'ดีอี' ชงร่างกฎหมายพิเศษคืนเงินผู้เสียหายออนไลน์-เล็งเพิ่มบทลงโทษ

'ดีอี' ชงร่างกฎหมายพิเศษคืนเงินผู้เสียหายออนไลน์-เล็งเพิ่มบทลงโทษ

กระทรวงดีอี ลุยเสนอร่างกฎหมายพิเศษ คืนเงินผู้เสียหาย เพิ่มบทลงโทษโหด ฟาด 'โจรออนไลน์' เตรียมเสนอ ครม.ใน 30 วัน

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทางเทคโนโลยี 7/2567 ซึ่งมีการพิจารณาการแก้กฎหมายเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ รวมทั้งเร่งรัดคืนเงินผู้เสียหาย โดยประเด็นแก้กฎหมายเร่งด่วนสรุปได้ ดังนี้

1.การเร่งรัดคืนเงินให้ผู้เสียหาย โดยเฉพาะกรณีที่มีการระงับหรืออายัดบัญชีม้าที่มีเงินในธนาคาร มีมูลค่าหลายพันล้านบาท แต่ยังไม่สามารถคืนเงินผู้เสียหายได้ เนื่องจากการดำเนินคดียังไม่สิ้นสุด หรือยังติดขัดข้อกฎหมาย กฎระเบียบที่ล้าสมัย 2.การเพิ่มโทษการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล โดยถือว่าการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล เป็นการกระทำที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคมในวงกว้าง จึงต้องมีการกำหนดบทลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องและคนร้ายในอัตราโทษจำคุกเพิ่มขึ้นจาก 1 ปี เป็น 5 ปี 
 

3.การป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้ายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะที่เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการโอนสินทรัพย์ดิจิทัลระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคนร้ายหรือโจรออนไลน์ และ 4.การระงับธุรกรรมต้องสงสัยในส่วนของการใช้ซิม หรือการสื่อสารต้องสงสัยเป็นการชั่วคราว

นอกจากนี้ ยังหารือถึงการแก้กฎหมายที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กระบวนการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับคดีออนไลน์ ที่จำเป็นต้องแก้ไขเร่งด่วน ทั้งนี้ คณะกรรมการมีมติให้คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย รวบรวมประเด็นและจัดทำร่างกฎหมายพิเศษเพื่อเสนอคณะกรรมการ พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรีใน 30 วัน และการป้องกันการโอนเงินแบบผิดกฎหมายของคนร้ายโดยการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะที่เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลในต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย
 

สำหรับมาตรการและผลการดำเนินงานถึง 31 ก.ค.67 ที่ผ่านมา มี 8 เรื่องที่สำคัญ ดังนี้

1.การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ ในเดือนกรกฎาคม (ข้อมูล ตร.)ตั้งแต่ต้นปีถึง 31 ก.ค.67 ตำรวจสามารถจับกุมอาชญากรรมออนไลน์ได้สำคัญ 8 เรื่อง โดยจับกุมผู้ต้องหา 2,306 ราย ในเดือน ก.ค. ลดลง 7.57% เมื่อเทียบกับเฉลี่ยเดือนก่อนหน้า การจับกุมเว็บพนันออนไลน์ 980 ราย ลดลง 7.89% และคดีซิมม้า-บัญชีม้า 208 ราย ลดลง 13.33% 

นอกจากนี้ ยังจับกุมเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ 5 เครือข่าย ยึดทรัพย์ 360 ล้านบาท และเว็บพนันอื่นอีก 2 แห่ง ยึดทรัพย์ 190 ล้านบาท พร้อมทลายขบวนการหลอกลงทุนและขบวนการเปิดบัญชีม้า ยึดทรัพย์รวมกว่า 3,000 ล้านบาท

2.การปิดโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน ปิดโซเชียลมีเดียและเว็บผิดกฎหมาย 16,279 รายการ เพิ่มขึ้น 7.10 เท่า เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 66 ขณะเดียวกัน ปิดเว็บพนัน 6,519 รายการ เพิ่มขึ้นถึง 67.21 เท่า

