'เอกชน' ร้อง รมว.ศึกษาฯ ระงับประมูลพิมพ์แบบเรียน สกสค. หวั่นล็อกสเปก
“เอกชน” ร้อง รมว.ศึกษาธิการ ระงับประมูลพิมพ์แบบเรียน สกสค.ปี67 หวั่นล็อกสเปก-เอื้อเจ้าเก่า-กีดกันรายอื่น ส่อผิด พ.ร.บ.จัดซื้อฯ-ขัด รธน. “ศรัณย์วุฒิ” โวยหากินกันจนตำราเรียนคุณภาพต่ำ ยัน รมว.ศึกษาธิการ รับทราบแล้ว
วันที่ 28 ก.พ. 2567 ที่กระทรวงศึกษาธิการ นายนัทธพลพงค์ จิวัจฉรานุกูล กรรมการบริหาร บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1997) จำกัด (บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ) ผู้ประกอบกิจการโรงพิมพ์ และรับจ้างพิมพ์หนังสือ ได้เข้ายื่นทำหนังสือถึง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และดำเนินการกับผู้กระทำผิดกรณีการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2567 จำนวน 151 รายการ งบประมาณ 912,599,700 บาท โดยวิธีคัดเลือกของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เนื่องจากเข้าข่ายการจัดซื้อจัดจ้างที่กระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จงใจช่วยเหลือเอื้อประโยชน์บริษัทคู่ค้ารายเก่า และกีดกันบริษัทคู่ค้ารายใหม่ โดยยื่นหนังสือผ่านนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี
นายนัทธพลพงค์ เปิดเผยว่า การจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2567 จำนวน 151 รายการ โดยวิธีคัดเลือก โดยองค์การค้าของ สกสค. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 29 ก.พ. 2567 เข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย และส่อไปในทางทุจริตในหลายประเด็น ตั้งแต่ TOR (ขอบข่ายงาน รายละเอียดและคุณลักษณะ : Term of Reference) ที่ไม่ได้มีการจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี และประกาศเผยแพร่ในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง และของหน่วยงานของรัฐตามวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนด อีกทั้งก็ไม่ได้มีระบุถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะยกเว้นไม่ให้มีการจัดทำแผนการจัดซื้อประจำปี รวมถึงการใช้วิธีการคัดเลือก ซึ่งขัดต่อพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 (พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ)
นายนัทธพลพงค์ กล่าวต่อว่า ใน TOR ยังได้กำหนดการยื่นข้อเสนอว่า ผู้ยื่นต้องยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มตามประเภทของหนังสือแบบเรียนการจัดพิมพ์ จำนวน 30 กลุ่ม โดยผู้ยื่นเสนอจะยื่นได้จำนวน 1 รายการของแต่ละกลุ่มที่กำหนดเท่านั้น ถือเป็นการจำกัดสิทธิของผู้เสนอราคา ทำให้ไม่สามารถยื่นเสนอราคาได้ทุกรายการ ส่งผลให้ สกสค.พิจารณาราคาของผู้ยื่นเสนอได้เพียงน้อยราย เสียประโยชน์ในการพิจารณาราคาต่ำ เกณฑ์ที่ผู้ชนะต้องเป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดด้วย ซึ่งเป็นการกีดกันการประกอบธุรกิจที่อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 40 อีกด้วย และมีเจตนาส่อไปในทางทุจริต รวมทั้งล็อกสเปกผู้ประกอบการ และเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่มเดิมๆ
นายนัทธพลพงค์ เปิดเผยด้วยว่า เมื่อปี 2565 บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ได้เคยยื่นฟ้อง องค์การค้าของ สกสค. ต่อศาลปกครองกลาง กรณีการจัดจ้างพิมพ์ตำราเรียนที่ขัดต่อกฎหมายมาแล้ว โดย ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และวินิจฉัยว่า การกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิยื่นเสนอราคาของ สกสค. เป็นการกำหนดคุณสมบัติเกินไปกว่าหลักความโปร่งใส และหลักการป้องกันมิให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือร่วมกันระหว่างผู้ยื่นข้อเสนอแต่ละราย ตลอดจนอาจมีผลกระทบต่อการเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรมนอกจากนี้ในการส่งมอบงานการจ้างพิมพ์ตำราเรียนปี 2566 ก็มีบางรายการที่ไม่ตรงตามที่กำหนดใน TOR แต่คณะกรรมการตรวจรับการจ้าง กลับตรวจรับงานการจ้าง ทั้งที่เห็นได้โดยแจ้งชัดว่างานที่ส่งมอบผิดสเปก อันเป็นการกระทำที่เข้าข่ายปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ด้วย
