ภาคีเครือข่าย-ชาวบ้าน 4 จังหวัดอีสาน เปิดเวทีระดมแก้ปัญหาริมทางรถไฟ
ภาคีเครือข่าย-ชาวบ้าน 4 จังหวัดอีสาน ระดมความเห็น สางปัญหาที่ดินริมรางรถไฟ ชงข้อเสนอเช่าที่ดิน 2 แนวทางช่วยชุมชนมีสัญญาเช่าเดิม-ไม่มีสัญญาเช่าเสนอคณะกรรมการเมืองขอนแก่น ก่อนดันเข้าร.ฟ.ท.เห็นชอบ
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2567 นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาองค์กรชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆนี้ พอช.ได้จัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "กระบวนการแก้ไขปัญหาชุมชนริมรางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" โดยมีพี่น้องประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้ง 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดศรีสะเกษจังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี
นายไชยา พลขาง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง นางณัฐนิชา อรรคฮาดจันทร์ หัวหน้าโครงการฯ นายเอกชัย กสิพัฒนวงค์ หัวหน้าทีมออกแบบและก่อสร้าง ทีมงานผู้ประสานงานชุมชน เจ้าหน้าทึ่สถาปนิก สำนักพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมราง ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน จ.ขอนแก่น รวมทั้งคณะกรรมการเมืองของแก่น เข้าร่วมปรึกษาหารือในแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า ทั้งนี้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนสำหรับชุมชนที่มีการจัดกระบวนการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ Work Shop เป็นการเตรียมความพร้อมในการเสนอขอเช่า
ซึ่งแบ่งกลุ่มออกเป็น 2 ประเภท คือ
กลุ่มที่1 ประเภทชุมชนมีสัญญาเช่าเดิม ได้แก่
1. ชุมชนเทพารักษ์2
2. ชุมชนพัฒนาเทพารักษ์ โซน2 , โซน3
3. ชุมชนรอบเมือง1
ส่วนกลุ่มที่ 2 ประเภทชุมชนที่ยังไม่มีสัญญาเช่า ได้แก่
1. ชุมชนพัฒนาเทพารักษ์(หลังฟาร์ม)
2. ชุมชนเทพารักษ์โซน2
3. ชุมชนโนนหนองวัด
4. ชุมชนดอนรุ่งเรือง
“ที่ประชุมมีการนำเสนอกระบวนการ ถอดบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาของ พอช. ร่วมกับชาวบ้านและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เราแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นจากกลุ่มจังหวัดอื่นๆ ที่ร่วมวงเรียนรู้ในครั้งนี้ด้วย เพื่อนำไปสู่การสรุปข้อมูลนำเสนอผ่านวงคณะกรรมการเมืองขอนแก่น และใช้ข้อมูลในการเสนอขอเช่าที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ต่อไป" นายสยาม กล่าว