3.การแก้ปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัด ตัดตอนการโอนเงิน มีการระงับบัญชีม้าแล้วกว่า 920,694 บัญชี โดย ปปง. ระงับ 451,188 บัญชี ธนาคารระงับเอง 300,000 บัญชี และ AOC ระงับ 169,506 บัญชี

4.การแก้ไขปัญหาซิมม้า และซิมที่ผูกกับ Mobile Banking ระงับหมายเลขโทร.ออกเกิน 100 ครั้ง/วันแล้ว 71,122 หมายเลข โดยผู้มายืนยันตัวตนเพียง 418 หมายเลข ส่วนการกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย กสทช. ได้ระงับซิมการ์ดผู้ไม่มายืนยันตัวตนกว่า 2.9 ล้านเลขหมาย จากกลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีการเข้มงวดในการเปิดใช้งานซิมใหม่ตามหลักเกณฑ์การลงทะเบียนและยืนยันตัวตนของ กสทช. เพื่อป้องกันการใช้ซิมในกิจกรรมผิดกฎหมาย

5.การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน กระทรวงดีอีเปิดยุทธการ "ระเบิดสะพานโจร" ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ เพื่อตัดสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตที่แก๊งอาชญากรรมข้ามชาติใช้ในการหลอกลวงประชาชน ปฏิบัติการนี้เริ่มด้วยการกวาดล้างเสาส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตเถื่อน 4 จุดในจังหวัดหนองคาย จับกุมผู้ต้องหาและยึดเครื่องวิทยุคมนาคมเถื่อน 

ต่อมาได้เปิดปฏิบัติการโค่นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ตรวจยึดอุปกรณ์ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink จำนวน 73 เครื่อง ในจังหวัดจันทบุรี 30 เครื่อง กรุงเทพมหานคร 28 เครื่อง และจังหวัดตาก 15 เครื่อง พร้อมยึดซิมการ์ดต่างประเทศ 18,742 ชิ้น นอกจากนี้ ยังตรวจยึดอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและเสาสัญญาณในพื้นที่ชายแดนแม่สอด พบกล่องรับส่งสัญญาณประมาณ 400 ชุด อุปกรณ์เชื่อมสายสัญญาณ 1 ชุด เสาอากาศ 4 ต้น และอุปกรณ์ติดตั้ง 2,500 ชิ้น

6.การเพิ่มบทบาทความรับผิดชอบผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และธนาคาร กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการปรับเป็นพินัย กับผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ ISP ที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย โดยได้แจ้งข้อกล่าวหา ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ ISP จำนวน 4 ราย และได้มีคำสั่งปรับพินัย ผู้ให้บริการโทรคมนาคมหรือ ISP จำนวน 4 ราย

7.การบูรณาการข้อมูล โดยศูนย์ AOC 1441 มีการประชุมหารือการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ศูนย์ AOC 1441 เป็นแพลตฟอร์มรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ thaipoliceonline (ตร.) ข้อมูลเส้นทางการเงิน (สมาคมธนาคารไทย) ข้อมูล HR 03 (ปปง.) ซึ่งจะทำให้ระงับบัญชีที่เกี่ยวข้องและดำเนินการจัดการคดีได้รวมเร็วมากยิ่งขึ้น

8. การสร้างความตระหนักรู้ภัยออนไลน์ ควบคู่กับการปราบปราม เมื่อวันที่ 9 ส.ค.67 กระทรวงดีอี ร่วมมือกับ 10 หน่วยงานพันธมิตร เปิดตัวโครงการ "Digital Vaccine" เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยห่างไกลจากภัยออนไลน์ โดยมี 11 หน่วยงานร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อจัดทำและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ภายใต้โครงการดังกล่าว หน่วยงานที่ร่วมโครงการนี้รวมถึง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เป็นต้น

"การเร่งกวาดล้างบัญชีม้าและซิมม้า พร้อมอายัดบัญชีธนาคารและปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงและเว็บพนันออนไลน์คืบหน้า แต่การจับกุมคนร้ายทั้งในและนอกประเทศยังไม่เป็นที่พอใจ ปัญหาจากข้อกฎหมายและกฎระเบียบในการติดตามเงินและคืนเงินผู้เสียหายยังคงอยู่ คณะกรรมการจึงเร่งรัดจัดทำร่างกฎหมายพิเศษเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 30 วัน" นายประเสริฐ กล่าว