บก.ปคบ.ตรวจยึดปุ๋ยปลอม 365 ตัน มูลค่านับ 10 ล้านบาท
“บก.ปคบ.” ผนึก “ก.เกษตรฯ” เปิดปฏิบัติทลายแหล่งผลิต “ปุ๋ยปลอม” ที่บางปะอิน อยุธยา ตรวจยึด 365 ตัน มูลค่าความเสียหายนับ 10 ล้านบ. เผยระบาดหนัก เหตุปุ๋ยแพง
พ.ต.ท.พงษ์พนา กรีฑา สว.กก.2 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 ต.ค.66 ได้นำเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการที่ 4 กก.2 บก.ปคบ. พร้อมกำลัง ชป.4 กก.2 บก.ปคบ. ร่วมกับ พนักงานเจ้าหน้าที่กลุ่มสารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร นำโดย นายธรรมรัตน์ ทองมี ผู้อำนวยการกลุ่มสารวัตรเกษตร พนักงานเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร กรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ตรวจสอบแหล่งที่ต้องสงสัยผลิตปุ๋ยปลอมตามที่ กก.2 บก.ปคบ.ได้สืบทราบมา ที่บริษัท ฟลอราเทค จำกัด เลขที่ 32 โกดังหมายเลข 10 ม.12 ถ.บางปะอิน-บางไทร ต.บางกระสั้น อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา
พ.ต.ท.พงษ์พนา เปิดเผยต่อว่า จากการขยายผลกรณีที่ได้รับแจ้งว่า มีปุ๋ยปลอมขายตามร้านค้าเกษตรกรทางภาคตะวันออก ทางภาคใต้ และโฆษณาขายตามเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นความผิดฐานลักลอบจำหน่าย ผลิต ปุ๋ยเคมี ตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 และแก้ไขเพิ่มเติม จึงได้สืบสวนหาข่าวก่อนเข้าตรวจสอบ ที่บริษัทฟลอราเทค จำกัด พบ นายหนึ่ง (นามสมมุติ) แสดงตนเป็นผู้จัดการบริษัทฯ ก่อนนำเจ้าหน้าที่ตรวจค้นพบของกลางที่เข้าข่ายเป็นปุ๋ยปลอม 7,300 กระสอบ น้ำหนักรวม 3.65 แสนกิโลกรัม (กก.) หรือ 365 ตัน มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท
พ.ต.ท.พงษ์พนา กล่าวต่อว่า ของกลางที่ตรวจพบ ประกอบด้วย 1.ผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยเคมี เอ็น พี ซี 16-16-16 ตรา ม้ายูนิคอร์น ข้างกระสอบมีเลขทะเบียนปุ๋ยเคมีเลขที่ 1305/2563 กระสอบสี ขาว-เขียว น้ำหนักสุทธิ 50 กิโลกรัม จำนวน 2,502 กระสอบ ปริมาณรวม 125,100 กก., 2. ผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยเคมี เอ็น พี ซี 12-12-17 ตรา ม้ายูนิคอร์น ข้างกระสอบมีเลขทะเบียนปุ๋ยเคมีเลขที่ 2733/2563
กระสอบสี ขาว-ส้ม จำนวน 1,319 กระสอบ ปริมาณรวม 65,950 กก., 3.ผลิตภัณฑ์ ปุ๋ยเคมี เอ็น พี ซี 8-24-24 ตรา ม้ายูนิคอร์น ข้างกระสอบมีเลขทะเบียนปุ๋ยเคมีเลขที่ 763/2563 กระสอบสี ขาว-แดง จำนวน 3,479 กระสอบ ปริมาณ 173,950 กก. นอกจากนี้ยังพบกระสอบเปล่าที่เตรียมใช้บรรจุปุ๋ยอีก 5,010 กระสอบ
พ.ต.ท.พงษ์พนา กล่าวด้วยว่า เนื่องจากผลิตภัณฑ์ปุ๋ยปลอมดังกล่าวที่ตรวจพบต้องสงสัยว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ศ.2518 และแก้ไขเพิ่มเติม พนักงานเจ้าหน้าที่สารวัตรเกษตร จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ตรวจพบเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ที่ กองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
โดยเจ้าพนักงานจะได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิด และผู้กระทำผิดอื่นที่สอบสวนถึง จนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามกฎหมายต่อไป สำหรับฐานความผิดห้ามมิให้ผู้ใดผลิต เพื่อการค้า ขาย หรือนำเข้าปุ๋ยปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี และปรับตั้งแต่ 1.2-4 แสนบาท ตามพระราชบัญญัติปุ๋ย มาตรา 30 (1) และมาตรา 63
“ปัจจุบัน ปุ๋ยมีราคาแพง พร้อมกลับเกษตรกรชาวไร่ ชาวสวนก็ต้องการปุ๋ยเพื่อใช้ในการทำสวน ทำไร่ และต้องได้รับปุ๋ยที่มีคุณภาพ ดังนั้นจึงอยากให้ชาวเกษตรกรชื้อปุ๋ยที่มีคุณภาพ และมาตรฐานจากกรมวิชาการเกษตร โดยการสังเกตดูเลขทะเบียนที่ติดอยู่กับกระสอบปุ๋ยว่า ถูกต้องตามที่กรมวิชาการเกษตรออกให้หรือไม่ หากเกษตรพบเห็นปุ๋ยปลอมสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วนคุ้มครองผู้บริโภค 1135” พ.ต.ท.พงษ์พนา ระบุ