นายนัทธพลพงค์ กล่าวอีกว่า เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและกระทรวงศึกษาธิการ บริษัทฯ จึงขอให้ รมว.ศึกษาธิการ ทำการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าว และหากพบว่ามีการกระทำความผิด ก็ขอให้มีคำสั่งการให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่อไป และเนื่องด้วยการจัดให้มีการเสนอราคาตาม TOR ดังกล่าว จะมีขึ้นในวันที่ 29 ก.พ.67 จึงขอให้ รมว.ศึกษาธิการ มีคำสั่งให้ สกสค. ระงับการจัดจ้างตาม TOR ดังกล่าวไว้ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐต่อไป
ด้าน นายศรัณย์วุฒิ กล่าวว่า ตนได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริหารของ บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในกระบวนการยื่นประมูลการพิมพ์แบบเรียนขององค์การค้าของ สกสค. มาตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมองว่า กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างพิมพ์หนังสือเรียนปี 2567 ไม่ชอบด้วยกฎหมายและส่อไปในทางทุจริต ส่วนตัวมองว่า องค์การค้าของ สกสค. ไม่ควรจำกัดการยื่นข้อเสนอของบริษัทเอกชนที่กำหนดว่า ใน 30 กลุ่มๆละ 5 แบบเรียน ที่จะมีเปิดให้เสนอราคา ผู้ยื่นเสนอจะยื่นได้จำนวน 1 รายการของแต่ละกลุ่มเท่านั้น ถือเป็นการจำกัดสิทธิของผู้เสนอราคา ทำให้ไม่สามารถยื่นเสนอราคาได้ทุกรายการ ทำให้องค์การค้าของ สกสค.รวมไปถึงนักเรียนเสียประโยชน์ หาก TOR กำหนดให้ผู้เสนอราคาทุกรายมีโอกาสยื่นเสนอราคาได้ทุกรายการของแต่ละกลุ่มแล้ว ย่อมทำให้องค์การค้าฯ พิจารณาราคาจากผู้เสนอราคาได้มากรายกว่า
“ผมรับไม่ได้กับแก๊งที่หากินในกระทรวงศึกษาธิการจากมูลค่าที่ทำมาหากินในหน่วยงานนี้มีเป็นหมื่นล้านบาท ซึ่งการประมูลพิมพ์แบบเรียนแต่ละครั้ง นักเรียนจะได้หนังสือเรียนที่มีคุณภาพ แต่ไม่เคยคำนึงถึงเรื่องนี้เลย แต่กลับมีการกลั่นแกล้งผู้ประกอบการที่ประกอบการด้วยความบริสุทธิ์ ผมจึงต้องมาแฉขบวนการเหล่านี้ เพื่อให้สังคมรับรู้ และขณะนี้ รมว.ศึกษาธิการ รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว” นายศรัณย์วุฒิ ระบุ
รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้ บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ได้ทำหนังสือขอให้ องค์การค้าของ สกสค. ยกเลิก TOR การจัดจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 ตลอดจนขอให้ สำนักงาน สกสค., สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เข้ามาตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว
อีกทั้ง บจก.รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ได้เคยยื่นฟ้องสำนักงาน สกสค. ต่อศาลปกครองฐานกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรณีการประมูลงานจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ ราคากลาง 974.79 ล้านบาท เป็นคดีหมายเลขดำที่ 2601/2565
และศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2566 ยืนตามศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศของผู้ถูกฟ้องคดี (สกสค.) ที่เรื่อง ประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2566 จำนวน 150 รายการ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ลงวันที่ 14 พ.ย. 2565 เฉพาะในส่วนที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอราคาตามข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 20 รวมทั้งที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในทำนองเดียวกันไว้ใน TOR ซึ่งเป็นเอกสารแนบท้ายประกาศประกวดราคา ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น