คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ชี้คนดูข่าวลดลง เหตุAI ทำคนสับสน
คณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อห่วงปัญหาจริยธรรมสื่อ -ตรวจสอบกันเองยังล่าช้า พบปัจจัยแทรกซ้อน คนดูข่าวลดลง เหตุเทคโนโลยีAI ทำสับสนเรื่องไหนจริง-ไม่จริง
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดเผยหลังการประชุมคณะทำงาน ว่าที่ประชุมคณะทำงานฯ รับทราบการสรุปงานที่ทำร่วมกับคณะกรรมการจริยธรรม สภาการสื่อมวลชนฯ ในหลาย ๆ ประเด็น โดยปีที่ผ่านมาปัญหาจริยธรรมสื่อยังมีหลายเรื่องน่ากังวล การแก้ปัญหายังล่าช้าในกลไกการกำกับดูแลกันเอง ยังมีปัจจัยใหม่ ๆ ที่จะมาทําให้จริยธรรมสื่อมีข้อท้าทายมากยิ่งขึ้น ทั้งการแข่งขันกันสูงในยุคที่คนนิยมดูข่าวน้อยลง และยังเป็นข้อท้าทายเรื่องความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยี AI ที่เข้ามาด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่สื่อเองต้องปรับตัว และสังคมก็ต้องร่วมกันช่วยสื่อด้วย โดยเฉพาะการช่วยสนับสนุนสื่อที่ทำงานอย่างมีคุณภาพ สนับสนุนข้อเท็จจริง เพราะแนวโน้มทิศทางทั่วโลกคนจะเสพข่าวที่เป็นข่าวจริงจังน้อยลงเรื่อย ๆ ซึ่งจะทําให้อนาคตของวารสารศาสตร์ค่อนข้างมืดมน จริยธรรมสื่อเองก็ลําบากไปด้วย เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากโดยเฉพาะในยุคที่มีอินฟลูเซอร์ ยุคที่ทุกคนต่างเป็นสื่อได้
น.ส.สุภิญญา กล่าวอีกว่า ต้นปีหน้าคณะทำงานฯ จะจัดมีเดียฟอรั่มเรื่อง “อนาคตข่าวในยุคที่คนหลีกเลี่ยงข่าว อะไรคือทางออก” นอกจากนี้จะร่วมมือกับเครือข่าย จัดเวิร์คชอปให้สมาชิกของสภาการสื่อมวลชนฯ มีทักษะเพื่อคัดกรองข้อมูลในยุค Generative AI โดยเฉพาะภาพ ที่ตอนนี้ทำให้สับสนได้ว่าเป็นภาพจริงหรือตัดต่อจาก AI โดยการจัดเวิร์คชอปจะร่วมกับภาคีต่าง ๆ เช่น Cofact สํานักข่าวเอเอฟพี และ Google News Initiative เพื่อที่จะให้กองบรรณาธิการข่าวและนักข่าวมีทักษะเบื้องต้นในการที่จะใช้เครื่องมือหรือเทคนิคที่จะตรวจสอบข้อมูล เป็นการกลั่นกรองให้ข้อมูลนั้นมีความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภค รวมทั้งจะร่วมกับภาคีจัดวงเสวนาพูดคุยในการรับมือกับยุค AI เพื่อให้แยกแยะได้ว่าอะไรจริงหรือไม่จริง เพราะปีต่อ ๆ ไปจะเป็นประเด็นร่วมสมัยและท้าทายการทํางานของสื่อมากขึ้นทั้งเรื่องของข้อเท็จจริงและจริยธรรม
ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาเดิม ๆ ที่ยังคงเกิดขึ้น เช่น จริยธรรมของสื่อ ข้อกล่าวหาเรื่องการรับเงินจากแหล่งข่าว การละเมิดจริยธรรมขั้นพื้นฐานยังมีอยู่ อันนี้ก็เป็นปัญหาภายในขององค์กรวิชาชีพจะต้องยกเครื่องการทํางาน เช่น กระบวนการรับเรื่องร้องเรียน การให้คําตอบกับผู้ร้องเรียนให้มีความเป็นจริงมากขึ้น การกํากับดูแลกันเองอาจจะต้องทําให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อให้สังคมเห็นว่าเราเองก็มุ่งมั่นทําหน้าที่ตรงนี้ และควรทํางานร่วมกับองค์กรผู้บริโภคเพื่อช่วยกันรายงานการร้องเรียนเชิงรุก และช่วยกันแก้ปัญหาภาพรวมต่อไป.