เช็คอิน เขาชนไก่ 'นรด.' เปิดค่าย ให้ผู้ปกครองเยี่ยมบุตรหลาน ชมการฝึก
นรด. เปิดค่ายฝึกเขาชนไก่ให้ผู้ปกครองได้เช็คอิน เยี่ยมลูก ชมการฝึก สร้างความมั่นใจในการฝึกภาคสนามอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์
หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน โดย ศูนย์การนักศึกษาวิชาทหาร จัดกิจกรรม Open House ตอน Check In เขาชนไก่ เปิดค่ายฝึกนักศึกษาวิชาทหารเขาชนไก่ อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ให้พ่อแม่ผู้ปกครองของนักศึกษา วิชาทหาร ที่เข้ารับการฝึกภาคสนาม ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๖ ได้เข้าชมการฝึกของบุตรหลาน ชมการจัดแสดงสิ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึก
พร้อมสาธิตการปฏิบัติ ตามมาตรการด้านความปลอดภัย ๕ ประการ และเยี่ยมชมสิ่งอำนวยความสะดวกภายในค่าย เพื่อยืนยันในหลักความปลอดภัยและการฝึกเชิงสร้างสรรค์โดยมีพลโท ทวีพูล ริมสาคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน และ พลตรี จิรันต์กฤษณ์ เหลืองจินดา ผู้บัญชาการศูนย์การนักศึกษาวิชาทหารร่วมต้อนรับคณะผู้ปกครองกิจกรรม Open House ตอน Check In เขาชนไก่ เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ ให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เข้าไป เช็คอิน และเยี่ยมชมการฝึกภาคสนามของบุตรหลาน ณ ค่ายฝึกนักศึกษาวิชาทหารเขาชนไก่
รวมทั้งรับฟังบรรยายสรุป เกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยในด้านต่างๆ เพื่อให้คลายความวิตกกังวล และสร้างความมั่นใจ ในเรื่องของการฝึกอย่างสร้างสรรค์ สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริง โดยในปีนี้ มีผู้ปกครอง จำนวน ๓๗๑ คน จากโรงเรียนต่างๆ อาทิ
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
- โรงเรียนสตรีวิทยา ๒
- โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า
- โรงเรียนนวมินทราชินูทิศเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ
ซึ่งได้เดินทางมาให้กำลังใจบุตรหลาน โดยแยกคณะไปชมการฝึกตามชั้นปีและผลัดฝึกของเด็กๆ
การฝึกภาคสนามที่เปิดให้เข้าชมในวันนี้ (๒๗ ม.ค. ๖๗) เป็นการฝึกของ นศท. ชั้นปีที่ ๒ และชั้นปีที่ ๓ ซึ่งทำการฝึกในสถานีต่างๆ ดังนี้
ชั้นปีที่ ๒ สถานีทดสอบกำลังใจ กระโดดหอสูง ๓๔ ฟุต, ข้ามเครื่องกีดขวาง ๑๐ สถานีและไต่เชือกข้ามลำน้ำ,
สถานียุทธวิธี ฝึกรูปขบวนหมู่ปืนเล็ก การเคลื่อนที่ในสนามรบ การพราง การซ่อนพราง และป้อมสนาม ซึ่งเป็นสถานีที่ น้องๆ จะได้พิสูจน์ความกล้า ได้เอาชนะความกลัวในใจ ได้ฝึกความเป็นผู้นำ และฝึกการทำงานเป็นทีม
ชั้นปีที่ ๓ สถานีศึกษาศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา เขาชนไก่”, สถานีสร้างการรับรู้ โดยฝึกการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) การใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ (AED) และการปฐมพยาบาลเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ สถานีการดำรงชีพในป่า และสถานีเคมี ชีวะ รังสี นิวเคลียร์ซึ่งเมื่อผ่านการฝึกจากสถานีเหล่านี้ น้องๆ นศท. จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในชีวิตประจำวัน และมีความมั่นใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นเมื่อประสบเหตุได้
