทำให้กระทบกับรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งในวันนี้ ตนจึงได้ประสานกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นแล้ว และตนได้มีแนวคิดที่จะทำแก้มลิง ในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ อ.หัวไทร เพราะจะเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่อย่างยั่งยืน 
 

นายพิทักษ์เดช กล่าวด้วยว่า ส่วนการแก้ปัญหาปรากฏการณ์เอลนีโญ่ ที่เกี่ยวกับปากท้องของประชาชน ในขณะนี้ ตนมองว่า การที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ตั้งวอร์รูมฝ่าวิกฤติเอลนีโญ-ภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นในเวลานี้นั้น ถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะขณะนี้ราคาข้าวพุ่งสูง ส่งผลกระทบต่อประชาชนในการซื้อข้าวสาร 

ดังนั้น การจัดการให้อยู่ในจุดสมดุลถือเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ รวมทั้ง จะต้องคำนึงถึงข้อเสนอของ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่เสนอให้ภาครัฐดูแลต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตสินค้าตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ปุ๋ย และอาหารสัตว์ รวมถึง ต้นทุนด้านอื่นๆ ให้กับผู้ประกอบการทางด้านเกษตรด้วย