ทั้งนี้หลังเยี่ยมชมการฝึก ผู้ปกครองจะได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน และทำกิจกรรมกับบุตรหลานที่แต่ละ
ท่านมาเยี่ยมให้กำลังใจ
มาตรการด้านความปลอดภัย ๕ ประการ ณ ค่ายฝึกเขาชนไก่
มาตรการด้านที่ ๑ ความปลอดภัยในการเคลื่อนย้าย : จัดรถโดยสารรับ-ส่ง นศท. กว่า ๑,๙๐๐ เที่ยว โดยมีมาตรการกำกับดูแลความพร้อมของพลขับรถ และตรวจสอบสภาพรถก่อนออกเดินทาง และมีนายทหารกำกับดูแลการเดินทางในแต่ละรอบ
มาตรการด้านที่ ๒ การให้บริการทางการแพทย์ : จัดทำบัตรข้อมูลประจำตัว นศท. ให้พกไว้ที่กระเป๋าเสื้อด้านขวา (ชื่อ-สกุล อายุ หมู่เลือด โรคประจำตัว ยาที่แพ้หมายเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรผู้ปกครอง และเพื่อนสนิท), จัดเสนารักษ์ประจำทุกกองร้อย พร้อมยาและเวชภัณฑ์, ติดโบแดงที่แขนเสื้อขวา เพื่อให้ครูฝึกเฝ้าระวัง, ให้ความรู้เรื่องโรคลมร้อน อบรมครูฝึกให้มีทักษะพื้นฐาน ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคลมร้อน และจัดการอบรม ให้ นศท. รู้วิธีป้องกันตนเอง วิธีการสังเกตอาการ และวิธีการปฏิบัติเมื่อตนเองหรือเพื่อนมีอาการของโรคลมร้อน, เน้นย้ำให้ นศท.ทุกนายสังเกตสีปัสสาวะของตนเอง
รวมทั้ง กวดขันให้เติมน้ำให้เต็มกระติก และดื่มน้ำทุก ๑ ชั่วโมง เพื่อช่วยระบายความร้อน, ติดตั้ง เครื่องวัดอุณหภูมิ วัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ และธงสัญญาณในพื้นที่การฝึก, ฝึกอบรมครูฝึก เพื่อให้มีความสามารถทำ CPR ช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน และสามารถใช้เครื่อง AED กระตุกหัวใจอัตโนมัติ หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
มาตรการด้านที่ ๓ ด้านการฝึก : จัดเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบ-ทดสอบความพร้อมของสิ่งอุปกรณ์ก่อนการ
ใช้งานทุกครั้ง โดยเฉพาะที่สถานีทดสอบกำลังใจ, สถานีไต่หน้าผา – ลงทางดิ่ง, สถานีที่มีการใช้สิ่งอุปกรณ์ประเภท กระสุนและวัตถุระเบิด และการฝึกกระโดดร่มแบบพาราเซล, แต่งตั้งนายทหารนิรภัยการฝึก ให้คำแนะนำ ตรวจตรา
และกำกับดูแลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ครูฝึก อย่างเคร่งครัด
มาตรการด้านที่ ๔ ด้านการเสริมสร้างสุขอนามัย : ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในค่ายฝึกให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยึดโยงกับนโยบายของผู้บังคับบัญชาในเรื่องความปลอดภัยและการฝึกเชิงสร้างสรรค์นำไปสู่การพัฒนา อาทิเพิ่มห้องสุขาแบบน็อคดาวน์เป็น ๖๕ ห้อง, ติดเครื่องกรองที่แทงค์น้ำขนาด ๒,๐๐๐ ลิตร ๑๒ จุด (เปลี่ยนทำความสะอาดไส้กรองในทุกๆ ๓ เดือน), เพิ่มเต๊นท์นอน เป็น ๒,๘๐๐ หลัง (สำหรับ นศท.
ชั้นปีที่ ๒ และ ๓), ติดตั้งฝักบัวอาบน้ำ, แจกจ่ายถาดหลุมสำหรับใช้ประจำตัวจนกว่าจะจบการฝึก
มาตรการด้านที่ ๕ ความปลอดภัยในด้านการประกอบอาหาร : สุขอนามัยของแม่ครัวที่มาประกอบอาหาร ใส่ใจความสะอาด สดใหม่ และคุณภาพของวัตถุดิบ รวมถึงความสะอาดของสถานที่ กระบวนการประกอบอาหาร ไป จนถึงภาชนะที่ใช้ และให้ความสำคัญกับเวลาและสถานที่ เพื่อให้นศท.ได้ทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ในสภาวะแวดล้อมที่
เอื้ออำนวยต่อการรับประทานอาหาร มีคณะกรรมการจากฝ่ายการแพทย์ให้คำแนะนำและตรวจสอบการประกอบอาหาร
ในแต่ละวัน